[รีวิว] A Haunting in Venice: สืบลึกลับ (ไม่) ซับซ้อน หลอนแบบเบา ๆ
Our score
7.1

Release Date

31/10/2023

แนว

อาชญากรรม/ดราม่า

ความยาว

1.47 ช.ม. (107 นาที)

เรตผู้ชม

PG-13

ผู้กำกับ

เคนเนธ บรานาห์ (Kenneth Branagh)

SCORE

7.1/10

[รีวิว] A Haunting in Venice: สืบลึกลับ (ไม่) ซับซ้อน หลอนแบบเบา ๆ
Our score
7.1

A Haunting in Venice | ฆาตกรรมหลอนแห่งนครเวนิส

จุดเด่น

  1. แฝงเรื่องราวผลกระทบหลังสงครามมาเป็น Conflict ได้น่าสนใจ
  2. เน้นใช้การสอบสวนปูมหลัง ความสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงต่าง ๆ ของตัวละคร มีความซับซ้อนแต่ดูไม่ยาก
  3. นักแสดงแม่เหล็กมีน้อย แต่กระจายบทได้ดี มิเชลล์ โหย่ว เปล่งประกาย น้อง จู๊ด ฮิล ก็ขโมยซีน
  4. ถ่ายทอดบรรยากาศโกธิกของเมืองเวนิสโบราณได้ออกมามืดหม่น

จุดสังเกต

  1. ตัวหนังละการแสดงปะติดปะต่อ และข้ามไปเฉลยตัวคนร้าย ทำให้เสน่ห์หนังแบบ Whodunnit หายไปพอสมควร
  2. บรรยากาศสยองขวัญและความโบราณกอธิกทำได้ถึง มี Jump Scare พอสะดุ้ง แต่อาจจะไม่ได้ถึงขั้นสยองน่ากลัว คอสยองขวัญอาจไม่โดนเส้น
  • คุณภาพด้านการแสดง

    6.5

  • คุณภาพโปรดักชัน

    7.4

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    6.4

  • ความบันเทิง

    7.4

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    7.7


แอร์กูล ปัวโรต์ (Hercule Poirot) นักสืบหนวดงามนามกระฉ่อนกลับมาแล้วครับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาพาคนดูไปผจญภัยในเรื่องราวแนวรหัสคดีฆาตกรรมตามแบบฉบับของ อกาธา คริสตี (Agatha Christie) ผ่านฝีมือการรับบทและกำกับโดย เคนเนธ บรานาห์ (Kenneth Branagh) ครั้งแรกเขาพาเราไปพบกับคดีฆาตกรรมบนรถไฟสายด่วนใน ‘Murder on the Orient Express’ (2017)

และกลับมาอีกครั้งในธีมกลิ่นอายตะวันออกกลาง กับคดีฆาตกรรมปริศนากลางเรือสำราญใน ‘Death on the Nile’ (2022) และในครั้งนี้ นักสืบจอมเป๊ะผู้รักในขนมเค้ก กลับมาไขคดีอีกครั้งในธีมบรรยากาศสยองขวัญกลางเมืองเวนิส ใน ‘A Haunting in Venice’ ที่ดัดแปลงมาจาก ‘Hallowe’en Party’ หนังสือนิยาย Whodunit ผลงานของ อกาธา คริสตี ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1969

A Haunting in Venice ฆาตกรรมหลอนแห่งนครเวนิส Courtesy of 20th Century Studios

ภาคนี้เล่าเรื่องของเมืองเวนิสในปี 1947 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ แอร์กูล ปัวโรต์ (เคนเนธ บรานาห์ – Kenneth Branagh) นักสืบชื่อดังหนีมาใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบสันโดษ โดยมี วิตาเล ปอร์ตโฟกลิโอ (ริคาโด สคามาชิโอ – Riccardo Scamarcio) อดีตตำรวจคอยเป็นบอดีการ์ด วันหนึ่ง เอเดรียน โอลิเวอร์ (ทีนา เฟย์ – Tina Fey) เพื่อนเก่านักเขียนนิยาย ได้ชักชวนให้เขาไปเข้าร่วมงานเทศกาลฮาโลวีนในปราสาทแห่งหนึ่ง ที่มีไฮไลต์ลับ ๆ คือการทำพิธีเข้าทรงของ จอยซ์ เรย์โนลด์ (มิเชล โหย่ว – Michelle Yeoh) คนทรงที่ได้รับการว่าจ้างจากอดีตนักร้องโอเปรา โรวีนา เดรก (เคลลี ไรลีย์ – Kelly Reilly) ให้ทำพิธีติดต่อกับวิญญาณของ อลิเซีย เดรก (โรวัน โรบินสัน – Rowan Robinson) ลูกสาวของโรวีนาที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาเมื่อปีก่อน

แต่คดีกลับยิ่งซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม เมื่ออยู่ดี ๆ ก็เกิดเหตุฆาตกรรมครั้งใหม่ขึ้นท่ามกลางวงล้อมความลึกลับน่าสงสัยของคนในบ้าน ทั้ง ดร. เลสลี เฟอร์ริเยร์ (เจมี ดอร์แนน – Jamie Dornan) แพทย์ประจำตระกูล และ ลีโอโปล เฟอร์ริเยร์ (จู๊ด ฮิล – Jude Hill) ลูกชายอัจฉริยะ มักซีม เจอร์ราด (ไคล์ อัลเลน – Kyle Allen) อดีตคู่หมั้นของอลิเซีย โอลกา เซมีนอฟ (คามิล กอตติน – Camille Cottin) แม่บ้านข้างกายของโรวีนา รวมทั้ง เดสเดอร์โมนา ฮอลแลนด์ (เอ็มมา แลร์ด – Emma Laird) และ นิโคลัส ฮอลแลนด์ (อลี ข่าน – Ali Khan) คู่พี่น้องผู้ช่วยของเรย์โนลด์ ปัวโรต์ผู้ไม่เชื่อในเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ จึงต้องเข้าไปพัวพันกับคดีที่เต็มไปด้วยเบาะแสการควานหาตัวฆาตกรที่ลี้ลับยิ่งกว่าเดิม

A Haunting in Venice ฆาตกรรมหลอนแห่งนครเวนิส Courtesy of 20th Century Studios

ภาคนี้ยังคงได้ ไมเคิล กรีน (Michael Green) มือเขียนบทจาก 2 ภาคแรกกลับมาดัดแปลงเรื่องราวจากนิยายที่ไม่เคยถูกนำมาดัดแปลงมาก่อน โดยเลือกที่จะเปลี่ยนรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่าง และก็ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นภาคที่มีความแตกต่างจากภาคก่อนหน้าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการจับธีมความเป็นหนังสยองขวัญที่มีเรื่องของวิญญาณ และความเชื่อมาเป็นแกนหลัก ผ่านบรรยากาศความโบราณแบบกอธิก (Gothic) เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อ้างอิงว่าเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ และการใส่ Jump Scare เอาไว้แบบพอให้สะดุ้ง แต่ยังไม่ได้ถึงขั้นสยองขวัญ ถ้าหากจะเทียบกับหนังสยองขวัญโดยทั่วไป

เอาเข้าจริง สิ่งที่น่ากลัวกว่าบรรยากาศสยองในหนัง คงเป็นเรื่องของคดีความและความเกี่ยวพันบรรดามีที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้มากกว่า หนังใช้จังหวะหลังเกิดเหตุฆาตกรรมในการปูเรื่องราวที่มาที่ไปและความเชื่อมโยงของตัวละครทั้งหมดผ่านการสืบสวนสอบสวนของนักสืบปัวโรต์ สิ่งที่ตัวหนังแฝงเอาไว้ได้น่าสนใจและน่าขนลุกกว่าก็คือ การสะท้อนผลพวงความโหดร้ายหลังสงคราม ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ผู้ลี้ภัย ในขณะที่หมอเลสลี หรือแม้แต่ปัวโรต์ เป็นตัวแทนของผู้เปี่ยมทักษะ แต่ต้องเผชิญกับความสะเทือนใจหลังสงคราม (Post-Traumatic Stress Disorder – PTSD) จนตัวเองต้องแตกสลาย คนทรงอย่างเรย์โนลด์จึงเป็นตัวแทนของความหวังสุดท้ายของคนยุคนั้น

A Haunting in Venice ฆาตกรรมหลอนแห่งนครเวนิส Courtesy of 20th Century Studios

แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากว่า หนัง Whodunnit แบบ อกาธา คริสตี ที่ผ่านมา 2 เรื่องของบรานาห์จะถือเป็นงานในระดับดีเยี่ยม เพราะก็ต้องยอมรับว่า ทั้ง 2 ภาคต่างก็มีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการวางปมเบาะแสที่นำไปสู่การไขคดีปริศนาให้ผู้ชมได้ตามเก็บตามสืบ ภาคนี้ยังใช้การให้เบาะแสด้วยวิธีการให้เวลาในการปูเรื่องให้เห็นปูมหลัง ความสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงต่าง ๆ ของตัวละคร การวางหมากล่อหลอกให้ตัวละครบางตัวมีความน่าสงสัยเป็นพิเศษ (ตามจังหวะความสงสัยของลุงปัวโรต์) ผนวกเข้ากับความเหนือธรรมชาติ การต่อสู้กับสิ่งลี้ลับ และแนวคิดความเชื่อในเรื่องผีสางมาเป็น Conflict ให้ปัวโรต์และคนดูทำงานสืบยากขึ้นไปอีก แต่ก็ไม่ได้ยากจนถึงขั้นตามไม่ทัน

และอีกข้อดีก็คือ ปราสาทในเรื่องนี้ดูจะเอื้อต่อการสร้างพื้นที่ปิดตาย (ที่เอื้อต่อการเกิดเหตุไม่น่าไว้วางใจ) ได้สมบูรณ์แบบกว่าเรือสำราญบน ‘Death on the Nile’ เสียอีก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การที่ตัวหนังใช้วิธี ‘ละ’ การปะติดปะต่อไขคดี ที่ควรเป็นหัวใจและไม้เด็ดของหนังหรือนิยาย Whodunnit ออกไปจนเกือบหมด และให้ปัวโรต์ ‘โพล่ง’ เฉลยการไขคดีจากการปะติดปะต่อในหัวตัวเองออกมาจนหมดเปลือกแทน

A Haunting in Venice ฆาตกรรมหลอนแห่งนครเวนิส Courtesy of 20th Century Studios

สิ่งนี้ทำให้คนดูยิ่งถอยห่างจากบรรดาเบาะแสจากการสอบปากคำ รวมทั้งวัตถุพยานต่าง ๆ นานา กลายเป็นเพียงคนดูที่เฝ้าดูการสืบสวนคดี และเฝ้าติดตามการทำงานของมงซิเออร์ปัวโรต์อยู่ห่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่ามันก็ทำให้ความสนุกในแบบ Whodunnit ที่คนดูควรน่าจะได้มีส่วนร่วมลดลงไปด้วย

อีกสิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้ค่อนข้างน่าพอใจ แม้ในภาคนี้จะเสียเปรียบตรงที่มีดารา A-List น้อยกว่า 2 ภาคที่แล้วก็คือการวางตัวนักแสดงที่ดี บรานาห์ยังคงถ่ายทอดความเป็นนักสืบปัวโรต์ ในฐานะนักสืบผู้มีแนวคิดต่อต้านสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ส่วนนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง มิเชลล์ โหย่ว ก็สามารถรับบทเป็นคนทรงที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับปัวโรต์ได้น่าสนใจ รวมทั้งตัวละครอื่น ๆ ที่ต่างก็มีพื้นที่ของตัวเองแบบไม่มีใครจมหายระหว่างทาง

นักแสดงอีกคนที่ขโมยซีนอย่างคาดไม่ถึงก็คือน้อง จู๊ด ฮิล ในบท ลีโอโปล เฟอร์ริเยร์ ลูกชายหมอที่มีความอัจฉริยะ ที่มีของให้ปล่อยอย่างถูกจังหวะ อีกจุดเด่นที่ต้องชมเช่นเดียวกับทุก ๆ ภาคก็คือ การถ่ายทอดบรรยากาศสไตล์โกธิกของเมืองเวนิสโบราณ ที่ให้บรรยากาศสยองขวัญมืดหม่น รวมทั้งการใช้มุมกล้องที่คราวนี้ดูจะเน้นการ Close-Up ตัวละครเป็นพิเศษ ราวกับว่าจะให้ผู้ชมคอยจับตาดูสีหน้าท่าทีของตัวละครไปด้วยระหว่างชม

นับเป็นความน่าสนใจที่เรื่องราวของนักสืบ แอร์กูล ปัวโรต์ สามารถเดินทางมาได้ถึงภาคที่ 3 แล้ว แม้ตอนฉายในโรงหนังจะทำรายได้ไม่ค่อยงดงามนัก จนต้องเอามาลงสตรีมมิงอย่างรวดเร็ว แต่ก็นับได้ว่า ‘A Haunting in Venice’ ก็ยังคงเป็นบันเทิงคดี Whodunnit ที่อาจจะไม่ได้สมบูรณ์ที่สุด (แต่จะมองว่าเป็น Whodunnit ที่มีความลึกลับซับซ้อน แต่ดูได้ไม่ยากก็พอไหวแหละ) ถ้านับในฐานะหนังแฟรนไชส์ ผู้เขียนมองว่าภาคนี้คือภาคที่ลงตัวมากที่สุดในหลาย ๆ องค์ประกอบ อีกสิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกก็คือ บรานาห์สามารถสร้างภาพและคาแรกเตอร์ของมงซิเออร์ปัวโรต์ได้ชัดเจนและมีมิติมากพอสำหรับภาคต่อ ๆ ไปแล้วล่ะ ถ้าเกิดยังจะมีโปรเจกต์ทำภาคต่อไปอยู่นะ


A Haunting in Venice ฆาตกรรมหลอนแห่งนครเวนิส Courtesy of 20th Century Studios

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส