เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา ทางสตูดิโออนิเมะของญี่ปุ่นซึ่งหลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินชื่อผ่านหูกันมาบ้างอย่าง Gainax นั้น ได้ยื่นทำเรื่องล้มละลายกับศาล เนื่องจากปัญหาความล้มเหลวทางด้านการจัดการหนี้สิน และไม่สามารถชดใช้ได้จนหมด โดยทาง Gainax เพิ่งจะผ่านการฉลองครบรอบก่อตั้ง 40 ปีมาเมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมานี้เอง แล้วทีนี้ลิขสิทธิ์อนิเมะในมือจะไปตกอยู่ที่ไหนบ้าง เราจะยังสามารถหาดูได้มั้ย และเรื่องราวสาเหตุของการล้มละลายมีที่มายังไง มาดูไปพร้อมกันเลยดีกว่า

สำหรับใครที่ยังไม่ค่อยคุ้นชื่อ Gainax ก่อนไปดูไทม์ไลน์กันว่าเกิดเรื่องราวอะไรขึ้นบ้าง ทางผมคิดว่าควรจะแนะนำให้รู้จักกับอนิเมะที่สร้างชื่อเสียงให้แก่สตูดิโอนี้กันก่อน และคิดว่าทุกคนต้องรู้จักกันแน่นอนไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Neon Genesis Evangelion ทั้งซีรีส์และมูฟวี่สองภาค (1995 – 1997), Tengen Toppa Gurren Lagann (2007), Panty & Stocking with Garterbelt (2010) ซึ่งเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คงไม่พ้นเรื่อง อีวานเกเลียน แน่นอน


เรียงไทม์ไลน์ของบริษัท Gainax

ก่อตั้งบริษัทโดยเริ่มต้นจากนักศึกษา

(1980) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทในยุคบุกเบิกมีหลายคนมาก ทุกคนในสมัยนั้นยังเป็นเพียงแค่นักศึกษา 7 คน โดยคนที่จะมีบทบาทสำคัญกับเรื่องราวในภายหลังมากที่สุด คือ ‘ฮิเดอากิ อันโนะ’ หรือคนที่เราจะได้ยินในชื่อของผู้กำกับอนิเมะเรื่อง อีวานเกเลียน ในภายหลัง (ส่วนผู้ก่อตั้งคนอื่น ๆ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่) โดยชื่อแรกของบริษัทจะใช้ชื่อว่า Daicon Film และเริ่มรับงานโปรเจกต์เล็ก ๆ จนเริ่มมีคนมองเห็นพรสวรรค์ของสตูดิโอแห่งนี้ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘Gainax Co., Ltd.’ (1985) ซึ่งมีที่มาจาก Giant และเติม x ไปเพื่อความดูดีและเป็นสากล

จุดกำเนิดของ ‘Evangelion’ ผลงานสร้างชื่อของบริษัท Gainax

ผลงานเรื่องแรกที่สร้างชื่อเสียงให้ ผู้กำกับอันโนะจากบริษัท Gainax เลยก็คือ ‘The Secret of Blue Water หรือชื่อไทยว่า สาวน้อยนาเดีย (1990)’ โดยผู้จัดสร้างหลักจะเป็น NHK โดยมีอันโนะเป็นผู้กำกับ จากนั้นเขาจึงได้เริ่มสร้างอนิเมะอีกเรื่องซึ่งมาจากสตูดิโอ Gainax โดยตรง และจะกลายเป็นผลงานสร้างชื่อให้เขาจนถึงปัจจุบันนั่นก็คือ ‘Neon Genesis Evangelion อีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา’ โดยเวอร์ชันแรกที่ออกฉายทางทีวีจะเป็นซีรีส์จำนวนทั้งหมด 26 ตอน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอนิเมะที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านรางวัลที่ได้รับ การเป็นที่พูดถึงในสังคมญี่ปุ่นจนเป็นกระแส รวมถึงการเกิดแฟรนไชส์สินค้าอีกมากมายตามมาอีกด้วย

จากนั้นมีการสร้างภาคมูฟวี่ออกมาอีกสองภาค เพื่อทำให้เนื้อหาของอีวานเกเลียนฉบับทีวีซีรีส์สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ถ้าให้อธิบายโดยสรุป ภาค ‘Death & Rebirth (1997)’ จะเป็นการนำเอาเนื้อหาของภาคทีวีซีรีส์ 24 ตอนมามัดรวมและเพิ่มเนื้อหาส่วนเสริมออกไปอีกนิดหน่อยประมาณ 20 นาที เพื่อเชื่อมไปสู่ ภาค ‘The End of Evangelian (1997)’ ที่เรียกได้ว่าจบสมบูรณ์ในแบบฉบับของเรื่องราวอีวานเกเลียนยุคเริ่มต้น

อีกเรื่องหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัทคือ ‘Tengen Toppa Gurren Lagann อภินิหารหุ่นทะลวงสวรรค์ (2007)’ อนิเมะออริจินัลของทางสตูดิโอที่ไม่ได้ดัดแปลงมาจากมังงะหรือไลต์โนเวล ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ดึงเอาความสนุกของอนิเมะแนวขี่หุ่นยนต์ต่อสู้มาทำให้คนดูติดใจและลุ้นไปตามกันได้ นอกจากนั้นยังสามารถดึงตัวผลงานขึ้นมาโดดเด่นท่ามกลางอนิเมะหุ่นยนต์มากมายในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นทั้ง Gundam 00 และ Code Geass ได้อีกด้วย

จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการลาออกของบุคลากรชั้นเลิศ

ทว่าอยู่ดี ๆ หนึ่งในทีมงานสำคัญที่ทำหน้าที่ผู้เขียนสตอรีบอร์ดให้แก่เรื่องอีวานเกเลียน อย่าง ‘ฮิกุจิ ชินจิ’ ก็ได้ตัดสินใจลาออก (1992) จาก Gainax โดยไม่ทราบเหตุผลพร้อมกับยกพวกทีมงานออกไป และในภายหลังเขาได้เป็นที่รู้จักขึ้นจากผลงานสร้างชื่อของเขาในเรื่อง ‘Shin Godzilla (2016)’

จากนั้นไม่นานหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Gainax อย่าง ฮิเดอากิ อันโนะ ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัทตามไปเช่นกัน (2007) แม้ว่าผลงานสร้างชื่อของเขาอย่างอีวานเกเลียนจะประสบความสำเร็จและสร้างกำไรให้บริษัทมากมายขนาดไหน แต่การตัดสินใจครั้งนี้ก็ย่อมต้องมีผลกระทบตามมาในภายหลังแน่นอน เพราะเขาเป็นคนสร้างและปั้นเรื่องอีวานเกเลียนมาเองกับมือ เขาได้ตัดสินใจเปิดบริษัทใหม่ในชื่อว่า ‘Khara, Inc.’ (2006) ในช่วงก่อนที่จะลาออกมาจาก Gainax เสมือนกับว่าเตรียมการรับมือการลาออกครั้งนี้ไว้แล้ว

คนต่อมาที่ลาออกก็คือ ผู้กำกับของอนิเมะเรื่อง กูเรนลากันน์ อย่าง อิมาอิชิ ฮิโรยูคิ และเขาได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ในชื่อว่า สตูดิโอ ‘Trigger (2011)’ และดึงเอาทีมงานบางส่วนที่เคยช่วยงานกันในสมัยอยู่ใน Gainax มาร่วมกันสร้างผลงานในบ้านใหม่อีกด้วย

จากการลาออกอย่างต่อเนื่องของพนักงาน ทำให้เริ่มจับสังเกตได้ว่าต้องมีปัญหาภายในอะไรสักอย่างเกิดขึ้นกับบริษัท Gainax แน่นอน เพราะไม่งั้นมันจะดูไม่สมเหตุสมผลเลย ทั้งที่ผลงานต่าง ๆ ล้วนสร้างชื่อเสียงให้บริษัทได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อีวานเกเลียน และกูเรนลากันน์ แต่ทีมงานที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองเรื่องนี้กลับทยอยลาออกกันอย่างต่อเนื่อง

ความเละเทะจากปัญหาภายในบริษัทที่ส่งผลกระทบจนมาถึงปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ทาง Gainax ได้เริ่มทำอะไรแปลก ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอนิเมะเหมือนในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านอาหารที่ดูแล้วจะไปไม่รอด, ก่อตั้งและดำเนินการบริษัท CG อย่างไม่มีการวางแผนมาก่อน, ผู้บริหารจัดการบริษัทให้เป็นเสมือนทรัพย์สินส่วนบุคคล ทั้งเรื่องการกู้ยืมเงินโดยไม่มีหลักค้ำประกัน และการลงทุนพลาด ซึ่งเหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้ Gainax เริ่มสูญเสียความสามารถในการบริหารไปอย่างต่อเนื่อง (เหตุผลทั้งหมดถูกเขียนอยู่ในแถลงการณ์ล้มละลาย)

จากนั้นในปี 2016 อันโนะได้ทำการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก Gainax ในเรื่องของค่าลิขสิทธิ์ที่ยังไม่ได้ชำระแก่เขาในนามของบริษัท Khara และในระหว่างที่อันโนะยังทำงานให้ Gainax สมัยอดีต โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ได้เรียกเงินเป็นจำนวนสูงถึง 100 ล้านเยน ที่ถูกกู้ยืมมาตั้งแต่ปี 2014 แต่ก็ยังถูกบ่ายเบี่ยงโดยประธานของ Gainax ในสมัยนั้นอย่าง ฮิโรยูกิ ยามากะ

ถัดมาในปี 2018 บริษัท Gainax ได้ถูกซื้อกิจการไปและทำการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘Gaina’ และยังได้ทำการโอนหุ้นประธานบริษัทไปให้แก่ ‘โทโมฮิโระ มาคิ’ ผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการสร้างภาพยนตร์เลย และเลยเถิดไปจนถึงจุดที่เขาคนนั้นโดนจับในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ (2019) และถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2.5 ปี ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการบริหารไปอย่างสิ้นเชิงและยังทำให้หนี้ที่มีอยู่แล้วก่อตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากนั้นดูเหมือนสถานการณ์จะเข้าสู่ช่วงเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะทำการเปลี่ยนทีมผู้บริหารก็แล้ว (2020) การได้รับความช่วยเหลือจากทางบริษัท Khara ในเรื่องของการซื้อลิขสิทธิ์ไปเพื่อสนับสนุนเรื่องการเงินก็แล้ว แต่เหมือนสถานการณ์จะไม่สามารถกอบกู้ได้ หนี้ที่มีก็ยังท่วมหัวอยู่ดี ทาง Gainax จึงได้ตัดสินใจกระจายเรื่องของลิขสิทธิ์ในมือเรื่องต่าง ๆ ออกไปให้แก่สตูดิโออื่นอย่างเหมาะสม และยื่นฟ้องศาลเกี่ยวกับการล้มละลายของบริษัทในเวลาต่อมา (2024)

ประกาศล้มละลายอย่างเป็นทางการบนหน้าเว็บไซต์ Official ของ Gainax

ประกาศแถลงการณ์รับมือเรื่องล้มละลายของ Gainax จาก Khara


บริษัทอื่น ๆ ที่แยกตัวออกมาจาก Gainax เป็นยังไงบ้างนะ ?

ขอเริ่มต้นด้วย Studio Khara ของผู้กำกับอันโนะ ผู้ที่สร้างผลงานอีวานเกเลียนออกมา เขาได้จัดการดึงเอาลิขสิทธิ์ของเรื่อง อีวานเกเลียนออกมาจาก Gainax และสร้างใหม่อีกรอบในชื่อว่า ‘Rebuild of Evangelion’ เป็นภาพยนตร์ต่อเนื่องกันทั้งหมด 4 ภาค แทบจะเหมือนการรีเมกและตีความเนื้อหาใหม่ทั้งหมด แต่ยังมีจุดที่นำไปเชื่อมโยงกับทีวีซีรีส์อยู่บ้าง โดยถ้าใครอยากจะเริ่มต้นดูก็สามารถดูแค่เฉพาะภาคนี้ได้ โดยเรียงลำดับตามนี้

The Movie 2007 : Evangelion 1.0 You Are (Not) Alone, อีวานเกเลียน 1.11 (ไม่ได้) อยู่ตามลำพัง

The Movie 2009 : Evangelion 2.0 You Can (Not) Advance, อีวานเกเลียน 2.22 พัฒนาต่อไป (ไม่) ได้

The Movie 2012 : Evangelion 3.0 You Can (Not) Redo, อีวานเกเลียน 3.33 กลับไปแก้ไข (ไม่) ได้

The Movie 2021 : Evangelion 3.0 + 1.01 Thrice Upon a Time, อีวานเกเลียน 3.0 + 1.01 สามครั้งก่อน เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว

โดยทุกภาคสามารถดูแบบลิขสิทธิ์แปลไทยได้ทาง Amazon Prime

นอกจากนั้นก็ยังมีการไปร่วมงานกับผลงานอื่นอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น Shin Godzilla, Shin Ultraman, Shin Kamen Raider หรือ ผลงานล่าสุดของทาง Khara โดยตรงเลยก็คือหนึ่งในเรื่องที่กระแสกำลังมา ณ ช่วงเวลานี้อย่าง ‘ไคจูหมายเลข 8’ อีกด้วย

ส่วนทางด้าน Studio Trigger ของผู้กำกับ อิมาอิชิ ฮิโรยูคิ จากผู้สร้าง กูเรนลากันน์ ก็ได้ผลิตผลงานออกมามากมายโดยเริ่มต้นที่เรื่องแรกซึ่งเป็นผลงานเปิดตัว อย่างเรื่อง Kill la Kill จากนั้นเรียงลำดับตามเวลาและผลงานที่พอมีลิขสิทธิ์ในไทยให้รับชม ก็จะได้แก่ เรื่อง SSSS.DYNAZENON (Bilibili), Star Wars: Visions (Disney+ Hotstar), Cyberpunk: Edge runners (Netflix), และผลงานล่าสุดที่กำลังฉายอยู่อย่าง สูตรลับตำรับดันเจี้ยน (Netflix)


สรุป

จากทั้งหมดที่เรียงไทม์ไลน์เหตุการณ์มา ปัญหาหลักน่าจะเกี่ยวกับผู้บริหารภายใน Gainax ตั้งแต่ต้น แม้จะมีการรวบรวมบุคลากรในการผลิตอนิเมะชั้นเลิศเอาไว้มากมาย จนสามารถสร้างผลงานที่มีชื่อเสียงได้แล้วก็ตาม แต่จากการบริหารทางด้านการเงิน ก็สามารถทำให้หลายคนพร้อมตัดสินใจลาออกไปในทางเดียวกันได้ และนั่นยิ่งส่งผลให้บริษัทไม่สามารถผลิตอนิเมะต่อไปได้อีก ต่อเนื่องไปจนถึงการที่ไม่สามารถหาเงินเข้าบริษัทได้ ในขณะที่หนี้ที่มีก็ยังก่อตัวขึ้นอีกเรื่อย ๆ บวกกับผู้บริหารยังไปก่อเรื่องอื้อฉาวเพิ่ม ทั้งหมดนี้ทำให้ Gainax ต้องยื่นฟ้องล้มละลายในที่สุด

สมาชิกที่ไหวตัวทันถึงเรื่องราวเหล่านี้ พวกเขาก็ได้หาเส้นทางของตัวเองในการเดินต่อไปในสายผู้ผลิตอนิเมะ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นกับบริษัทใหม่อย่าง Khara หรือ Trigger จนสามารถผลิตผลงานคุณภาพให้เราได้รับชมกันจนทุกวันนี้ อีกทั้งยังคอยช่วยซัปพอร์ตบริษัทเก่าอยู่บ้าง (Khara ซื้อลิขสิทธิ์) แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถยื่นมือช่วยเหลือได้จนต้องยื่นล้มละลาย แต่ในส่วนของการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ของ Gainax นั้น คิดว่าจะได้รับการประกาศตามหลังออกมาอีกที หลังจากทำเรื่องล้มละลายเสร็จสิ้น