คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ‘Oppenheimer’


สำหรับผู้ชมที่ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ ‘Oppenheimer’ น่าจะได้รู้สึกตื่นตะลึงไปกับภาพเรื่องราวชีวิตของ เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) ผู้ประดิษฐ์คิดค้นระเบิดปรมาณู นอกจากนี้เรายังได้เห็นภาพของแรงระเบิด การเคลื่อนที่ของสสาร ที่ใช้สะท้อนภาพนามธรรมความนึกคิดที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนร้อนรุ่มของนักฟิสิกส์อัจฉริยะ และแรงกดดันหลังสิ้นเสียงระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น ที่ทำให้เขาเริ่มมองตัวเองเป็นผู้หยิบยื่นความตายให้มนุษยชาติ

และถ้ายังจำกันได้ แฟนหนังน่าจะตกใจกับข่าวที่ว่า ผู้กำกับอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ผู้ยึดมั่นใน Practical Effect ได้ออกมาเปิดเผยว่า ฉากการทดลองระเบิดปรมาณู หรือ ‘Trinity Test’ ในหนังจะไม่ใช้ CGI จนมีหลายคนเอาไปล้อว่า งานนี้เสด็จพ่อจะระเบิดนิวเคลียร์จริงเพื่อถ่ายทำหนังไหม ก่อนจะเปิดเผยภายหลังว่า หนังเรื่องนี้ปราศจากการใช้ CGI แบบ 100% ก็ยิ่งสร้างความสงสัยว่า การระเบิดและภาพเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไรกันแน่ ในยุคที่ CGI สามารถเนรมิตทุกอย่างได้ดังใจ

Oppenheimer

ซึ่งเมื่อโนแลนสัญญากับคนดูว่าจะได้พบกับภาพความตื่นตาตื่นใจ และแรงสั่นสะเทือนของเสียงระเบิดด้วยการถ่ายทำในระบบ IMAX ราวกับได้ไปอยู่ในที่จริง ก็เลยเป็นที่มาของการใช้ Practical Effects โดยเหตุผลหนึ่งที่โนแลนต้องถ่ายทำโดยระเบิดจริง ๆ ไม่อิง CGI ก็เพราะเขามองว่า การใช้ระเบิด CGI จะทำให้คนดูรู้สึกปลอดภัยและดูสบายเกินไป เขาไม่ต้องการภาพที่มองแล้วดูสบายตา แต่ต้องทำให้รู้สึกว่ามันอันตราย ไม่ปลอดภัย ถูกคุกคาม แต่ต้องออกมาสวยงาม และมีความน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกัน

นั่นทำให้เหล่าทีมงานก็ต้องทำการบ้านตั้งแต่ก่อนถ่ายทำ โดย แอนดรูว์ แจ็กสัน (Andrew Jackson) หัวหน้าฝ่ายวิชวลเอฟเฟกต์ และ สก็อตต์ ฟิชเชอร์ (Scott Fisher) หัวหน้าฝ่ายเทคนิคพิเศษ ที่ร่วมงานกับโนแลนมาแล้วหลายเรื่อง ต้องค้นหาวิธีการถ่ายทอดภาพจำลองของอนุภาคอะตอม การเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน รวมทั้งภาพจำลองของพลังงาน แรงระเบิด ปฏิกิริยาทางเคมี และภาพจำลองการระเบิดของดาวฤกษ์ ซึ่งเป็นภาพในความคิดของออปเพนไฮเมอร์ตามบทที่โนแลนเขียนบทไว้

Oppenheimer

ทีมงาน VFX ต้องแยกยูนิตจากยูนิตหลักเพื่อถ่ายทำช็อตนี้โดยเฉพาะ โดยทีมงานได้ทดลองวิธีการถ่ายทำหลายวิธี จนค้นพบวิธีการที่ใช่ ทั้งการขว้างลูกปิงปอง การสาดสีใส่กำแพง การผสมสารละลายแมกนีเซียมเรืองแสง และของเหลวต่าง ๆ ด้วยกล้องดิจิทัลและกล้อง iPhone รวมทั้งการปั่นลูกปัดบนเส้นเชือกยาว ๆ เกล็ดอลูมิเนียม เศษไม้ และเทอร์ไมต์ (Thermite) เพื่อจำลองการเผาไหม้ภายใน Cloud Tank (แทงก์สำหรับใช้สร้างภาพ VFX จำลองเมฆในหนังเก่า ๆ ) ส่วนฉากจรวดขีปนาวุธบนเมฆท้ายเรื่อง ก็เป็นการถ่ายทำขึ้นจริง ๆ โดยเป็นการสร้างจรวดขีปนาวุธจำลอง ซ้อนเข้ากับภาพก้อนเมฆที่ถ่ายทำด้วยเฮลิคอปเตอร์

ฮอยต์ ฟาน ฮอยเตมา (Hoyte Van Hoytema) ผู้กำกับภาพคู่บุญของโนแลน ต้องรับหน้าที่ถ่ายทำภาพทั้งหมดนี้ด้วยกล้องฟิล์ม IMAX 65 มม. และเลนส์มุมกว้างพิเศษของ Panavision ด้วยการปรับความเร็วชัตเตอร์และ Frame Rate ที่มีความแตกต่างกันเพื่อให้ได้ภาพอย่างที่ต้องการ ซึ่งฟุตเทจบางช็อตก็สามารถเอาไปใช้ในขั้นตอนตัดต่อได้เลย ส่วนบางช็อตก็มีการนำเอามาปรับปรุง จัดองค์ประกอบ ซ้อนภาพให้ดีขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือเปลี่ยนแปลง Practical Effects ที่ถ่ายทำมาแล้วแต่อย่างใด

Oppenheimer

ส่วนฉากไฮไลต์อย่างการทดสอบการระเบิดนิวเคลียร์ในฉาก ‘Trinity Test’ ที่นอกจากจะยากในแง่ของการถ่ายให้ออกมาดูน่ากลัวแล้ว ก็ยังต้องทำให้คนดูรู้สึกถึงความรุนแรงอันสมจริงด้วย แน่นอนว่าไม่ได้เกิดจากการระเบิดนิวเคลียร์จริง ๆ แต่เป็นการสร้างเอฟเฟกต์ระเบิดจริงที่มีขนาดเล็ก แต่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ทีมงานจะควบคุมได้ขึ้นมา ระเบิดนี้มีส่วนผสมของน้ำมันเบนซิน ดินระเบิด ก๊าซโพรเพน (Propane) แมกนีเซียม และผงอะลูมีเนียม เพื่อให้ได้แรงระเบิดที่รุนแรง และมีแสงสว่างวาบราวระเบิดนิวเคลียร์ของจริง ส่วนระเบิดที่มีขนาดย่อมลงมา ก็จะใช้วิธีการปรับสัดส่วนปริมาณสารประกอบให้เหมาะสม

ส่วนการถ่ายทำ ทีมงานได้ถ่ายทำช็อตการระเบิดด้วยเทคนิค Forced Perspective หรือเทคนิคการถ่ายหนังแบบโบราณ ด้วยการถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็ก และใช้มุมกล้องหลอกให้ดูใหญ่ (นึกภาพหนังก็อดซิลลา ที่มักจะใช้มุมกล้องถ่ายหลอกตาให้ดูตัวใหญ่) แต่หนังเรื่องนี้แตกต่างตรงที่ไม่ได้ทำระเบิดจิ๋ว แต่ต้องสร้างระเบิดให้มีขนาดใหญ่ที่สุด (เท่าที่จะทำได้)

Oppenheimer

ก่อนจะนำกล้อง IMAX 65 มม. เข้าไปจ่อถ่ายให้ใกล้เอฟเฟกต์ระเบิดมากที่สุด เพื่อหลอกตาให้ระเบิดดูยิ่งใหญ่ และถ่ายด้วยเฟรมเรต 48 เฟรมต่อวินาทีในหลาย ๆ มุมกล้องเพื่อให้ได้ภาพ Slow Motion ที่จะทำให้ระเบิดดูยิ่งใหญ่เข้าไปอีก ส่วนควันระเบิดที่ออกมาเป็นรูปเห็ดนั้น ทีมงานใช้วิธีการตัดต่อซ้อนภาพระเบิดจากหลาย ๆ มุมเอามาซ้อนเข้าด้วยกัน จากการถ่ายทำเอฟเฟกต์ของจริงกว่า 400 ช็อต ได้ประกอบเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นช็อต VFX 100 ช็อตสุดท้ายอย่างที่ได้เห็นในหนัง

โนแลนกล่าวสรุปเกี่ยวกับการใช้วิชวลเอฟเฟกต์ (ที่ไม่มี CGI) ว่า “แน่นอนว่าเราสามารถทำทั้งหมดนี้ได้ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิก แต่ผมรู้ว่านั่นมันจะไม่บรรลุในสิ่งที่ผมต้องการ เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ ดูยุ่งเหยิง และเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง เป้าหมายคือการถ่ายทุกสิ่งที่ปรากฏได้ด้วยกล้อง และใช้คอมพิวเตอร์ในการรวบรวมความคิด จัดองค์ประกอบภาพ ตัดสิ่งที่ไม่ต้องการออก และรวมสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน”


ที่มา: Syfy, The Hollywood Reporter, IndieWire, Insider, STREAM WARS

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส