ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการถกเถียงและตั้งคำถามเกี่ยวกับคำว่า ‘Soft Power’ ของไทยอยู่เสมอ ในทำนองที่ว่า หน้าตาของมันจะเป็นอย่างไร อะไรคืออำนาจละมุนของเราที่จะส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้ แต่จวบจนปัจจุบันความหมายของคำคำนี้ ก็ดูเลือนลางเหมือนเป็นคำถามที่ยังไร้ซึ่งคำตอบ

แม้การงมหาคำตอบในเรื่องนี้จะดูเป็นเรื่องไกลตัวออกไป แต่ถึงกระนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือยุคสมัยที่มีบุคลากรไทยมากฝีมือไปโลดแล่นอยู่บนเวทีโลกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เจ๋ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, สอง-สยมภู มุกดีพร้อม หรือในรายล่าสุดอย่าง ตั้ม-พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ 

พวัสส์ถือเป็นยอดโปรดักชัน ดีไซเนอร์ เจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์จากหนังเรื่อง ‘รักน้อยนิดมหาศาล’ ผู้ฝากผลงานคุณภาพไว้มากมายทั้ง  ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’, ‘คำพิพากษาของมหาสมุทร’, ‘สมุยซอง’ และล่าสุดกับ ‘Monkey Man’ หนังแอ็กชันทริลเลอร์ฮอลลีวูด ผลงานการแสดงนำและกำกับของเดฟ พาเทล (Dev Patel) ที่ได้จอร์แดน พีล (Jordan Peele) มารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง

BT BUZZ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษโปรดักชัน ดีไซเนอร์มากฝีมือคนนี้ ในหลากหลายประเด็น ทั้งเบื้องหลังการร่วมงานกับเดฟ พาเทล การเนรมิตเมืองเหนือจินตนาการให้สมจริงที่สุด และเผยมุมมองที่เขามีต่อบุคลากรหนังไทยยุคนี้

มาร่วมโปรเจกต์นี้ได้อย่างไร

พวัสส์ : สำหรับ ‘Monkey Man’ ตอนที่เดฟและทีมงานโปรดิวเซอร์ย้ายจากอินเดียเข้ามาสู่บาตัม อินโดนีเซีย ผมก็บินเข้าไปร่วมโปรเจกต์ตั้งแต่ตอนนั้น แต่โปรเจกต์เริ่มมาบางส่วนตั้งแต่ตอนที่อินเดียแล้ว ตอนโควิดกองถ่ายก็เกือบจะต้องหยุด ทีนี้พอเขาเข้ามาที่บาตัม ผมที่ทำงานกับ Infinite Studio ที่นั่นอยู่แล้ว ก็เลยถูกเสนอให้มาดูโปรเจกต์นี้ และหลังจากส่งพอร์ตให้เดฟกับทีมงานดูเขาก็เลือกให้ผมทำ ซึ่งก็ทำตั้งแต่ต้นเลย ตั้งแต่เป็นบทหนัง แล้วช่วยกันดูว่าจะทำหนังออกมาหน้าตายังไง งานสร้างต่าง ๆ หน้าที่ผมจะอยู่ตรงนี้เป็นหลัก

ทำงานกับเดฟ พาเทล เป็นอย่างไรบ้าง

พวัสส์ : เดฟเป็นคนหนุ่มที่มีพลังเกินร้อย มีความมุ่งมั่นมาก เขาอยู่กับโปรเจกต์นี้มานาน เขารู้ว่าเขาต้องการอะไร เขามีวิสัยทัศน์กับหนังเรื่องนี้อย่างดี เมื่อเราได้เจอกัน เวลาได้ฟังเขาบรีฟก็จะมีความชัดเจนตั้งแต่เจอกันครั้งแรกเลย คือสถานการณ์ของการทำหนังเรื่องนี้ค่อนข้างต่างจากหนังที่ผมเคยทำมาตลอดชีวิตเลย คิดสภาพคนกลุ่มหนึ่งติดเกาะกัน เพราะงั้นมันใกล้ชิดกันหมดทั้งในและนอกเวลางาน ก็จะสะดวกในการทำงานเพราะรับรู้เรื่องทุกอย่าง ก็ช่วยกันแก้ปัญหาที่มันต้องมีอยู่แล้วในระหว่างงานสร้าง

คุณตีความและสร้างหน้ากาก หนุมาน มาด้วยแนวคิดอย่างไร มีนัยอะไรซ่อนอยู่ไหม

พวัสส์ : การตีความ ‘หนุมาน’ ถือเป็นหัวใจหลักของหนัง เดฟในฐานะผู้เขียนบท เขาได้ซึมซับเรื่อง Mythology (เทวตำนาน) มาเป็นอย่างดี และสิ่งนี้ปรากฏอยู่ในการนำเสนอตั้งแต่ขั้นตอนของบทแล้ว อาทิ นักมวยปล้ำใน Underground Fight Club ที่สวมหน้ากากลิง ทาสีบนร่างกายด้วยสีขาวเพื่อเป็นตัวแทนหนุมาน ผมพร้อมด้วยทีมงานอินเดียและทีมอินโดนีเซียเองมีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องรามเกียรติ์นี้อย่างคล้ายคลึงกันมาก ในส่วนงานค้นคว้าหลัก ๆ ผมเลยขอให้ทางทีมอินเดียที่มีหน้าที่ Set decoration ใช้ภาพอ้างอิงจากประเทศอินเดียเป็นต้นแบบ ส่วนศิลปินที่วาดภาพประกอบในหนังสือ Graphic Novel book และภาพ Mural painting ขนาดใหญ่บนชั้นบนของ King Club เป็นนักวาดภาพประกอบชาวอินโดนีเซีย คือในความคิดของเดฟ เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการฟังเรื่องหนุมานมาในวัยเด็ก เขาชื่นชมตัวละครตัวนี้มาก และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ขึ้น เป็นฮีโร่ที่มีความกล้าหาญและเสียสละต่อพวกพ้อง ซึ่งมีผลต่อธีมของหนัง ‘Monkey Man’

เบื้องหลังการสร้างเมือง ‘ยาตะนะ’ เห็นว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก ก็อตแธม ด้วย

พวัสส์ : เดิมทีก่อนโควิดระบาด ทีมงานจะถ่ายทำกันในอินเดีย แต่พอไม่ได้ไปเขาก็เลยบอกว่าอยากให้มองมุมไบเป็นเหมือนก็อตแธมที่นำเสนอด้านมืดของนิวยอร์ก เราก็เลยสร้างเมืองหนึ่งขึ้นมาชื่อยาตานะ เป็นเมืองสมมติที่จะนำเสนอด้านมืดของมุมไบ ก็คือทุกอย่างจะมีความเป็นอินเดีย แต่มูดแอนด์โทนจะมีความเป็นโลกสมมติ แต่ก็เชื่อได้ว่ามันมีจริงในโลก

หนังเรื่องนี้มีซีนของประเทศอินเดียอย่างมาก คุณนำความเป็นไทยมาช่วยในเรื่องการออกแบบอย่างไร

พวัสส์ : หนังเรื่องนี้ท้องเรื่องมันเป็นอินเดียครับ แต่ผมคิดว่าในฐานะคนไทยที่ทำงานได้ไม่ยากนัก เพราะเราก็โตมากับวัฒนธรรมอะไรหลาย ๆ อย่างที่เป็นอินเดียอยู่แล้ว อย่างพวกงานศิลปะที่อยู่รอบตัวเรามีอิทธิพลอินเดียอยู่ ดังนั้น การทำงานอาจจะไม่ได้ยากเหมือนกับเวลาที่เรากระโดดข้ามไปทำงานฝั่งตะวันตก แล้วเราก็มีทีมงานจากอินเดียมาช่วยด้วย ซึ่งพวกเขาก็จะให้คำแนะนำในเชิงรายละเอียดต่าง ๆ ว่ามันถูกต้องนะ เราก็เลยไม่ค่อยกังวลใจมาก และก่อนที่คนอื่นจะเข้ามาดูงานเราก็ช่วยกันตรวจกันก่อนแล้ว

งานออกแบบในเรื่องนี้ที่คุณชอบที่สุด คือซีนไหน หรือชิ้นไหน

พวัสส์ : จริง ๆ แล้ว ‘Monkey Man’ เป็นหนังที่มีการสร้างฉากมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะเราต้องพยายามอยู่ในสตูดิโอเพื่อลดความเสี่ยงของโรคระบาดโควิด และประกอบกับเป็นหนังแอ็กชัน การถ่ายทำในฉากที่สร้างขึ้นย่อมสะดวกที่สุด อย่างไรก็ดี ฉากที่ชอบที่สุดมีฉากวัดร้างฮินดู ที่ทำได้จากการดัดแปลงจากตึกร้างในสองแห่งเพื่อรวมเป็นวัดนั้นจนทำให้ออกมาดูเสมือนจริงได้ ขอยกเครดิตให้ทีมศิลปกรรมไทยที่ไปช่วยกันสร้างสรรค์ อีกฉากคือร้านอาหารหรูในตึก Kings Club เพราะเป็นฉากที่แพงที่สุดใช้เวลาสร้างนานที่สุดเพราะมีการสร้างให้สมบูรณ์ครบทุกด้านถ่ายทำได้รอบตัว (360 degree) มีการเล่นระดับ และการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์รวมภาพมหาราชาของอินเดีย และรับใช้การต่อสู้ (fighting chorography) ได้อย่างเต็มที่

หนังเรื่องนี้สะท้อนเรื่องชนชั้น คุณนำเรื่องสิ่งนี้มาถ่ายทอดผ่านการออกแบบฉากต่าง ๆ อย่างไร

พวัสส์ : Design Concept หลักที่อยู่ในหนัง อยู่ใน look book ที่ผมนำเสนอตั้งแต่แรกที่ได้อ่านเรื่องย่อ ผมได้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับการเลื่อนฐานะจากชนชั้นล่างสู่ชนชั้นบนของ ‘คิด’ (เดฟ พาเทล) ที่แฝงตัวเข้ามาในอาณาจักรของผู้มีอิทธิพล จากการทำทุกวิถีทางที่จะถีบตัวเองเลื่อนสถานะ ลิฟต์ที่ใช้ในการเดินทางในตึกจึงเป็นทั้งพาหนะขนส่งและเปรียบเปรยถึงการเลื่อนชั้น (Rising Up) ของ Protagonist ในการมาล้างแค้น การออกแบบภายในของลิฟต์จากชั้นสู่ชั้นจึงมีการตกแต่งภายในแตกต่างกันและมีผลต่อเนื่องในการออกแบบภายใน สีและแสงของแต่ละชั้น

นี่ถือเป็นผลงานระดับฮอลลีวูดของคุณ รู้สึกยังไงบ้าง

พวัสส์ : ดีใจครับ ผมก็ออกแบบหนังมานานแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องแรก ๆ เลยที่มีฐานคนดูเยอะหน่อยมั้ง ผมทำหนังเอเชียมาเยอะ แต่เรื่องนี้น่าจะระดับโลกหน่อย ทีมงานทุกคนพอใจเราก็มีความสุขที่ทำงานให้เขาสำเร็จครับ จริง ๆ ผมตื่นเต้นกับงานนี้มาก งานภาพก็สวยมาก อยากให้ทุกคนไปดู

คุณเป็นหนึ่งในคนไทยที่ได้รับโอกาสโลดแล่นบนเวทีโลก คุณคิดว่าคนไทยพร้อมสำหรับเวทีระดับโลกหรือยัง และเราต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถทำหนังเทียบชั้นระดับโลกได้

พวัสส์ : ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่พัฒนากันเร็วมากอยู่แล้วครับ ด้วยความรวดเร็วในการเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ โอกาสก็มีมากขึ้น แล้วประเทศเราก็เป็นศูนย์กลางของคนสร้างหนังทั่วโลก ดังนั้นโอกาสที่โปรเจกต์ต่าง ๆ จะหมุนเวียนผ่านเข้ามาจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่สำคัญคือ ผมคิดว่าอยากให้ทุกคนมองทุกโปรเจกต์เป็น career path ต้องทำทุกงานให้ออกมาดี เพราะทุก ๆ งานจะส่งผลต่องานต่อ ๆ ไปให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในแง่องค์ความรู้คงเรียนเท่าทันกันได้หมด แต่การทำงานเป็นระบบสากลก็สำคัญ เช่น เรื่องของเวลา การสื่อสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์โดยตรง แต่มันเป็นกระบวนการในอุตสาหกรรมที่ต้องให้ความสำคัญพอ ๆ กับงานคราฟต์ ซึ่งมันมีส่วนสำคัญอย่างมากและเราสามารถพัฒนากันได้

อะไรคือสิ่งที่คุณชอบในหนังเรื่องนี้

พวัสส์ : เป็นหนังแอ็กชันที่มีการใช้ Mythology ของฝั่งตะวันออกเป็นนัยสำคัญในการสร้างบทนำ และตัวหนังสร้างโดยความหลงใหลในหนังแอ็กชันแบบ Hand battle ของตัวเดฟเอง รวมถึงสิ่งที่ไม่ได้เห็นอยู่ในฟุตเทจ หนังเรื่องนี้ถูกสร้างด้วยพลังงานที่ทุกคนมารวมตัวกัน ทุ่มเททำงานชิ้นหนึ่งในขณะที่โลกทั้งใบต้องหยุดกิจกรรม มันคือการร่วมกันสร้างหนังในเงื่อนไขที่รายล้อมจนสำเร็จ

‘Monkey Man’ เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์