[รีวิว] Old: เกิด แก่ เจ็บ ตาย ชั่วข้ามวัน งานที่ลงตัวที่สุดในยุคหลังของ M. Night Shyamalan
Our score
6.5

Release Date

29/07/2021

ความยาว

108 นาที

ผลงานของผู้กำกับ

'The Sixth Sense' (1999), 'Split' (2016), 'Glass' (2019) เป็นต้น

[รีวิว] Old: เกิด แก่ เจ็บ ตาย ชั่วข้ามวัน งานที่ลงตัวที่สุดในยุคหลังของ M. Night Shyamalan
Our score
6.5

OLD

จุดเด่น

  1. พลอตและการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ ตัวละครมีสีสัน ปริศนาน่าติดตาม วิธีการเล่าด้วยภาพทั้งเลี่ยงหลบและเคลื่อนกล้องมีความหมายน่าสนใจ ลงตัวในหลาย ๆ แง่

จุดสังเกต

  1. ซีจียังมีช่วงแปลก ๆ จุดเฉลยไม่ดึงอารมณ์ผู้ชมให้สุดสมการรอคอย จบธรรมดาไปแต่ก็ถือว่าเหมาะแบบไม่ท่ายากเกินควร
  • บท

    7.0

  • โปรดักชัน

    6.0

  • การแสดง

    6.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    6.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.0

เรื่องย่อ: ครอบครัวหนึ่งไปเที่ยวพักผ่อนที่รีสอร์ตหรูและพบชายหาดส่วนตัวอันเงียบสงบ แต่ความสวยงามก็เปลี่ยนเป็นความตื่นตระหนกอย่างรวดเร็ว เมื่อดูเหมือนว่าหาดแห่งนี้ไม่อาจหนีออกไปได้และมันกำลังคร่าทุกชีวิตด้วยเวลาที่วิ่งอย่างผิดปกติ จนชั่วชีวิตย่นย่อเหลือเพียงหนึ่งวัน

เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน (M. Night Shyamalan) เป็นผู้กำกับที่มีผลงานแนวสยองขวัญในสายหักมุมอันโดดเด่นเป็นดาวรุ่งแห่งยุคด้วยผลงานหนังเรื่องแรกอย่าง ‘The Sixth Sense’ (1999) แต่มันก็กลายเป็นอุปสรรคที่ชื่อว่าการก้าวข้ามความสำเร็จไม่พ้น เมื่อผลงานหลังจากนั้นของเขาไม่สามารถกลายเป็นหนังที่ดีตามความคาดหวังสูงลิ่วของแฟนหนังได้เลย แม้หลายเรื่องจะทำออกมาได้ค่อนข้างดีทีเดียวไม่ว่าจะ ‘Unbreakable’ (2000), ‘Signs’ (2002) หรือ ‘The Village’ (2004) ก็ตาม ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคฮันนีมูนแรกของชยามาลานกับผู้ชม

ก่อนจะมีผลงานที่ล้มเหลวตามติดออกมาอีกหลายเรื่อง เพราะเขาพยายามหนีจากคำว่าผู้กำกับหนังสยองขวัญและหนังหักมุมที่เป็นทั้งพรและคำสาปสำหรับเขา กว่าจะตั้งหลักกลับมาได้ก็จากการร่วมงานกับเจ้าพ่อหนังสยองขวัญค่ายบลัมเฮาส์ใน ‘The Visit’ (2015) เป็นช่วงกว่าทศวรรษทีเดียวที่เขาตุปัดตุเป๋ไป และกลับมาได้ถูกทางขึ้นเรื่อย ๆ หรืออีกมุมก็อาจกล่าวได้ว่าแฟนหนังลดความคาดหวังลงและให้คุณค่ากับงานของชยามาลานตามที่เป็นจริงเสียที

หลังจากจบไตรภาคซูเปอร์ฮีโรของเขาเองด้วยหนังภาคต่อของ ‘Unbreakable’ อย่าง ‘Split’ (2016) และ ‘Glass’ (2019) ก็มาถึงคำถามต่อไปว่า แล้วหลังจากนี้ชยามาลานจะไปในทิศทางไหนต่อไป ซึ่งคำตอบได้ออกมาผ่านหนังที่พลอตน่าสนใจอันเป็นจุดเด่นของชยามาลานที่เรื่องย่อเอาผู้ชมอยู่ทุกครั้ง แต่วิธีการเล่าเรื่องของเขาดูเป็นธรรมชาติไม่ท่ายากมากเกินไป ซึ่งก็คือ ‘Old’ (2021) เรื่องนี้เอง

‘Old’ ดัดแปลงจากกราฟิกโนเวลสัญชาติฝรั่งเศสเรื่อง ‘Sandcastle’ (2013) ของ เฟรเดอริก พีเตอร์ส (Frederik Peeters) และ ปิแยร์ ออสการ์ เลวี (Pierre Oscar Lévy) ว่าด้วยกลุ่มคนที่มาเจอปรากฏการณ์ธรรมชาติลึกลับเกินความเข้าใจเมื่อเวลาที่ชายหาดส่วนตัวแห่งหนึ่งได้เดินเร็วมากจนทำให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่กลายเป็นคนชราและตายลงภายในวันเดียว

ชยามาลานอาจเป็นแฟนหนังสือและได้ดึงเอาหลายอย่างจากกราฟิกโนเวลนี้มาใช้ทั้งพลอต ตัวละครหลายตัวที่ต่างกันแค่ชื่อและภูมิหลัง แต่ในภาพรวมก็อาจกล่าวได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งนี้จุดสำคัญที่ตัวหนังกับกราฟิกโนเวลนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือคำเฉลยที่ชัดเจน ในขณะที่กราฟิกโนเวลนั้นปล่อยให้ผู้ชมคิดเองว่าเรื่องราวทั้งหมดมันคืออะไรกันแน่และจบลงอย่างทิ้งคนดูไว้เคว้งคว้างกลางความเป็นไปได้มากมายที่มองได้ว่าเป็นเสน่ห์โดยตั้งใจ

ชยามาลานก็กลับเลือกที่จะทำให้หนังเสพง่ายด้วยการหยอดลีลาระหว่างทางให้น่าสนใจขึ้นด้วยทั้งปริศนาชายลึกลับที่แอบมองกลุ่มตัวละครตายอยู่บนหน้าผาไกลลิบ อนึ่งจะสื่อว่าเรื่องทั้งหมดมีเบื้องหลังบางอย่างอยู่ และการขมวดความตึงเครียดทางอารมณ์ใส่กันอย่างรวดเร็วของตัวละครจนเรื่องดันไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง มีคนเกิดขึ้น แก่ตัวลง เจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังที่ทวีความรุนแรงเพราะเวลาที่เร่งอาการออกมา จนไปถึงการตายทั้งเพราะปรากฏการณ์ธรรมชาติ การหนีความกลัวของตัวละคร และการต่อสู้อันตึงเครียด มันก่อผสมดราม่าแบบหนังระทึกขวัญที่ลงตัวขึ้นอย่างมาก และน่าจะถูกจริตผู้ชมที่เป็นฐานส่วนใหญ่โดยง่าย

OLD

แต่ในความดีงามที่ทำให้เรื่องราวน่าติดตามขึ้นตามที่ว่ามา ทว่าจุดที่น่าเสียดายก็มีมากตามไปเช่นกัน นั่นคือเสน่ห์ของปริศนาความลึกลับนั้นเมื่อมันถูกเฉลยมันก็กระจ่างเสียจนไม่มีอะไรให้ต้องตรึงใจเราไว้เลย ท่าลงของหนังนั้นอาจกล่าวได้ว่าลงตัว เหมาะสมตามตรรกะที่ปูมาและไม่แถเอาจนเกินไป ทว่ามันก็ช่างธรรมดาจนขาดความน่าตื่นตะลึงไปเช่นกัน เป็นหักมุมที่ไม่ชวนให้รู้สึกอะไรนัก แถมจังหวะการเล่าเรื่องช่วงจบก็ราบเรียบ ตามจริงจนไม่สาสมกับความรู้สึกที่ผู้ชมรอคอยการเอาคืนของผู้ถูกกระทำมาตลอดเรื่องแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดีหนังก็มีช่วงเวลาที่ดีในแง่ของดราม่า ไม่ว่าจะปัญหาความสัมพันธ์ของคู่รักที่ค้นพบว่าแท้จริงพวกเขารักกันมากแค่ไหนเมื่อเวลามันรวบรัดลง ปัญหาความไร้เดียงสาและอ่อนประสบการณ์ในชีวิตและด้านอารมณ์ของเด็กน้อยที่กลายเป็นผู้ใหญ่อย่างไม่เต็มใจก็ทำให้เราได้ครุ่นคิดตามหลายอย่าง จะว่าไปมันก็เป็นหนังที่ทำได้ดีทีเดียวทั้งส่วนดราม่า และส่วนการเขย่าขวัญ

และที่ต้องชื่นชมอีกอย่างคือวิธีการเคลื่อนกล้องเพื่อเล่าเรื่องด้วยภาพ ชยามาลานใช้วิธีการหมุนกล้องเป็นวงกลมเพื่อเล่นกับการเปลี่ยนเวลา การค้นหาความจริง และการสร้างภาวะความบิดเบี้ยวของความเป็นจริงได้อย่างน่าสนใจมากทีเดียวที่วิธีการเดิมแต่ถูกใช้ต่างเป้าประสงค์ได้หลากหลายผลลัพธ์เช่นนี้

OLD

‘Old’ เป็นหนังที่เชื่อว่าชยามาลานได้ตกตะกอนบางอย่างในชีวิตของเขาวาดมันออกมาผ่านพลอตที่มีความเป็นปรัชญาในตัว ยิ่งตัวเขาเองผ่านทั้งจุดรุ่งโรจน์และตกต่ำจนกลับมายืนได้อีกรอบ มันก็ทำให้การเคลื่อนไปของหนังดูบอกเล่าบทเรียนของการใช้ชีวิตอยู่ในที และมันก็ไม่ได้จะผลักใครออกไปแต่กลับใช้สูตรสำเร็จของหนังแบบกระแสนิยมดึงคนที่สนใจแต่ความสยองขวัญและปริศนาให้อยู่ด้วยตลอดเวลาได้ และแม้จะสร้างการจบที่ไม่ได้น่าประทับใจอะไร แต่เมื่อมองโจทย์ต่าง ๆ ของชยามาลานแล้วก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือหนังที่ลงตัวในแทบทุกด้านโดยไม่พยายามเป็นตำนานอะไร ง่าย ๆ แต่สมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งก็อาจเป็นทิศทางใหม่ที่ชยามาลานค้นพบแล้วก็ได้

จะแบกโลกและความคาดหวังผู้คนจนทำให้เราไม่เป็นธรรมชาติไปทำไม ชีวิตเราก็แค่นี้ ให้ค่าคนใกล้ตัวและความสุขดีกว่า เพราะชีวิตมันสั้นเพียงชั่วพริบตาจริง ๆ

OLD

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส