เดวิด กอร์ดอน กรีน (David Gordon Green) ผู้กำกับหนังแนวทริลเลอร์ชื่อดัง กลายเป็นที่รู้จัก ในฐานะชายที่นำหนังไล่เชือดคลาสสิก ที่ออกทะเลไปไกลอย่าง ‘Halloween’ กลับขึ้นมาทำใหม่จนเข้ารูปเข้ารอย

กรีนถือเป็นผู้กำกับที่ขึ้นชื่อเรื่องการขุดหนังแฟรนไชส์ใหญ่ ๆ มาตีความใหม่ และปูทางให้หนังดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น ด้านเทคนิคเขาถือเป็นผู้กำกับอีกคนที่มีลายเซ็นชัดในเรื่องการเล่นกับความตกใจของคนดู ซึ่งหนังของเขามักจะมีฉาก Jump Scare ที่เรียกเสียงกรี๊ดจากคนดูได้ตลอด

ในปี 2023 กรีนได้รับการไว้วางใจให้เข้ามาดูแลโปรเจกต์หนังไตรภาคของ ’The Exorcist’ ที่สานต่อเรื่องราวจากเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งจะเริ่มต้นด้วย ‘The Exorcist: Believer’ ที่มีกำหนดฉายในเดือนตุลาคม 2023 และอีกสองเรื่องที่ถูกวางไว้หลังปี 2025 

beartai BUZZ ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับกรีน เกี่ยวกับแนวทางการปลุกชีพแฟรนไชส์ไล่ผีนี้ ผ่านผลงานล่าสุดของเขาอย่าง ‘The Exorcist: Believer’ 

โปรเจกต์นี้เริ่มตึ้นขึ้นมาได้อย่างไร

กรีน: ผมพยายามค้นหาและเริ่มต้นจากความหลงใหลของตัวผมเอง ผมพยายามถ่ายทอดแฟรนไชส์นี้ออกมาด้วยความซื่อสัตย์ เพราะมีคนจำนวนมากที่พวกเขาไม่เคยได้ดูหนังเวอร์ชันต้นฉบับ ผมค่อย ๆ สร้างทุกอย่างจากความหลงใหลของตัวเอง จากนั้นผมก็เริ่มชวนหลาย ๆ คนให้เขามาร่วมกันอยู่ในโปรเจกต์นี้

เอลเลน เบอร์สติน (Ellen Burstyn) เป็นคนแรกที่ผมโทรชวน เธอไม่ได้รับบท คริส แม็กนีล มานานกว่า 50 ปีแล้ว เธอได้เล่าเรื่องราวประทับใจที่เธอมีต่อแฟรนไชส์นี้ และเธอก็ได้แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องราวของตัวละครนี้ว่ามันจะเป็นอย่างไร จะมีซีนหนึ่งที่เธอต้องพูดคนเดียวในบ้าน ซีนนั้นผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากตอนที่ได้โทรคุยกับเธอครั้งแรก เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มันกลายเป็นการพัฒนาตัวละคร คริส แม็กนีล ที่มีทั้งทั้งมุมมองของผมและเธอ

การสานต่อ ’The Exorcist’ จากเวอร์ชันเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ถือเป็นงานหินมาก ๆ เพราะมีความคาดหวังจากแฟนหนังเรื่องนี้เยอะ คุณรู้สึกกดดันมากน้อยแค่ไหน

กรีน: ผมเป็นคนชอบความเสี่ยงนะ ผมไม่เคยกลัวเรื่องเสี่ยง ๆ ในอาชีพการงานของผมเลย ซึ่งการได้เป็นผู้ที่สานต่อหนัง ‘The Exorcist’ นั้นมีความหมายต่อผมมาก ในฐานะคนรักหนังคนหนึ่ง หนังเรื่องนี้ได้สร้างผลกระทบต่อผู้ชมทั่วโลก มันเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ ที่ผมจะได้สานต่อสิ่งที่ผมชอบเป็นการส่วนตัวมาก ๆ และหนังเรื่องนี้ ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นหนังสยองขวัญเสมอไปนะ ดังที่ วิลเลียม ฟรีดคิน (William Friedkin) ผู้กำกับภาคออริจินัลเมื่อปี 1973 บอกไว้ว่า ‘The Exorcist’ นั้นเป็นหนังระทึกขวัญทางเทววิทยา ที่เขาได้ใส่เรื่องต่าง ๆ ของเขาไปด้วย อย่างตัวผมเอง ผมไม่ได้ต้องการให้หนังมีซีนที่น่ากลัวอยู่ตลอด ผมต้องการสร้างบรรยากาศที่น่าตกใจ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามแบบแผนของหนังสยองขวัญร่วมสมัยเสมอไป

ว่ากันว่าเหมือนเป็นคำสาปของคนทำหนังแนวนี้ ที่พอได้ทำ ’The Exorcist’ แล้ว คุณอาจจะไม่มีหนังดังอีกเลย คุณกลัวเรื่องทำนองนี้ไหม

กรีน: ไม่นะ ไม่เลย ผมรู้สึกว่าตัวเองได้รับการปกป้องจากวิญญาณและบรรยากาศรอบตัว ดังนั้นผมจึงไม่ได้กังวลกับเรื่องแบบนี้มากนัก คุณรู้ไหมว่ามีฉากหนึ่งในช่วงต้น ที่นักบวชวูดูชาวเฮติได้ให้พรคุ้มครองกับเด็กทารก จริง ๆ ผมก็ให้เธออวยพรผมด้วย ดังนั้นผมคิดว่าตัวเองน่าจะมีเกราะป้องกันอยู่นะ

สองนักแสดงเด็กอย่าง โอลิเวีย โอ’นีลล์ (Olivia O’Neill) และ ลิเดีย จิวเวตต์ (Lidya Jewett) โดดเด่นอย่างมากในหนังเรื่องนี้ คุณมีวิธีแคสต์ทั้งสองมาได้อย่างไร

กรีน: ผมเป็นคนแคสต์พวกเธอเอง กระบวนการออดิชันของผมค่อนกว้างนะ อย่างในห้องออดิชันแรก จะมีหัวหน้าทีมคัดเลือกนักแสดงอยู่ เพื่อดูแต่ละคนทำอะไรได้บ้าง พวกเธอต้องมีคุณสมบัติในการแสดงแบบด้นสด ที่เล่นออกมาเป็นตัวของตัวเองที่สุด เรามีนักจิตวิทยาเด็กในกองถ่ายด้วย เพื่อคอยควบคุมขีดจำกัดต่าง ๆ และทำให้แน่ใจว่าพวกเธอได้รับการปกป้อง พูดตามตรง พวกเธอกลายเป็นกระดูกสันหลังของหนังเรื่องนี้ แม้มันจะเป็นงานที่หนักมาก แต่พวกเธอก็รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ สำหรับพวกเราทุกคน

ตัวละคร ‘บาทหลวง’ ใน ’The Exorcist’ เกือบทุกภาค เปรียบเสมือนฮีโรของหนัง แต่ดูเหมือนว่า บาทหลวงในเวอร์ชันของคุณจะถูกลดบทบาทลง 

กรีน: สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากในหนังเรื่องนี้ก็คือบทบาทหลวง ซึ่งเขาคอยช่วยเหลือเด็กที่ถูกสิง ด้วยการไปขออนุมัติกับสภาพระสังฆราชเพื่อหวังจะทำพิธีไล่ผีให้กับเด็ก ๆ ซึ่งคณะนักบวชที่เราได้เห็นในเรื่องนี้ พวกเขาเป็นนักบวชคาทอลิกจริง ๆ นั่นเอง แน่นอนว่าขณะถ่ายทำเราจึงได้ข้อมูลและซีนที่อินไซด์มาก ๆ

แม้ตัวละครนี้จะถูกห้ามไม่ให้ทำพิธีไล่ผี แต่สุดท้ายเขาก็นำตัวเองเข้ามาช่วยเหลือทุกคน ซีนนี้เหมือนกับหนังไล่ผีแบบดั้งเดิม ซึ่งเขาไม่ต่างกับฮีโรคนหนึ่งที่ก้าวเข้ามาและหวังจะกอบกู้โลก แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นแบบที่ทุกคนคาด ในหนังเรื่องนี้ผมพยายามมอบสิ่งที่ไม่คาดคิดให้กับคนดู และสร้างตัวละครที่ต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง

(Center) Lidya Jewett as Angela Fielding in The Exorcist: Believer, directed by David Gordon Green.

มีฉาก Jump Scare ในหนังเรื่องนี้ ที่คุณใช้งูเป็นตัวแทน และทำออกมาได้น่าตกใจไม่น้อย คุณมีกระบวนการสร้างซีนเหล่านั้นอย่างไร

กรีน: ผมคำนึงเรื่องซีนแบบนี้เสมอ ผมพยายามคิดตลอดว่า เราจะทำให้มันดูเซอร์ไพรส์หรือประหลาดใจได้ยังไง ซึ่งที่ทุกคนได้เห็น นั่นคือตัวอย่างของความประหลาดใจ เพราะคุณไม่รู้เลยว่ามีอะไรอยู่ตรงนั้น บางครั้งคุณเห็นระเบิด ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่ามันจะระเบิด ในกรณีของงู เราไม่ใช้เพลงหรือเสียงประกอบอะไรเลย เราพยายามปล่อยให้ซีนมันเงียบที่สุด หรือฉากที่มีการมองไปที่สร้อยคอ เราพยายามกวนสายตาของคนดู ให้คุณโฟกัสกับสิ่งสิ่งหนึ่ง ผมคิดว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว หรือตกใจอย่างมาก สำหรับผมคือการเบี่ยงเบนความสนใจ

เมื่อนึกถึง ’The Exorcist’ เวอร์ชันเมื่อปี 1973 คุณนึกถึงอะไร

กรีน: ความทรงจำที่ชัดเจนที่สุด ตอนที่ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรก คือชอตที่เรแกนใช้กางเขนแทงตัวเอง แล้วเลือดก็พุ่งทะลักออกมา ซีนนั้นคือช่วงเวลาที่น่าสยดสยองที่สุดของหนังเรื่องนี้ ผมชอบสิ่งที่ฟรีดคินทำกับการคัดเลือกนักแสดง การเลือกใช้นักแสดงที่ทำอาชีพนั้นจริง ๆ มันทำให้คนดูรู้สึกเหมือนไม่ได้ดูหนังสิ่งเหนือธรรมชาติทั่ว ๆ ไป บางคนคือบาทหลวงจริง ๆ บางคนก็เป็นหมอ หรือตำรวจจริง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเราเช่นกัน 

อีกสิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็คือ มันไม่เคยเก่าเลย อย่างซีนหันหัวในตำนาน ก็ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่ามันถูกสร้างขึ้นเมื่อวานนี้เอง เราพยายามเลียนแบบสิ่งดี ๆ จากเวอร์ชันก่อนไว้ อย่างเช่นการไม่พึ่งพาเทคโนโลยี เราพยายามใช้วิชวลเอฟเฟกต์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไล่ตั้งแต่การแต่งหน้าให้สมจริง หรือแม้กระทั่งองค์ประกอบฉากต่าง ๆ

หนังเรื่องนี้แตกต่างออกไปจาก ’The Exorcist’ ทุกภาค คือมีการดึงพิธีการจากความเชื่ออื่น ๆ เข้ามาผสมด้วย คุณเป็นคนที่ชอบศึกษาในเรื่องแบบนี้ตลอดเวลาหรือเปล่า

กรีน: ตลอดเวลาเลย สำหรับพิธีกรรมจากทุกศาสนาที่เรามีในหนังเรื่องนี้ เรามีที่ปรึกษาคอยให้ข้อมูลอยู่ตลอด อย่างตัวผมเองก็เข้าไปคุยกับหมอผี หรือผู้คนมากมายที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมลักษณะนี้ ดังนั้นผมจึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เยอะทีเดียว อย่างที่ผมเล่าก่อนหน้านี้ จะมีฉากที่บาทหลวงไปขออนุญาตทำพิธีไล่ผีที่โบสถ์ ซึ่งคณะนักบวชเหล่านั้นคือพระจริง ๆ แถมตอนเราถ่ายทำ ก็ไม่มีสคริปต์ เราแค่ให้นักแสดงสองคนของเราเข้าไปถามคำถาม ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องนั้นเป็นอะไรที่เกิดขึ้นจริง ๆ

 ‘The Exorcist: Believer’ เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส