The Beatles คือวงที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีโลก ทำให้ทุกคนทั่วโลกได้รู้จักกับคำว่า ‘ดนตรีป๊อป’ และเป็นหนึ่งในผู้สร้างรากฐานรูปแบบเพลงป๊อปในปัจจุบัน ‘Let It Be’ คือสตูดิโออัลบั้มสุดท้ายที่สมาชิกทั้ง 4 ร่วมกันทำงาน ก่อนจะแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง และจากนั้นพวกเขาก็ไม่ได้กลับมาพร้อมหน้ากันอีกเลย แน่นอนว่าการค้นพบเดโมเพลงของ The Beatles สักเพลง ไม่ต่างกับการเจอสมบัติล้ำค่าที่ไม่อาจประเมินราคาได้ แต่จะเกิดอะไรขึ้น หากเดโมเหล่านั้นมีอยู่จริง!

พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) และ ริงโก สตาร์ (Ringo Starr) 2 สมาชิกที่เหลืออยู่ของ The Beatles ได้สร้างความฮือฮาด้วยการปล่อยเพลงใหม่ล่าสุดของวงอย่าง “Now And Then” ที่ถูกเขียนขึ้นโดย จอห์น เลนนอน (John Lennon) เมื่อปี 1978 หรือราว 45 ปีที่แล้ว ออกมาให้แฟน ๆ วงสี่เต่าทองได้หายคิดถึง ซึ่งความพิเศษของเพลงนี้ก็คือ มีการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยทำให้เสร็จสมบูรณ์ และควบคุมการผลิตโดยแม็กคาร์ตนีย์และสตาร์เอง

เลนนอนได้แต่งและบันทึกเดโม “Now And Then” เอาไว้กับเปียโนเมื่อปี 1978 ที่บ้านพักของเขาในนิวยอร์ก ซึ่งภายหลังที่เลนนอนเสียชีวิตเมื่อปี 1980 โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) ภรรยาของเขาก็ได้มอบเทปคาสเซ็ตเดโมเพลงนี้และอีกหลายเพลง ให้กับสมาชิกในวงอีกสามคนเก็บรักษาไว้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 1995 The Beatles มีความพยายามจะนำเพลงนี้กลับมาทำให้สมบูรณ์ พร้อม ๆ กับเพลง “Free as a Bird” และ “Real Love” (ซึ่งเป็นเพลงที่ได้มาจากโอโนะพร้อม ๆ กัน) แต่เพลงดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์นัก บางท่อนถูกเว้นว่างไว้ มีทั้งเสียงฮัม เสียงรบกวนต่าง ๆ นานา และที่สำคัญเทคโนโลยีในช่วงกลางทศวรรษ 90s ยังไม่ก้าวหน้าพอที่จะเนรมิตเพลงนี้ให้สำเร็จได้ ทำให้วงได้แต่บันทึกเสียงเครื่องดนตรีบางส่วนลงไป ก่อนที่ตัวเพลงจะถูกดองเอาไว้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“มันเป็นช่วงบ่ายของวันหนึ่ง ที่ทุกอย่างช่างยุ่งวุ่นวายสุด ๆ” เจฟฟ์ ลินน์ (Jeff Lynne) โปรดิวเซอร์ของโปรเจกต์เมื่อปี 1995 เล่าเหตุการณ์ช่วงการบันทึกเสียงครั้งแรก ”เพลงนี้มีท่อนคอรัสนะ แต่ขาดท่อนร้องไปเกือบหมด เราทำ backing track ของเพลงเอาไว้เป็นเพลงคร่าว ๆ ซึ่งเราไม่สามารถทำเพลงให้มันสำเร็จได้”

จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) หนึ่งในสมาชิกของวงผู้ล่วงลับ เคยพูดไว้หลังเซสชันบันทึกเสียงกีตาร์ของตัวเองเมื่อปี 1995 ว่า ‘นี่คือขยะชัด ๆ’ แต่ด้านแม็กคาร์ตนีย์ก็ยังเป็นคนที่เชื่อมั่นว่า เมื่อเวลาผ่านไป ในวันที่โลกมีเทคโนโลยีก้าวล้ำขึ้น ก็มีความหวังว่าพวกเขาจะสามารถนำมันกลับมาทำให้สำเร็จได้

28 ปีผ่านไป และวันที่แม็กคาร์ตนีย์รอคอยก็มาถึง ในระหว่างการสร้างสารคดี ‘Get Back’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของ The Beatles บริษัทหนังของผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson) อย่าง WingNut Films ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งขึ้นมา ที่มีการใช้ AI ช่วยแยกเสียงร้องของเลนนอนออกมา และสังเคราะห์ใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้สมาชิก The Beatles ที่เหลืออย่างแม็กคาร์ตนีย์และสตาร์เล็งเห็นโอกาสที่จะสานต่อเพลงนี้ให้เสร็จสมบูรณ์

“ระบบต้องเรียนรู้เสียงกีตาร์ของ จอห์น เลนนอน ว่าเป็นอย่างไร และยิ่งคุณป้อนข้อมูลเข้าไปมากเท่าไร มันก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น” ไจลส์ มาร์ติน (Giles Martin) โปรดิวเซอร์ของเพลงนี้ และ ลูกชายของ จอร์จ มาร์ติน (George Martin) อดีตโปรดิวเซอร์ของวงเล่าถึงเบื้องหลังการทำงาน

“Now And Then” ถูกปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ส่วนตัวมิวสิกวิดีโอถูกปล่อยในวันถัดมา โดยได้ ปีเตอร์ แจ็กสัน รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ ซึ่งเขาก็ได้ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยในการสร้างเลนนอนและแฮร์ริสันให้กลับมาร่วมเฟรมกับเพื่อน ๆ อีกครั้ง 

สตาร์ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเพลงนี้ว่า “มันใกล้เคียงที่สุดที่เราจะได้เขา (เลนนอน) กลับมาในห้อง ดังนั้นมันค่อนข้างเป็นเรื่องที่กระแทกอารมณ์สำหรับพวกเราทุกคน มันเหมือนกับว่าจอห์นอยู่ที่นั่นด้วย มันเยี่ยมมากเลย” สตาร์กล่าว 

ด้านแม็กคาร์ตนีย์เองก็มองว่า ประสบการณ์ในการบันทึกเสียง “Now And Then” คือสิ่ง ‘มหัศจรรย์’ ที่เขาตื่นเต้นกับมันมาก “ตอนที่เราอยู่ในสตูดิโอ เรามีเสียงของจอห์นที่ชัดแจ๋วเลย มันเหมือนกับว่าเขากำลังร้องอยู่ในห้องถัดไป และเรากำลังทำงานร่วมกับเขาอีกครั้ง ดังนั้นมันคือเรื่องที่น่ายินดีมาก ๆ นี่คือผลงานแท้ ๆ ของ The Beatles เป็นการทำงานในปี 2023 เป็นผลงานที่ทุกคนไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ” 

“Now And Then” ถือเป็นเพลงที่ The Beatles ตั้งใจจะมอบให้กับแฟน ๆ เพื่อเป็นทั้งการทำให้หายคิดถึง และบอกลาอย่างเป็นทางการไปในตัว นี่คือ Final Song หรือผลงานสุดท้ายจริง ๆ ของ The Beatles ที่ถูกพยายามพัฒนามาร่วม 30 ปี เป็นเดโมสภาพดีที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ แต่ก็ไม่แน่ว่าด้วยเทคโนโลยี AI ในปัจจุบันที่ฉลาดขึ้นทุก ๆ วันแบบนี้ ไม่แน่ในอนาคตอาจจะยังพอมีเดโมเก่าสภาพไม่ดี ถูกหยิบนำมาสังเคราะห์ใหม่ และช่วยสานต่อโลกของ The Beatles ไม่รู้จบก็เป็นได้

ที่มา BBC, salon

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส