‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ คือบุคคลที่เป็นดั่งเพชรสมชื่อ หนึ่งคือเปี่ยมไปด้วยคุณค่า สองคือมีเหลี่ยมมุมมากมายให้ได้สัมผัส ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านบทบาทที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารของบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ นักร้อง-นักแต่งเพลง นักดนตรี หรือศิลปิน ซึ่งแต่ละเหลี่ยมมุมของเพชรเม็ดนี้ล้วนแล้วแต่มีความงามให้ผู้คนได้ประทับใจและจดจำทั้งสิ้น

หากพูดถึงเหลี่ยมมุมของการเป็นนักร้อง-นักแต่งเพลงหรือนักดนตรีแล้ว เราคงจะนึกขึ้นมาได้ทันทีว่า เพชร โอสถานุเคราะห์ คือเจ้าของบทเพลง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” เพราะบทเพลงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นบทเพลงที่ฮิตที่สุดของเขาก็ได้ ด้วยท่วงทำนองที่ละเมียดละไม เสียงร้องที่จริงใจ และเนื้อหาที่โรแมนติกจับใจ หากชายใดได้ร้องให้กับหญิงที่หมายปองมีหรือที่เธอจะไม่ยอมใจอ่อน 

“ฉันไม่ใช่ผู้วิเศษ

ที่จะเสกปราสาทงามให้เธอ

ไม่มีฤทธิ์เดช

ไม่มีราชรถเลิศเลอ

แต่ฉันมีใจพิเศษ

จะพาเธอผ่านคืนนี้ไป

ฉันเป็นเพียงผู้ชาย

คนนี้ที่มีใจมั่นรักเธอ”

บทเพลง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” ไม่ได้มาเดี่ยว ๆ หรือเป็นผลงานเดียวจากชายชื่อเพชร หากแต่บทเพลงนี้เป็นแทร็กสุดท้ายในอัลบั้มชุดแรกของเพชรที่มีชื่อว่า ‘ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา’ ถึงแม้ชื่ออัลบั้มจะอ้างถึงความ ‘ธรรมดา’ แต่ว่าผลงานที่อยู่ข้างในนั้นกลับ ‘ไม่ธรรมดา’ เลย อย่างแรกคือหากใครหวังจะได้ฟังเพลงหวาน ๆ แบบ “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” อีกอย่างน้อยสักเพลงในอัลบั้มนี้แล้วล่ะก็ จะต้องพบกับความผิดหวังอย่างแน่นอน แค่นั้นยังไม่พออาจถึงกับเหวอไปเลย เพราะบทเพลงอื่น ๆ ที่เหลือในอัลบั้ม นั้นต่างมีความ ‘ล้ำ’ ที่แตกต่างกันออกไป จนเรียกได้ว่ามันออกจะไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

มันช่างเป็นเรื่องที่น่าตื่นใจ แต่ไม่น่าแปลกใจนักสำหรับ เพชร โอสถานุเคราะห์ ที่เป็นนักสร้างสรรค์ นักบริหารและนักการศึกษาในโหมดอินดี้ หากจะต้องทำผลงานเพลงของตัวเองแล้วมันก็ควรจะมีรสชาติแบบที่เราจะได้สัมผัสกันใน ‘ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา’ นี่แหละ

‘ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา’

อัลบั้มชุดนี้ออกมาในปี พ.ศ. 2530 ซึ่งอยู่ในยุค 80s ตอนปลาย  ได้โปรดิวเซอร์ฝีมือดีอย่าง ‘กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา’ หนึ่งในกลุ่มคนดนตรีหัวก้าวหน้าในนามวง ‘Butterfly’ มาร่วมงานด้วย ความคิดสร้างสรรค์ของเพชรกับความเชี่ยวชาญด้านดนตรีของกฤษณ์ได้หล่อหลอมให้ ‘ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา’ กลายเป็นงานที่ล้ำหน้าไม่ธรรมดาเลยสำหรับงานเพลงไทยในยุคนั้น

โดยรวมแล้วอาจกล่าวได้ว่างานเพลงในอัลบั้มนี้เป็นแนว ‘อิเล็กทรอนิกส์ป๊อป’ ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงยุค 80s มีวงดัง ๆ อย่าง Duran Duran ,The Human League, Depeche Mode, Pet Shop Boys หรือทางฝั่งญี่ปุ่นก็จะมี YMO และ ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) นับว่าอัลบั้มชุดนี้สามารถจัดวางอยู่ในกระแสธารดนตรีในระดับสากลนี้ได้อย่างสบาย

ฟังแรก ๆ อาจรู้สึกว่า ‘ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา’ นั้นแปลก ๆ หรือฟังดู ‘มาก่อนกาล’ เสียหน่อย หากเทียบกับงานเพลงไทยในกระแสนิยม แต่หากตั้งใจฟังไปฟังมาจะพบว่า การฟัง ‘ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา’ นั้นสนุกไม่ใช่เล่นเลย ที่เห็นได้เด่นชัดคือทักษะ ‘การเล่าเรื่อง’ ผ่านบทเพลงของงานเพลงชุดนี้ ที่แต่ละเพลงล้วนมีเรื่องราว มีแง่คิดมุมมอง และรูปแบบวิธีการเล่าการร้องที่แปลกและแตกต่างกันออกไป

เพชร โอสถานุเคราะห์

ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ก็จากเพลงไตเติลแทร็ก “ธรรมดา” ที่เพชรดีไซน์การร้องในท่อนฮุกให้เหมือนกับเสียงพระสวด (เพราะพระท่านมักสอนให้เรามองเห็นความธรรมดาในความเป็นไปของชีวิต  “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”)  แค่นี้ยังไม่พอในด้านดนตรียังมีการใช้เครื่องดนตรีที่ไม่ธรรมดาอย่างขลุ่ยจีน โดยใส่เอาไว้ในเพลงที่มีเสียงซินธ์ตื๊ดต๊าดเร้าใจ เสียงเคาะและจังหวะแบบเทคโนป๊อป กลายเป็นการผสมผสานที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

หรือในเพลง “ดิ้นกันมั้ยลุง?” ที่เป็นอีกหนึ่งเพลงฮิตที่หลายคนชอบและคิดถึงจากอัลบั้มชุดนี้ ที่บอกเลยว่าสุดจะครีเอต เพราะว่าเพลงนี้เพชรมาในบทบาทของคุณลุงอายุ 65 ปี “ฉันมันวัยชรา หกสิบห้าเข้าแล้ว นับว่าแก่ชราเต็มที” (มีการบอกอายุเสร็จสรรพในเนื้อเพลง ทำให้คนฟังนึกภาพออกเลย และเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าตัวละครในเพลงนี้มีอายุใกล้เคียงกับเพชรในปัจจุบัน ซึ่งเพชรนั้นไม่ได้มีความเป็นลุงที่ ‘แก่ชรา’ อย่างในเพลงเลยกลับเต็มไปด้วยเอเนอร์จีเต็มเปี่ยม) เนื้อเรื่องของเพลงนี้ฟังทีไรก็ฮา เพราะว่าเหตุมันเกิดเพราะคุณลุงคนนี้แกดัน ‘ดื่มเข้าไปหลายกั๊ก’ เลยหลงเดินเข้าไปผิดที่ ไปอยู่ในที่ที่มี ‘เสียงเพลงดังสนั่น’ ซึ่งก็คือผับเธคของบรรดาวัยรุ่นหนุ่มสาว ทีนี้พอคุณลุงมาอยู่ผิดที่ผิดทาง มันก็เลยมีสถานการณ์ที่สาววัยรุ่นเดินเข้ามายิ้มปรี่และร้องถามคุณลุงว่า “ดิ้น ดิ้น ดิ้นกันมั้ยลุง” เสียงร้องของเพชรที่รับบทเป็นลุง กับเสียงสาววัยรุ่นเปรี้ยวปรี๊ดจี๊ดจ๊าดที่ร้องคอรัสมาในท่อนฮุกของเพลงนี้บนท่วงทำนองสนุก ๆ ของเพลงแดนซ์ มันช่างเป็นอะไรที่ประทับใจไม่รู้ลืมและหลอนอยู่ในหัววนไปว่า “ดิ้น ดิ้น ดิ้นกันมั้ยลุง”

หรือว่าจะเป็น “รถด่วน” ที่มาในจังหวะสนุก ๆ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังนั่งรถไฟ พร้อมไลน์กีตาร์เท่ ๆ และเสียงซินธ์ที่ให้บรรยากาศสดใสในท่วงทำนองของดนตรีนิวเวฟ เพลงนี้เพชรรับบทเป็นหลายตัวละครเลยทั้งคนเล่าเรื่อง นายสถานี และชายหนุ่มที่กำลังจะจากลาคนรักด้วยรถไฟด่วนทำให้รักต้องห่างไกลไปตามระยะทางและความคิดถึงที่เพิ่มพูน นับเป็นเพลงที่ฟังแล้วสนุกดีเลยทีเดียว

แน่นอนว่าพอพูดถึงพาร์ตดนตรีแล้ว นับว่าอัลบั้มชุดนี้เป็นหนึ่งในอัลบั้มสุดคลาสสิกของวงการเพลงป๊อปของไทย ด้วยซาวด์อิเล็กทรอนิกส์สนุก ๆ ซึ่งเป็นสีสันใหม่ในยุคนั้น อย่างเปิดมาเพลงแรก “รักเธอแต่เธอไม่รู้”  เพลงนี้อย่าแอบเข้าใจผิดว่าเป็นเพลงเดียวกันกับของหนุ่มเสก เสกสรร ชัยเจริญ (เพลงนี้เป็นเพลงป๊อปฮิตที่ปล่อยออกมาในปี 2531)  เพลงนี้เด่นด้วยเสียงเคาะจังหวะและซาวด์จากซินธิไซเซอร์ที่บ่งบอกทิศทางของงานเพลงในอัลบั้ม แถมยังบ่งบอกแรงบันดาลใจสำคัญของเพชรนั่นคือวง The Beatles เพราะว่าเพลงนี้มีกลิ่นอายของสี่เต่าทองอย่างชัดเจน  

หรือจะเพลง “ตื่นเถอะ” ที่มาพร้อมเสียงซินธ์ในเมโลดี้คุ้นหู เป็นดั่งเสียงนาฬิกาปลุกที่มาพร้อมจังหวะสนุก ๆ ที่ชวนให้ลุกขึ้นจากเตียงมาแดนซ์กับท่วงทำนองของดนตรีนิวเวฟ เนื้อหาสะท้อนสภาพสังคมสมัยใหม่ที่ทำอะไรก็ต้องเร่งแข่งกับเวลา

ส่วน “มนตรา” ก็เป็นเพลงที่มีความเร้าใจ ไลน์ซินธ์อินโทรเป็นที่จดจำ ท่วงทำนองของเพลงสะท้อนความรู้สึกวูบวาบใจเวลาที่ตกอยู่ในห้วง ‘มนตรา’ ของสาวพราวเสน่ห์ เป็นเพลงที่มีลูกเล่นทางดนตรีที่เท่และน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

อีกเพลงที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะประทับใจไม่น้อยเลยก็คือ “ผู้หญิง ผู้หญิง ผู้หญิง” ที่อินโทรมาในจังหวะนุ่มนวล สบาย ๆ ร้องไปบนบรรเลงเปียโนเพราะ ๆ ก่อนจะเพิ่มดีกรีความเร้าใจ (และหลงใหลในผู้หญิง) ด้วยเสียงซินธ์และบีตที่เร้าใจแต่ยังคงไว้ซึ่งความสดใส เพลงนี้เป็นเพลงที่ดูจริงใจมาก เป็นความรู้สึกของผู้ชายคนหนึ่งที่มองเห็นความงามในผู้หญิงทั้งหลายที่ต่างมีความงามที่แตกต่างกันไปในแบบของตัวเอง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ล้วนแล้วแต่น่าหลงใหลทั้งนั้น และความงามของพวกเธอนี่แหละที่ทำให้ชีวิตเบิกบานสดใส และโลกนี้งดงามน่าอยู่ นอกจากภาษาที่ชายหนุ่มถ่ายทอดออกมาแบบเชิงกวีแล้ว เพลงนี้ยังมีกลิ่นอายของ The Beatles ที่สะท้อนออกมาผ่านทางเดินคอร์ดด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้ว The Beatles นี้เป็นศิลปินคนโปรดของเพชรเลย “ผมเป็นสาวก The Beatles ชอบที่เนื้อหา ทำนอง มีความลึกซึ้งในเรื่องของดนตรี มีศิลปะทุกแง่มุม การทำอัลบั้มของผม ก็พยายามจะทำสิ่งเหล่านี้ ให้มีความไพเราะในแง่ของทำนอง ที่หวังว่าคนจะจดจำได้ มีเนื้อร้องเป็นเรื่องเล่า เหมือนได้เสพศิลปะไปในตัว” เพชรกล่าวไว้ในรายการ Music กูรู้ (EP.17)

มีเพลงสนุกเร้าใจไปแล้ว ก็ใช่ว่าจะไม่มีเพลงช้า ๆ บ้างเลย เพลงหนึ่งที่อยู่ในโหมดนี้ก็คือ “ลองรักกันไหม (แม่หน้ามน)” ที่มาพร้อมเสียงร้องล่องลอยท่ามกลางซินธ์ฟรุ้งฟริ้ง ฟังไปก็คล้ายดนตรี relax music ให้ความรู้สึกผ่อนคลายบนความโรแมนติก หรือจะเป็น “คนช่างฝัน” ที่ถึงแม้ดนตรีจะไม่หวือหวาแต่ว่าเนื้อหากินใจ อีกหนึ่งเพลงเมโลดี้ละมุนละไม ที่ไหลไปกับซินธ์ซาวด์สว่างสดใส และเนื้อหาของเพลงนี้ชวนให้คิดไปถึงเพลง “Imagine” ของ จอห์น เลนนอน (John Lennon) อยู่ไม่น้อย เป็นเพลงที่แสดงทัศนะและความฝันถึงโลกที่สงบสดใสที่ผู้คนอยู่กันด้วยความเข้าใจและไม่แบ่งแยกซึ่งกันและกัน

สุดท้ายหากไม่พูดถึง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” ก็คงไม่ได้ เพลงนี้เพชรแต่งขึ้นตอนที่ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาในด้านการบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัย Southern Illinois University ตามความคาดหวังของครอบครัว ทั้ง ๆ ที่ใจนั้นก็รู้ดีอยู่ว่าตัวเองนั้นหลงใหลในศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรีมากเพียงใด ทำให้เวลาเรียนก็เรียนไป เวลาว่างเพชรก็มักจะมาศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองรัก และการแต่งเพลงก็เป็นกิจวัตรที่เพชรทำเป็นประจำตั้งแต่อายุ 12 ปี

วันหนึ่งในขณะที่เขากำลังนั่งแต่งเพลงตามปกติ เพชรมองเห็นว่าบรรยากาศในมหาวิทยาลัยนั้นมีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมา แต่กลับไม่มีใครสนใจตัวเขาสักคน จึงเกิดความรู้คิดเปรียบตัวเองเป็นดั่ง ‘ผู้ชายธรรมดา’ ที่ไม่ได้มีฤทธิ์มีเดชที่จะมัดใจใคร ทำให้เขาเกิดไอเดียแต่งออกมาเป็นเพลงที่ชื่อว่า “I’m Just a Man” โดยเป็นเนื้อร้องภาษาอังกฤษ  ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นบทเพลงในภาษาไทยที่มีชื่อว่า “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” นั่นเอง

“เราโยนเพลงนั้นทิ้ง แล้วผมก็ไม่มีอารมณ์แต่งเพลงใหม่แล้ว พอกลับมาบ้านคืนนั้น ก็คิดถึงเพลงที่เคยแต่งไว้นานแล้วสมัยอยู่ต่างประเทศคือ I’m Just a Man ผมเลยเขียนเนื้อร้องไทยมาใส่ทำนองเพลงนี้ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง วันรุ่งขึ้นเอามาฟังกับโปรดิวเซอร์ ก็คิดว่ามันพอใช้ได้”

ในตอนที่แต่งเป็นภาษาไทย “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” มีการใช้ภาษาสวยที่สวยมาก  ทั้ง ๆ ที่แต่งเป็นภาษาอังกฤษมาก่อน ซึ่งพอมาเป็นภาษาไทยได้มีการใช้ภาษาเชิงกวีและมีการเลือกใช้คำที่งดงาม เลือกคำได้สวยไพเราะ มีสัมผัสใน-นอก แบบการแต่งเพลงชั้นเซียนในยุคนั้น แถมยังเต็มไปด้วยความโรแมนติกอีกต่างหาก

“โอบกอดฉันไว้

หลับตาผ่อนคลายให้สมฤดี

เราจะบินหนี

ข้ามน้ำทะเลและแดนกว้างใหญ่

ดาวพราวดั่งฝัน

กลางคืนยาวนานรานหัวใจ

ปล่อยความเหงาไป

ทอดทิ้งใจ

รักจะพาแต่เราไปสองคน”

ทั้ง ๆ ที่เป็นเพลงที่เพราะขนาดนี้และเป็นเพลงโปรดของใครหลายคน แต่เพชรกลับรู้สึกเฉย ๆ ในทีแรกสำหรับเพลงนี้ “ผมชอบทุกเพลงในอัลบั้ม ยกเว้นเพลงนี้ที่มีความรู้สึกเฉย ๆ สุด เพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้ใช้ความสร้างสรรค์อะไร ไม่ได้ใช้ความพยายามอะไรด้วย ใช้เวลา 2 ชั่วโมงใส่เนื้อไทยในทำนองเดิม แต่สุดท้ายก็ภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

และถึงแม้จะเพราะขนาดนี้แต่เพชรเองกลับไม่คิดว่าเพลงนี้จะกลายเป็นเพลงฮิต “ความจริง เพียงชายคนนี้ ฯ ผมไม่คิดว่ามันจะฮิต ตั้งแต่วันที่โปรโมตอัลบั้มอยู่แล้ว เพราะเพลงของเรามันมาก่อนเวลา ถ้ามาในยุคสมัยนี้มันอาจจะป๊อปกว้างขวางขึ้นก็ได้ แต่ผมก็มีความสุขกับการได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้ที่มาก่อนกาล แบบนั้น” เพชรกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์จากนิตยสาร DDT

สุดท้ายตัวบทเพลงและความสร้างสรรค์ของเพชรก็ได้พิสูจน์แล้วว่าบทเพลง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” และบทเพลงต่าง ๆ ในอัลบั้ม ‘ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา’ คือสิ่งที่ ‘มาก่อนกาล’ หรือหากจะกล่าวให้ถูกก็คือ ‘ไร้กาลเวลา’ ที่ไม่ว่าจะฟังเมื่อใดก็ยังไม่เคยรู้สึกว่ามันพ้นสมัยไปสักที และในปัจจุบันนี้เรายังสามารถฟังกันได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ใครสนใจซื้อ CD เก็บไว้ตอนนี้ก็ยังหาซื้อได้อยู่ หรือหากจะฟังผ่านทางสตรีมมิงก็มีให้ฟังกันได้ แล้วเราจะพบว่าบทเพลงที่มีอายุกว่า 33 ปีเหล่านี้ กลับฟังได้ฟังดีไม่มีเบื่อเลยทีเดียว เป็นผลงานที่ ‘ไม่ธรรมดา’ ของ เพชร โอสถานุเคราะห์ ที่ได้ฝากไว้ให้เราได้รู้ว่าศิลปะนั้นยืนยาว ยืนหยัดไร้กาลเวลา แม้ผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้นจะได้จากไป แต่ผลงานที่ได้ฝากไว้นั้นจะยังคงอยู่เสมอ เพื่อบอกกับเราว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้คือสิ่งที่ ‘ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา’

ขอแสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของคุณเพชร โอสถานุเคราะห์ มา ณ ที่นี้ครับ.

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส