ในช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่กระแสเพลงซินธ์ป๊อปซิตี้ป๊อปกลับมาได้รับความนิยม Pictured Resort (พิกเจอร์ รีสอร์ท) วงดนตรีอินดี้ป๊อปจากโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น นำโดยหนุ่มนักดนตรีมากฝีมือ โคจิ ทาคางิ (Koji Takagi) กลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องและโดดเด่น ได้รับความสนใจอย่างมากไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศต่าง ๆ รวมถึงในประเทศไทยที่มีฐานแฟนเพลงของ Pictured Resort อยู่พอสมควร Pictured Resort ได้เริ่มออกผลงานในปี 2014 และยังคงสร้างสรรค์บทเพลงในสไตล์ซินธ์ป๊อป/ซิตี้ป๊อปที่ทั้งเท่และไพเราะให้ความรู้สึกแบบผ่อนคลายสบาย ๆ เหมือนได้ไปเที่ยวทะเลและพักผ่อนอยู่ในรีสอร์ทสมชื่อ อัลบั้มล่าสุดที่ออกมาเมื่อปีก่อนอย่าง `Once Upon A Season’ ก็ยังคงรักษาความสดใหม่ แต่เปลี่ยนไปสู่สไตล์ที่มีความแดนซ์มากขึ้น โดยผสมผสานองค์ประกอบที่ผู้ฟังสามารถโยกตามได้มากขึ้น

จริง ๆ แล้วในวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Pictured Resort จะมีคอนเสิร์ตครั้งแรกในไทย (Pictured Resort 1st Live in Bangkok Away To Paradise Tour 2023) แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คอนเสิร์ตมีอันต้องยกเลิกด้วยสาเหตุบางประการ แต่ถึงอย่างนั้น โคจิ ทาคางิ ก็ยังไม่ล้มเลิกแผนที่จะมาพบแฟน ๆ ที่ไทย ถึงแม้จะไม่ได้มาพร้อมกับวง แต่ทาคางิก็ได้มีโอกาสมาพบปะกับแฟน ๆ ชาวไทยในบรรยากาศที่อบอุ่นใกล้ชิดในงาน ‘Pictured Resort “Away To Paradise Bangkok Showcase’ ที่จัดขึ้นที่ร้าน Flare Out Cafe นอกจากจะบรรเลงบทเพลงของ Pictured Resort แล้วยังเล่นคัฟเวอร์เพลง “Daughter” ของ จอห์น เมเยอร์ (John Mayer) ศิลปินคนโปรดของทาคางิอีกด้วย ถึงแม้จะเป็นการเล่นในแบบอะคูสติกมีกีตาร์หนึ่งตัวและร้องโดยทาคางิ บวกอีกหนึ่งสมาชิกในตำแหน่งคีย์บอร์ด ทำให้แตกต่างจากผลงานต้นฉบับที่เคยได้ฟังอยู่บ้าง แต่การที่แฟน ๆ ได้พบปะกับศิลปินคนโปรดคนนี้เป็นครั้งแรกในบรรยากาศที่ใกล้ชิดก็นับว่าเป็นอะไรที่ดีทีเดียว

โคจิ ทาคางิ (Koji Takagi)

และนั่นจึงทำให้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับทาคางิในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนโชว์จะเริ่ม อย่างน้อยเราก็ได้ทำความรู้จักกับ Pictured Resort ให้ดียิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในโอกาสหน้าเราคงจะได้ชมการแสดงแบบเต็มรูปแบบของเขา

ชื่อวง ‘Pictured Resort’ นี่มีที่มายังไง

ทาคางิ : ชื่อ ‘Pictured Resort’ นี่มีที่มาจากประสบการณ์ของผมครับ ตอนที่ผมเดินทางมาประเทศไทยครั้งแรกเมื่อประมาณ 12 ปีก่อน ผมกับเพื่อน ๆ เราสนุกกันมากเลยครับ เราได้ไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ เช่น ถนนข้าวสารหรือว่าพัทยา ตอนนั้นผมยังไม่ได้เป็นนักดนตรีทำเพลงของตัวเอง ผมเพียงแต่เล่นกีตาร์และแต่งเพลงในสไตล์ที่ผมชอบเก็บเอาไว้ ยังไม่ได้มีวงของตัวเองเลยครับ แต่หลังจากที่ผมเรียนจบ ผมก็เริ่มตั้งวงของตัวเอง และก็เลยมาคิดว่าเราจะใช้ชื่อวงว่าอะไรดีนะ ผมรู้แค่ว่าอยากใส่คำว่า Resort เข้าไปในชื่อวง จากนั้นก็ใส่คำว่า Imaginary (จินตภาพ) ลงไปด้านหน้า Resort เป็น ‘Imaginary Resort’ ซึ่งผมรู้สึกว่าชื่อมันมีความหมายที่ตรงเกินไป ผมก็เลยเปลี่ยนเป็น ‘Pictured’ ซึ่งมันให้ความหมายแบบเดียวกัน แถมชื่อ ‘Pictured Resort’ มันยังมีความหมายได้ 2 แบบอีกด้วย แบบแรกก็คือความหมายเดียวกันกับ ‘Imaginary Resort’ อีกแบบคำว่า Pictured ก็เปรียบได้กับคำว่า Photograph ก็จะเป็น ‘Photograph Resort’ ซึ่งคำว่า ‘ภาพ’ นี้ไม่เพียงแต่หมายถึง ‘สิ่งที่สะท้อนอยู่ในภาพถ่าย’ เท่านั้น แต่ยังมีความหมายแฝงของ ‘ภูมิทัศน์ในจินตนาการ’ อีกด้วยครับ และผมใช้คำว่า ‘รีสอร์ท’ เป็นคำอุปมาสำหรับบางสิ่งที่เป็นเหมือนกับเป็นที่พัก ที่ผ่อนคลายจิตใจ ซึ่งดนตรีของผมเองก็มีแง่มุมนี้อยู่มาก ดังนั้นเมื่อผมนึกถึงชื่อวงดนตรีที่ตรงกับความคิดนี้ของผม ‘Pictured Resort’ ก็เลยเป็นชื่อที่เหมาะที่สุดครับ และนี่แหละครับที่มาของชื่อวงครับ

ดูเหมือนว่าคุณจะนิยามเพลงของตัวเองไว้ว่า ‘Music For Invincible Summer’ (บทเพลงแห่งฤดูร้อนที่อยู่ยงคงกระพัน) ฤดูร้อนมีความหมายต่อคุณยังไงและมันส่งอิทธิพลต่อเพลงของ Pictured Resort ยังไงบ้าง

ทาคางิ : โดยปกติแล้วผมจะออกวางแผงเพลงของผมในช่วงฤดูร้อน (3.14) และเพื่อจะให้เพลงออกมาในช่วงฤดูร้อน ผมก็ต้องแต่งเพลงในช่วงฤดูหนาว ซึ่งหน้าหนาวที่ญี่ปุ่นคือมันหนาวมาก ๆ แต่ผมก็ต้องแต่งเพลงสำหรับฤดูร้อนในหน้าหนาว ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าเศร้ามากเลยครับ ดังนั้นหน้าร้อนสำหรับผมมันเลยเป็นอะไรที่ Invincible หรือมีความเป็น Imaginary ดังนั้นผมก็เลยนิยามเพลงของตัวเองว่า  ‘Music For Invincible Summer’ ครับ

รู้สึกได้เลยว่าฤดูร้อนนี่มีความหมายต่อคนญี่ปุ่นมาก ๆ อย่างเวลาที่ได้อ่านการ์ตูน ดูหนัง ฟังเพลง จะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับฤดูร้อนตลอดเลย

ทาคางิ : ใช่ครับ ๆ มันมีความสำคัญต่อเรามากเลย อย่างผมนี่ก็เป็นหนุ่มหน้าร้อนนะครับ (หัวเราะ) ผมชอบหน้าร้อน ผมไม่ชอบหน้าหนาว ไม่ชอบความหนาวเลยครับ ในประเทศไทยนี่อากาศอุ่นดีเลยครับ ผมเลยชอบอากาศของบ้านเมืองที่นี่มาก

เวลาฟังเพลงของ Pictured Resort นี่รู้สึกได้ถึงสัมผัสของกลิ่นทะเล สายลม และความอบอุ่นจากไอแดดเลย อยากรู้ว่าได้มาไทยคราวนี้ อยากไปสัมผัสบรรยากาศแบบนี้ที่ทะเลบ้านเราบ้างไหม

ทาคางิ : แน่นอนครับ อย่างตอนแรกที่ผมมาไทยเราไปที่หาดพัทยา มันสวยมาก ๆ เลย มีหาดทรายสวยงาม ตกกลางคืนก็มีคลับ มีบาร์ พวกเราสนุกกันมากเลยครับ และความรู้สึกนี้นี่แหละครับที่มันเป็นแก่นสำคัญในบทเพลงของผม มันเป็นห้วงอารมณ์และบรรยากาศของสถานที่แบบนี้เลยครับ

ดนตรีของคุณมีกลิ่นอายของดนตรียุค 70s 80s และดนตรี AOR อยากรู้ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณหลงใหลในเสียงดนตรีเหล่านี้

ทาคางิ : จริง ๆ แล้วผมเป็นแฟนตัวยงของดนตรีในยุค 70s, 80s เลยครับ ผมชอบฟังมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มัธยมต้น โดยเฉพาะเพลงแดนซ์ในยุค 80s มันมีกรู๊ฟที่มีเสน่ห์มาก ผมชอบฟีลลิ่งเพลงแบบนั้นมากอย่างเพลงของ ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) พรินซ์ (Prince) มาดอนนา (Madonna) หรือว่าไนล์ ร็อดเจอร์ส (Nile Rodgers) อะไรแนว ๆ นี้มากเลยครับ ผมก็เลยอยากใส่ฟีลลิ่งแบบโมเดิร์นแดนซ์ เพลงยุค 70s 80s และดิสโก้ลงไปในเพลงของผมครับ และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมเวลาคุณฟังเพลงของผมแล้วจึงรู้สึกได้ถึงอิทธิพลของเพลงเหล่านี้

ปกติแล้วคุณมีวิธีการทำเพลงยังไงบ้าง

ทาคางิ : ปกติแล้วผมจะเป็นคนเขียนเพลง แต่งเพลง และก็จะทำในส่วนของมิกซ์และมาสเตอร์ และก็เป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์เองด้วยครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนักดนตรีหรือคนทำเพลงมักจะมอบหน้าที่มิกซ์และมาสเตอร์ให้กับซาวด์เอ็นจิเนียร์มือโปร แต่ในกรณีของผม ผมทำเองหมดเลย ดังนั้นมันก็เลยถือว่าเป็นจุดที่แตกต่างในการทำเพลงระหว่างผมและนักดนตรีคนอื่น ๆ และนั่นทำให้เพลงของผมยิ่งมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ผมสามารถทำซาวด์ในแบบที่ตัวผมเองชอบได้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเลยมาจากตัวผมเองจริง ๆ ครับ

ส่วนการแต่งเพลงปกติแล้ว ผมอาจสร้างดรัมลูปยาว 8 บาร์ จากนั้นจึงคิดคอร์ดกีตาร์ขึ้นมา จากนั้นผมก็สร้างท่อนไลน์กีตาร์และเสียงซินธ์อื่น ๆ โดยการวนลูปโดยใช้ 8 บาร์นี่แหละ ผมคิดว่ามันอาจจะเหมือนกันสำหรับคนที่ทำเพลงแดนซ์ ซึ่งผมรู้สึกสบายใจกับวิธีนี้ จากนั้นผมก็จะมาวิเคราะห์โครงสร้างโดยรวมของเพลงโดยเพิ่มและลบสิ่งต่าง ๆ และคิดถึงการพัฒนาอารมณ์และไดนามิกของเพลงครับ

ในแต่ละเพลงผมอาจใช้วิธีที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วผมมักจะคิดเมโลดี้จากท่อนคอรัส สมมติว่าผมใช้ลูป 8 บาร์สำหรับอินโทรและท่อนคอรัส ผมก็จะสามารถเพิ่มเมโลดี้คอรัสลงไปในลูปอินโทรนี้ได้ ดังนั้นผมจึงสามารถวางโครงสร้างเมโลดี้และดนตรีได้ รู้ว่าจะให้มันพีคตรงไหน และท่อนต่อ ๆ  ไปควรเป็นยังไง

ปกติแล้วคุณจะแต่งทำนองและเมโลดี้ก่อนแล้วจึงค่อยเขียนเนื้อร้องใช่ไหม อยากรู้ว่าเวลาคุณเขียนเนื้อร้องคุณให้ความสำคัญกับความหมายของมันหรือว่าเสียงของถ้อยคำเหล่านั้นมากกว่ากัน

ทาคางิ : ใช่ครับ ๆ ผมจะแต่งทำนองและเมโลดี้ก่อน แล้วจึงค่อยเขียนเนื้อร้อง ซึ่งเนื้อร้องผมจะให้ความสำคัญกับไรม์ของมันครับ (rhyme – ความคล้องจองของเสียงระหว่างคำหรือการลงท้ายของคำ ดังที่ใช้ในบทกวีหรือบทเพลง) จริง ๆ แล้วผมไม่ค่อยชอบการที่เราต้องใส่สารอะไรลงไปในบทเพลง หรือการคิดหรือตั้งกรอบว่าจะให้บทเพลงมีความเป็นนั่นเป็นนี่ สำหรับผมการทำเพลงทำให้ผมรู้สึกสบาย ๆ ผ่อนคลาย คุณจะได้ยินจากเพลงของผมเลยว่ามันมีวิธีคิดแบบนี้อยู่ และการที่จะทำให้ดนตรีมีความสบาย เรื่องของไรม์จึงมีความสำคัญและดูจะเป็นแก่นสารในดนตรีในแบบฉบับของผม ในแง่นี้การทำเพลงของผมจึงคล้ายกับเป็นการทำสมาธิ ปล่อยกายปล่อยใจสบาย ๆ อยู่กับช่วงเวลาตรงหน้าโดยที่ไม่ต้องมีอะไรมาตีกรอบครับ เพียงปล่อยให้มันเกิดขึ้นมาแบบสบาย ๆ และไหลไปกับมัน ดังนั้นเนื้อเพลงของผมก็จะไม่ถูกตีกรอบว่าเราจะสื่อสารอะไร มันต้องมีความหมายอะไร แต่มันจะผสานสัมพันธ์ไปกับเสียงดนตรีอย่างเป็นธรรมชาติครับ

มีอะไรอยากบอกกับแฟน ๆ Pictured Resort ชาวไทยที่รอคอยจะได้พบและชมการแสดงของคุณไหม

ทาคางิ : จริง ๆ แล้วการมาไทยในครั้งนี้มีความหมายสำหรับผมมาก อย่างที่ผมได้บอกไปว่าแม้กระทั่งชื่อของวงก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจเมื่อครั้งมาเมืองไทยครั้งแรก การได้กลับมาคราวนี้เหมือนผมได้กลับมายังที่ที่เป็นการเริ่มต้นของผม ตอนนั้นผมยังเป็นนักศึกษาอยู่เลย แต่คราวนี้ผมได้กลับมาในฐานะนักดนตรีที่ได้มีโชว์เคสของตัวเอง ซึ่งการที่ผมได้มาในครั้งนี้ก็เพราะว่ามีแฟน ๆ คอยติดตามฟังและสนับสนุนผลงานของผม ผมเลยอยากขอบคุณแฟน ๆ ชาวไทยจากใจ ที่ได้ให้การสนับสนุนผมมาโดยตลอด หากไม่มีแรงสนับสนุนจากแฟน ๆ งานนี้คงจะไม่เกิดขึ้น และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตข้างหน้า บางทีอาจจะเป็นปีหน้านี้ ผมและวง Pictured Resort จะได้มีโอกาสมาเปิดคอนเสิร์ตแบบเต็มรูปแบบในประเทศไทยให้แฟน ๆ ชาวไทยได้ชมได้ฟังกันครับ

ป.ล.ตอนนี้ Pictured Resort ได้ออกแผ่นเสียงคู่อัลบั้มรวมบทเพลง “Best For Paradise” วางขายแบบลิมิเต็ดเพียง 500 แผ่นเท่านั้น เป็นเอดิชันสำหรับประเทศไทยเท่านั้นด้วย และแน่นอนว่ามาพร้อมแพ็กเกจสวยงามและอาร์ตเวิร์กที่วาดโดย ซายากะ อิชิยามะ (Sayaka Ishiyama) เช่นเคย ใครที่สนใจจับจองเป็นเจ้าของสามารถเข้าไปชมได้ที่ @earthtonerecords

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส