[รีวิว] Atlas ล่าข้ามจักรวาล: งานไซไฟประเด็นช้ำที่ไม่จำเป็นต้องมี AI ก็ได้ (มั้ง)
Our score
5.2

Release Date

24/05/2024

แนว

แอ็กชัน/ดราม่า/ไซไฟ

ความยาว

1.58 ช.ม. (118 นาที)

เรตผู้ชม

PG-13

ผู้กำกับ

แบรด เพย์ตัน (Brad Peyton)

[รีวิว] Atlas ล่าข้ามจักรวาล: งานไซไฟประเด็นช้ำที่ไม่จำเป็นต้องมี AI ก็ได้ (มั้ง)
Our score
5.2

Atlas | ล่าข้ามจักรวาล

จุดเด่น

  1. งานสร้าง โปรดักชัน CGI ถือว่าค่อนข้างดีในระดับงานสตรีมมิง
  2. การแสดงของ เจนนิเฟอร์ โลเปซ แบกทุกอย่างของตัวหนัง

จุดสังเกต

  1. ไซไฟที่เล่าด้วยพล็อตซ้ำ ๆ ที่ไม่มีอะไรใหม่และไม่ได้มีอะไรยากเกินคาดเดา
  2. เจนนิเฟอร์ โลเปซ แบกตัวหนังก็จริง แต่บทก็น่ารำคาญด้วย
  3. บทพูดทุกตัวแข็งทื่อเหมือนปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งตัวละครมนุษย์ด้วย
  • คุณภาพด้านการแสดง

    6.4

  • คุณภาพโปรดักชัน

    6.3

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    4.5

  • ความบันเทิง

    4.1

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    4.7


Netflix ยังคงมุ่งมั่นกับการพยายามนำเอาซูเปอร์สตาร์เบอร์ใหญ่มาลงจอของตัวเองให้ได้อยู่เสมอครับ และคราวนี้ก็มาถึง ‘Atlas’ หรือ ‘ล่าข้ามจักรวาล’ โปรเจกต์หนังแอ็กชันไซไฟที่แฝงประเด็นเกี่ยวกับ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ทุนสร้างระดับ 100 ล้านเหรียญ พร้อมกับการดึงซูเปอร์สตาร์ค้างฟ้าตัวแม่อย่างเจนนิเฟอร์ โลเปซ (Jennifer Lopez) มารับบทนำ ควบหน้าที่โปรดิวเซอร์ โดยตัวหนังได้ แบรด เพย์ตัน (Brad Peyton) ผู้กำกับที่ก่อนหน้านี้มักจะมีผลงานการกำกับหนังที่มีเฮียหิน ดเวย์น จอห์นสัน (Dwayne Johnson) แสดงนำหลายเรื่อง อาทิ ‘San Andreas’ (2015) และ ‘Rampage’ (2018) มาทำหน้าที่กำกับ

เรื่องราวของ ‘Atlas’ เกี่ยวกับแอทลาส เชปเพิร์ด (เจนนิเฟอร์ โลเปซ – Jennifer Lopez) นักวิเคราะห์ข้อมูลผู้เก่งกาจ แต่มีปมบางอย่างในอดีต จึงทำให้เธอเกิดความไม่เชื่อใจทั้งมนุษย์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แอทลาสได้รับภารกิจจากนายพล เจค บูธ (มาร์ค สตรอง – Mark Strong) แห่งหน่วยงาน ICN ที่ได้มอบหมายให้ส่งออกไปค้นหาฮาร์แลนด์ (ซือมู่ หลิว – Simu Liu) ผู้ก่อการร้าย AI ที่เคยเป็นผู้นำก่อกบฏเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3 ล้านคน และเดินทางหลบหนีไปกบดานในอวกาศ

Atlas 2024 Courtesy of Netflix

แอทลาสจึงต้องเดินทางไปยังดาวเคราะห์บนกาแล็กซีแอนโดรเมดา เพื่อเข้าร่วมภารกิจในการไล่ล่าหุ่นยนต์ เพื่อปกป้องมนุษยชาติจากเงื้อมมือของ AI เธอจึงต้องเชื่อมโยงเข้ากับหุ่นยนต์ ARC Suit ที่ควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า สมิธ (ให้เสียงโดย เกรกอรี เจมส์ โคแฮน – Gregory James Cohan) แต่ความยากไม่ใช่แค่เพียงการไล่ล่าฮาร์แลนด์ที่กำลังมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงโลกเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าเธอเองกับวายร้าย AI ผู้นี้จะมีอดีตบางอย่างที่เชื่อมโยงกันอยู่ด้วย

นี่คือหนังไซไฟที่แทบไม่ได้มีอะไรใหม่เป็นของตัวเองเลยครับ มันแทบจะเป็นส่วนเสี้ยวจากหนังไซไฟยุคก่อน ๆ มาทำซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความผูกพันลึกซึ้งของคนกับเครื่องจักร, ปรัชญา ความดี ความชั่ว และความอยู่รอดของคนกับเครื่องจักร ความอันตรายของจักรกลที่แปรพักตร์มาทำลายล้างมนุษยชาติซะเอง (Terminator) หรือแม้แต่ความแตกต่างในมุมมองของการเปลี่ยนโลกด้วยสายตาและวิธีการของตัวร้ายที่ก็ไม่ได้ใหม่แล้วในยุคนี้ ภารกิจโดยรวมของนางเอกถูกเล่าด้วยสไตล์หนังที่มีความเป็นหนังหลากหลายแนว ทั้งแนวผจญภัยคู่หูแบบ Buddy Movie ผสมกับ Road Movie ที่เคล้าด้วยมุกตลกเล็ก ๆ และคำหยาบคายห่าม ๆ ผสมกับ Vibe การเอาตัวรอดตัวคนเดียวที่แอบคล้าย ๆ กับ ‘Cast Away’ (2000) นิดหน่อย ส่วนหุ่น ARC Suit ก็แอบชวนให้คิดถึง AMP Suit ใน ‘Avatar’ (2009) ไม่ได้

Atlas 2024 Courtesy of Netflix

ตัวหนังเล่าแบบหนังผจญภัยลุยไปเดี่ยว ๆ ตะลุยฟาดหุ่นยนต์ไปเรื่อย ๆ เป็นเส้นตรง เผชิญ Conflict ง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน พร้อมกับการพยายามเรียนรู้การใช้ AI ที่ตัวเองปฏิเสธไปด้วยแบบกระท่อนกระแท่น จนถึงจุดสุดท้ายที่ต้องต่อสู้กำราบฮาร์แลนด์ แม้ว่าจะมี AI คอยช่วยวางกลยุทธ์การต่อสู้ แต่สุดท้ายก็ต้องมารับจบด้วยสงครามการต่อสู้ด้วยอาวุธและกลยุทธ์การปะทะต่อสู้กันแบบมนุษย์ ๆ (ที่แอบไม่ค่อยสมน้ำสมเนื้อ) อยู่ดี ซึ่งอันนี้ก็ต้องชมแหละ ว่าอย่างน้อยมันก็เป็นหนังแอ็กชันแบบ Old School แบบที่ไม่ถึงกับดีงาม แต่ก็ยังพอจะดูเพลิน ๆ ได้ ส่วนในแง่โปรดักชัน งาน CGI ก็ถือว่าทำได้อลังการตามสเกลของหนังไซไฟสตรีมมิง ที่เรียกได้ว่าจัดอยู่ในระดับดี แต่ก็ยังขาดมิติความสมจริงบางอย่างในรายละเอียด

จริง ๆ ตอนที่หนังเรื่องนี้เข้าฉาย เพิ่งจะมีดราม่าในรีวิวของเมืองนอกด้วยล่ะครับ เพราะในขณะที่ฮอลลีวูดกำลังต่อต้านการใช้ AI มาเป็นส่วนหนึ่งของงาน แต่หนังเรื่องนี้กลับมีทิศทางเล่าเรื่องในเชิงสนับสนุน AI เสียเฉย ๆ บางคนถึงขั้นวิจารณ์สับว่าบทหนังเรื่องนี้มันแย่เพราะใช้ AI หรือ Chatbot ช่วยเขียนบทให้เลยก็มี ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนเองหลังจากที่ดูหนังแล้ว มองว่าข้อกล่าวหาทำนองนี้ออกจะดูเหมารวมไปนิด

Atlas 2024 Courtesy of Netflix

ปัญหาที่แท้จริงของตัวหนังคงไม่ใช่เรื่องของจุดยืนการสนับสนุนหรือต่อต้าน AI หรอก เพราะผู้เขียนเองเชื่อว่า หนังที่หยิบเอา AI มาเล่าเรื่องก็น่าจะยังมีออกมาอีกเรื่อย ๆ (หนังเรื่องต่อไปอาจจะเป็นหนังรักของนักเรียนที่ใช้ AI ทำการบ้าน ไรงี้ 555) ส่วนในแง่ของการใช้ AI ในฮอลลีวูด อันนี้ก็คงปฏิเสธการมาของมันได้ยากจริง ๆ นั่นแหละ เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงถึงการยอมรับ และความเหมาะสมในอุตสาหกรรมกันไปอีกยาว ๆ มากกว่าจะรุมหนังเพียงเรื่องเดียว

ความน่าเสียดายมากกว่าที่ผู้เขียนคิดว่าตัวบทหนังน่าจะไปให้ถึงและมีชั้นเชิงได้มากกว่านี้ คือการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจากผลพวงจริง ๆ ของ AI ที่มีต่อมนุษย์ (ที่มากกว่าแค่ทำลายล้างโลก) อะไรแบบนี้มากกว่า ในขณะที่ ‘Her’ (2013) AI ช่วยทำให้มนุษย์คนหนึ่งได้กลับไปทบทวนความสัมพันธ์ที่ตัวเองมี แต่ ‘Atlas’ กลับทำได้เพียงการเน้นสถานการณ์บังคับให้ตัวละครเลือกข้าง มันเลยเป็นเรื่องความขัดแย้งและปมดราม่าของคน 2 ฝั่งที่รักและเกลียด AI เฉย ๆ ส่วนพวกปรัชญาเกี่ยวกับชีวิตและจิตวิญญาณของคนกับ AI ที่หนังใส่มาให้ เรียกได้ว่าใส่มาแค่พอให้มีเท่านั้น

Atlas 2024 Courtesy of Netflix

ส่วนปมดราม่าหักมุมที่จะเฉลยว่าทำไมฮาร์แลนด์ถึงก่อกบฏ แม่ของแอทลาสเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ แอทลาสมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับฮาร์แลนด์ และการเฉลยว่าทำไมแอทลาสถึงไม่ไว้ใจ AI และไว้ใจมนุษย์ด้วยกันอีกต่อไป จึงไม่ได้เป็นไซไฟที่ลึกซึ้งหรือมีชั้นเชิง ชวนให้คนดูเชื่อในการกระทำของตัวละครอะไรได้เท่าไหร่ สำหรับผู้เขียน มันเป็นหนังแอ็กชันที่ถือว่าทำได้น่าสนใจ เพียงแต่ระหว่างดูก็แอบรู้สึกว่า ถ้าตัดปมดราม่างี่เง่าของ AI ออกไปห้วน ๆ เลย นี่อาจจะเป็นหนังสงครามหุ่นยนต์สู้รบที่อาจจะดูเพลินมากกว่านี้ก็ได้

ในแง่ของการแสดง การได้เห็นขุ่นแม่อย่างเจโลออกมาแอ็กชัน ก็นับว่าเป็นอะไรที่แปลกตามาก และบารมีซูเปอร์สตาร์ของเธอก็ช่วยดึงดูดและชุบชูหนังให้น่าดูขึ้นได้พอควร แม้บทบาทและปมดราม่าจะทำให้บทที่เธอได้รับกลายเป็นแอทลาสที่ดูเหมือนคนงี่เง่าน่ารำคาญที่กำลังหวาดระแวง AI อยู่ตลอดเวลาจนถึงยามคับขันก็ตาม แต่ที่เรียกว่าไม่รอดจริง ๆ คงหนีไม่พ้นเฮียซือมู่ หลิว ที่ต้องมารับบทบาทวายร้าย AI ที่เต็มไปด้วยการแสดงอันแข็งกร้าน และบทที่ไร้มิติโดยสิ้นเชิง เป็นวายร้ายไซไฟเชย ๆ ที่มีเป้าหมายล้างโลกแบบเชย ๆ แบบที่ไม่ได้น่าจดจำอะไร ส่วนตัวผู้เขียนชอบตัวละคร คาสกา ลูกสมุน AI ของฮาร์แลนด์ ที่รับบทโดย อับบราฮัม โปปูลา (Abraham Popoola) ที่ยังดูเท่มากกว่าลูกพี่ซะอีก

Atlas 2024 Courtesy of Netflix

โดยรวมแม้มันจะเป็นหนังเนื้อเรื่องแนวไซไฟที่อยู่ในวิสัยที่ผู้ชมจะคาดเดาได้ และปรัชญาของคนกับปัญญาประดิษฐ์ก็ไม่ได้ลึกซึ้งมีชั้นเชิงอะไรนัก แต่อย่างน้อยก็ต้องชมแหละว่าตัวหนังยังมีแอ็กชันที่ค่อนข้างดูง่ายไม่ซับซ้อน เพียงแต่ว่าถ้าถอดประเด็น AI ออกไป ก็ยังถือว่ายังเป็นหนังสงครามหุ่นรบสู้กันที่ไม่เลวเลย อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการพยายามชูดราม่าคนกับ AI ที่รกเรื้อน่ารำคาญแบบที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำ

ถ้าตัดสิ่งนี้ออกไป เราอาจได้หนังผจญภัยแอ็กชันคู่หู ‘คน+หุ่นยนต์’ ที่ทำออกมาได้ค่อนข้างบันเทิง มีอารมณ์ดราม่า ตลก โรแมนติกแทรกนิด ๆ มีคาริสมาซูเปอร์สตาร์ให้ชม ดูเพลินแบบไม่ต้องคาดหวังได้มากกว่านี้ และมันอาจเป็นหนังป็อปคอร์นไมโครเวฟที่ดีอีกเรื่องหนึ่งของ Netflix เลยก็เป็นได้


Atlas 2024 Courtesy of Netflix