ท่ามกลางความกดดันและแสงความหวังเรื่องวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 ยังคงริบหรี่ ตลอดจนยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทั่วโลกโดยเฉพาะในฟากฝั่งของอเมริกายังคงทะยานอย่างน่ากลัว อาวุธที่ปกป้องเราต่อสู้กับโรคร้ายนี้มีเพียงหน้ากากอนามัยกับแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อซึ่งดูเล็กจ้อยกับความน่ากลัวของการแพร่ระบาด อีกด้านหนึ่งการปิดเมืองและให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้านก็กลายเป็นมาตรการสำคัญไม่กี่อย่างที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะทำได้ ซึ่งแน่นอนว่าผลข้างเคียงของยาแรงตัวนี้ก็คือกระทบกับภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และปากท้องของผู้ต้องใช้รายได้หมุนระยะสั้นเพื่อเลี้ยงชีพอย่างเลี่ยงไม่ได้

นี่ยังอาจต้องพูดถึงความตึงเครียดจากการที่ประชาชนที่เคยมีอิสระเสรีภาพต้องกักตัวอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อหาดในรัฐฟลอริดากลับมาเปิดอีกครั้ง ประชาชนกว่า 3,000 คนก็เลิกสนใจมาตรการทิ้งระยะห่างและคราคร่ำจนแน่นหาด และเรื่องราวที่น่าตกใจสำหรับคอข่าวฝั่งเอเชียอย่างบ้านเราที่ถือมาตรการกักตัวและทิ้งระยะห่างทางสังคม รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดคือ ข่าวที่รัฐบาลสหรัฐอาจทนแรงกดดันทางเศรษฐกิจไม่ไหวและผ่อนปรนให้เปิดเมืองเลี่ยงความเสียหายทางเศรษฐกิจในต้นเดือนหน้า (1 พ.ค.)

โดยแรงกระตุ้นหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อคือประชาชนกลุ่มใหญ่ในหลายรัฐใหญ่ เช่น เคนทักกี, มินเนโซตา, นอร์ธ คาโรไลนา, โอไฮโอ, ยูทาห์, เวอร์จิเนีย และอย่างยิ่งใน มิชิแกน ที่ต่างออกมาประท้วงตามท้องถนนพร้อมอาวุธปืน เพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญอันเป็นจิตวิญญาณของอเมริกา ที่พวกเขาไม่ควรถูกสั่งให้จำกัดบริเวณตัวเอง และไม่สามารถทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ตามปกติ  ซึ่งในอีกด้านหนึ่งกลุ่มศาสนาเองก็ออกมาร่วมประท้วงและเรียกร้องให้สามารถทำกิจกรรมทางศาสนาอีกครั้งโดยเชื่อว่าพระเจ้าจะปกป้องพวกเขาจากเชื้อไวรัสด้วย ทำให้นอกจากการไม่ยอมกักตัวแล้ว สิทธิเสรีภาพในการไม่สวมหน้ากากอนามัยก็กลายเป็นเรื่องใหญ่กว่า และน่าตื่นตกใจสำหรับคนนอกโดยเฉพาะชาวเอเชียอย่างบ้านเราที่มองเข้าไปในอเมริกาด้วย

https://twitter.com/stonecold2050/status/1250889918512955392?s=20

ไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่ท่าทีคนใหญ่คนโตของรัฐบาลอเมริกันเองอย่าง กลุ่ม ส.ส. และ ส.ว. ในสภาคองเกรส ก็ออกมาให้ความเห็นในเชิงต่อต้านแนวคิดการกักตัว อย่างเช่น นายเทรย์ ฮอลลิงส์วอร์ธ ส.ส. พรรครีพับลิกันจากรัฐอินเดียนา ได้กล่าวว่า “การตัดสินใจของรัฐบาลอเมริกาบนทางเลือกระหว่าง การอยู่รอดแต่สูญเสียวิถีชีวิตแบบอเมริกันชน กับการสูญเสียแต่คงไว้ซึ่งความเป็นอเมริกัน เราจะเลือกแบบหลังเสมอไม่มีเปลี่ยน” นั่นอาจรวมถึง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เองที่ออกมาทวีตเชียร์ผู้ประท้วงในหลายรัฐในเชิงว่าให้ปลดปล่อยตัวเองจากคำสั่งกักตัวของผู้ว่าการรัฐด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้หลายอย่างชวนให้นึกถึงหนัง The Mist (2007) หรือชื่อไทย มฤตยูหมอกกินมนุษย์ อย่างช่วยไม่ได้ โดยหนังดังกล่าวเป็นอีกผลงานที่จะติดในหัวสมองและหัวใจของผู้ที่เคยชมไปแม้เพียงแค่ครั้งเดียว ด้วยเรื่องราวที่เต็มไปด้วยการจำลองสภาวะสังคมมนุษย์เมื่อพบกับวิกฤตที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ ซึ่งถ่ายทอดผ่านปลายปากกาของเจ้าแห่งนิยายสยองขวัญอย่าง สตีเฟน คิง และถูกดัดแปลงสรรค์สร้างผ่านภาษาหนังด้วยยอดฝีมืออย่างผู้กำกับ แฟรงก์ ดาราบองต์ ที่เคยสร้าง The Shawshank Redemption (1994) จนลือลั่นมาแล้ว และอีกสิ่งที่คงไม่อาจสลัดออกจากหัวผู้ที่เคยได้ชมง่าย ๆ คือฉากจบของหนังที่เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์รับชมหนังที่สามารถทำร้ายจิตใจผู้ชมได้เจ็บแสบที่สุดครั้งหนึ่งทีเดียว

the mist

The Mist เล่าเรื่องราวในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในอเมริกา โดยเล่าผ่านสายตาของ เดวิด เดรย์ตัน (โธมัส เจน) พ่อผู้พาลูกชายตัวน้อยนาม บิลลี่ ออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหลังจากที่คืนก่อนหน้าเมืองเพิ่งถูกพายุถล่มอย่างหนัก แต่ทันใดนั้นเองหมอกปริศนาก็เข้ามาปกคลุมตัวเมือง พร้อมกับเสียงผู้คนภายนอกที่ร้องโหยหวนกรีดร้องว่ามีสัตว์ประหลาดอยู่ในหมอก ผู้คนในซูเปอร์มาร์เก็ตจึงจับกลุ่มรวมตัวอยู่ด้วยกันไม่ออกไปภายนอกด้วยความหวาดกลัวต่อสิ่งที่ไม่รู้ ในตอนนั้นมีคุณแม่คนหนึ่ง (เมลิซซา แมกไบรด์ หรือ คารอล จาก The Walking Dead) ต้องการออกไปหาลูกที่ยังเล็กของเธอที่ถูกทิ้งไว้ที่บ้าน แม้หลายคนจะเห็นใจแต่ก็ได้แค่ทักท้วงไม่มีใครยื่นมือช่วยพาเธอกลับบ้านจนเธอตัดสินใจวิ่งออกไปเพียงลำพัง

the mist the mist

ต่อมาเมื่อเริ่มมีคนตายจากสัตว์ประหลาดที่บุกเข้ามาหลายคนเข้า คุณป้าคาร์โมดี (มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน) หนึ่งในลูกค้าของซูเปอร์มาร์เก็ตก็เริ่มอ้างว่าตนเป็นผู้ถ่ายทอดประสงค์จากพระเจ้า และโน้มน้าวผู้คนที่กำลังหวาดกลัวและสับสนให้มีสิ่งยึดเหนี่ยวโดยอธิบายว่าสัตว์ประหลาดนี้คือบทลงโทษของพระเจ้า จำเป็นต้องมีการสังเวยคนบาปเพื่อให้คนดีที่เหลือรอดได้รับการอภัยจากพระเจ้าเท่านั้น และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้รอดตายในซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มเข่นฆ่ากันเองด้วยความเชื่อ โดยรายแรกคือทหารที่สารภาพว่าหมอกดังกล่าวเกิดจากการทดลองเปิดมิติของกองทัพ และอีกรายคือลูกของเดวิดที่ป้าคาร์โมดี้เลือกเป็นเป้าหมายสังเวย

the mist the mist

สปอยล์ฉากจบ
พวกเดวิดฆ่าป้าคาร์โมดีได้เสียก่อนที่บิลลี่จะถูกสังเวยและหนีออกไป เดวิด กับลูก รวมกับคนอื่นแล้ว 5 คน หนีการสังหารหมู่คนในซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้นรถที่จอดลานด้านนอก แล้วขับฝ่าไปในหมอกเมื่อไปถึงบ้านของเดวิดก็พบว่าภรรยาของเขาตายแล้ว ทั้งหมด 5 ชีวิตจึงตัดสินใจหนีออกจากเมืองให้ไกลที่สุดเท่าที่น้ำมันรถจะไปได้ โดยหวังว่าจะหลุดออกจากหมอกได้ก่อน ทว่าสุดท้ายเมื่อน้ำมันหมดลงท่ามกลางหมอกที่ยังหนาแน่น เดวิดกับทุกคนที่เหลือได้ตัดสินใจใช้ปืนที่มีกระสุน 4 ลูกทำอัตวิบากกรรมโดยหวังว่าจะทรมานน้อยกว่าถูกสัตว์ประหลาดจับกิน เดวิด เสียสละเป็นคนลั่นไกสังหารทุกคนรวมถึงลูกชายของตนเอง และตัวเดวิดเองที่ไม่มีกระสุนเหลือก็รอรับความตายอันแสนเจ็บปวดจากเสียงสัตว์ประหลาดที่ใกล้เข้ามา แต่ปรากฏว่าเมื่อเสียงนั้นเข้ามาใกล้กลับไม่ใช่สัตว์ประหลาด หากเป็นรถของกองทัพที่เข้ามาช่วยเหลืออพยพประชาชน และบนรถนั้นก็มีหญิงสาวที่ออกไปช่วยลูกในตอนแรกที่หมอกเริ่มปกคลุมกับลูก ๆ ของเธออยู่บนนั้นมองลงมาที่เขา นั่นทำให้เดวิดถึงกับเสียสติเพราะเขาเพิ่งลงมือสังหารทุกคนด้วยความไม่รู้ไปก่อนหน้านี้เอง

the mistthe mist

เมื่อมองปรากฏการณ์อเมริกา สะท้อนผ่านหนัง The Mist มฤตยูหมอกกิน (ความเป็น) มนุษย์

หากเปรียบหมอกปริศนาและสัตว์ประหลาดของเรื่อง คือ โรคระบาดที่อันตรายถึงชีวิต, ไวรัสที่มองไม่เห็นไม่รู้ที่มาไม่รู้จุดประสงค์ และไม่รู้วิธีการกำจัด บรรดาหน้ากากอนามัย การกักตัว และการทิ้งระยะห่างทางสังคมที่เป็นเกราะเดียวในการรับมือก็เปรียบดั่งอาคารซูเปอร์มาร์เก็ตที่แยกภายในกับภายนอกไว้เพียงหน้าต่างประตูที่ทำจากกระจกหนา อันสะท้อนถึงความรู้สึกไม่มั่นคงไม่ปลอดภัยของผู้คนที่อยู่ภายในที่ต้องคอยจ้องมองหมอกภายนอกอยู่ตลอดเวลา

the mistthe mist the mist

และในห้วงเวลาที่บีบคั้น ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าเจ้าไวรัสนี้คืออะไรกันแน่ และแสงแห่งความหวังหรือวัคซีนจะเกิดมาได้เมื่อไร ความสงสัยและความรู้สึกไม่มั่นคงส่งเสริมให้คำตอบที่เคยแข็งแกร่งในสังคมยุคเก่าก่อนกลับมาเป็นเครื่องมือให้ยึดเหนี่ยว ไม่ว่าจะเรื่องที่ผู้นำคนขาวเคยเปรยว่าแท้จริงไวรัสนี้ไม่อันตรายเป็นเพียงเฟกนิวส์ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดไว้ในช่วงแรกของการระบาด ความเชื่อในศาสนาที่ว่าโลหิตแห่งบุตรพระคริสต์จะปกป้องให้ผู้ศรัทธาไม่ติดเชื้อได้ และสุดท้ายคือเหตุผลเท่ ๆ ในวิถีอเมริกันชนที่ทรัมป์กับสมาชิกสภาคองเกรสบางส่วนเอามาส่งเสริมฐานความนิยมของตนเองในแบบฉบับอนุรักษ์นิยม ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ศักดิ์ศรีแบบอเมริกันที่ยอมป่วยตายแต่จะไม่ยอมหดหัว เชื้อโรค (จากแล็บจีนตามคำกล่าวหาของผู้นำอเมริกา) จะทำให้คนขาวอเมริกันรู้สึกพ่ายแพ้ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากคำสอนจากปากป้าคาร์โมดีที่ในช่วงภาวะปกติอาจเป็นคำที่ฟังดูเพ้อเจ้อ ชวนฝันจับต้องไม่ได้ แต่ในยามที่ใครก็ต่างหาสิ่งยึดเหนี่ยวสักอย่างนี้ คำพูดเหล่านั้นก็ชวนฮึกเหิมและช่วยลบล้างความหวาดกลัวในใจบางอย่างของคนกลุ่มหนึ่งลงได้ จนมันอาจกลายเป็นสิ่งที่อยู่เหนือเหตุผลหรอสามัญสำนึกปกติเช่นความปลอดภัย สุขอนามัยต่าง ๆ ไปด้วย

the mist

สุดท้ายแล้วการเปิดเมือง เปิดประเทศของอเมริกาหากเกิดขึ้นจริง ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าจะเกิดผลอย่างไรกันแน่ ประเทศอเมริกาอาจรับมือการติดเชื้อจำนวนมากได้สบาย ๆ หรือมีสูตรยารักษาที่ได้ผล ตลอดจนผลิตวัคซีนได้สำเร็จเพียงพอกับคนในประเทศ หรือมองในแง่ตายเอาดาบหน้าคือสามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติขึ้นสำเร็จ เป็นชัยชนะของป้าคาร์โมดี้และสาวกที่ว่าสุดท้ายสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงบททดสอบศรัทธาในตัวผู้นำและหลักการอเมริกันชนที่แค่ต้องอดทนแล้วลุยสู้ก็จะชนะ เช่นเดียวกับครั้งสงครามใหญ่ หรือสงครามก่อการร้ายที่ผ่าน ๆ มา

หรืออเมริกาจะตกสภาพเดียวกับเดวิดที่มองคนรักคนใกล้ตัวทยอยตายลงด้วยการตัดสินใจของพวกเขาเอง และมองดูประชาชนประเทศอื่นที่เลือกรับมือกับปัญหาแต่เนิ่น ๆ ร่วมมือกับแนวทางขององค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสาธารณสุขในประเทศอย่างเข้มแข็ง ค่อย ๆ นั่งรถบรรทุกปลอดเชื้อ (เจ้าหน้าที่บนรถในหนังยังใส่ชุด PPE เต็มรูปแบบ) ผ่านหน้าไปด้วยสายตาที่ยากจะอธิบาย

the mist

สถานการณ์จะออกหน้าไหนไม่มีใครตอบได้ เพราะหมอกที่ชื่อโควิด-19 นี้ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้เกี่ยวกับมากเกินไป คงได้แต่เอาใจช่วยว่าทางเลือกใด ๆ ของผู้มีอำนาจชี้นำในอเมริกา (หรือของโลก) คงจะไม่ทำร้ายชีวิตผู้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มากเกินไปนัก เพราะตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นระดับหลักพันคนในทุกวันก็ไม่มีโอกาสให้ตัดสินใจใหม่ได้หลายครั้งนักสำหรับอเมริกา และสำหรับบ้านเราคงต้องดูสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดและนำมาเป็นบทเรียนปรับตัวรับมืออย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพราะเราก็อยู่บนทางสองแพร่งที่ก้ำกึ่งระหว่างจะปิดเมืองต่อหรือจะผ่อนปรนลดการ์ดลงให้คนหาเช้ากินค่ำได้พอหายใจกันอดตายอยู่เช่นกัน

อ้างอิง

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส