เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ในงาน CinemaCon สตูดิโอภาพยนตร์ 2 เจ้าดังทั้ง ไลออนส์เกต (Lionsgate) และสตูดิโอปรมาจารย์หนังสยองขวัญ บลัมเฮาส์ (Blumhouse) ได้ร่วมมือกันประกาศสร้างภาพยนตร์ ‘The Blair Witch Project’ หนังสยองขวัญ Found Footage ในตำนานที่ออกฉายเมื่อปี 1999 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว โดยจะได้ทั้ง เจสัน บลัม (Jason Blum) จากบ้าน Blumhouse และ รอย ลี (Roy Lee) จากบ้าน Lionsgate มานั่งแท่นเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกัน

โดยการร่วมมือครั้งนี้เป็นการร่วมมือและร่วมทุนกันของ 2 สตูดิโอยักษ์ใหญ่ที่เคยสร้างตำนานหนังสยองขวัญ เพราะ Lionsgate Films เคยเป็นผู้ปลุกตำนานด้วยภาคต่อ ‘Blair Witch’ ฉบับปี 2016 และ Blumhouse ก็เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ ‘Paranormal Activity’ และบลัมเฮาส์เองก็เป็นเชี่ยวชาญด้านหนังสยองขวัญและระทึกขวัญทุนต่ำที่ทำรายได้อย่างงามบน Box Office มาแล้วหลายเรื่อง อาทิ ‘The Purge’ (2013) รวมทั้ง ‘M3GAN’ (2022) และ ‘Five Nights at Freddy’s’ (2023) อีกด้วย ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่าเรื่องราวจะเชื่อมต่อกับภาคเดิมหรือไม่ หรือจะเป็นการรีบูตเรื่องราวใหม่ทั้งหมด

‘The Blair Witch Project’ (1999) เป็นหนังสยองขวัญนอกกระแสทุนต่ำที่กำกับโดย เอดูอาร์โด ซานเซส (Eduardo Sánchez) และ แดเนียล มายริก (Daniel Myrick) เพื่อนมหาวิทยาลัยที่ร่วมกันเขียนบท 35 หน้าเกี่ยวกับเรื่องราวของก๊วนเพื่อนนักศึกษาวิชาภาพยนตร์ เฮเธอร์ โดนาฮิว (Heather Donahue), ไมเคิล วิลเลียมส์ (Michael Williams) และ โจชัว เลียวนาร์ด (Joshua Leonard) ที่ได้เข้าไปถ่ายทำสารคดีตำนานแม่มดแบลร์ ในป่าลึกลับในเมืองเบอร์กิตส์วิลล์ (Burkittsville) รัฐแมรีแลนด์ แต่ทั้ง 3 คนกลับพบกับอาถรรพ์และหายตัวไปอย่างลึกลับ สิ่งที่อยู่ในหนังจึงเหลือเพียงฟุตเทจที่ทั้ง 3 คนได้บันทึกเหตุการณ์ทุกอย่างเอาไว้

Joshua Leonard in The Blair Witch Project (1999)

ด้วยความเป็นหนังอินดี้ต้นทุนต่ำ ทั้งซานเชสและมายริกจึงตัดสินใจให้นักแสดงโนเนมทั้ง 3 คนที่ใช้ชื่อจริง ลงไปถ่ายทำด้วยวิธีการกึ่งจริงกึ่งเตี๊ยม ด้วยการกำหนดเรื่องราวให้ทั้ง 3 คนเข้าไปผจญภัยในป่านั้น และในแต่ละวัน ผู้กำกับจะเขียนเบาะแสคร่าว ๆ ไว้บนกระดาษ และให้พวกเขาไปเจอกับสิ่งต่าง ๆ (ที่ไม่ได้เตี๊ยม) กันเอาเอง ก่อนจะนำฟุตเทจความยาว 20 ชั่วโมง มาตัดต่อเป็นหนังความยาว 81 นาที

พร้อมกับวิธีการโปรโมทไวรัลด้วยการแสร้งปล่อยข่าวนักเรียนฟิล์มที่หายตัวไปอย่างลึกลับ ทั้งในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่มีการลงสัมภาษณ์ครอบครัว (ที่เตี๊ยมกันไว้แล้ว) มีการสร้างเว็บไซต์ปลอมบนอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงหลักฐาน (ปลอม) ทั้งบรรดาฟุตเทจจากกล้องวิดีโอ Hi8, กล้องฟิล์ม 16 มม. และหลักฐานอื่น ๆ เพื่อให้คนเชื่อว่านี่เป็นเหตุการณ์จริง ๆ จนทำให้เว็บไซต์มีผู้เข้าชมสูงถึง 20 ล้านคนภายในวันเดียว

และยังให้ทีมงานคอยเข้าไปโพสต์บนเว็บบอร์ดต่าง ๆ เพื่อตามหาคนหาย หรือตั้งกระทู้คำถามเกี่ยวกับตำนานของแม่มดแบลร์ รวมทั้งยังปล่อยสารคดีปลอม ‘Curse of the Blair Witch’ ฉายออกทางทีวีด้วย จนกลายเป็นกระแสไวรัลในยุคที่เว็บไซต์เพิ่งจะแพร่หลาย และตัวหนังยังสมจริงจนทำทำให้มีคนไม่น้อยที่เชื่อไปว่าเหตุการณ์เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

ตัวหนังทำรายได้สูงถึง 248 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างเพียง 60,000 เคยทำสถิติติดอันดับที่ 1 ของของภาพยนตร์ที่มีกำไรต่อต้นทุนสูงที่สุดในโลก และลงมาติดอันดับที่ 3 ในปัจจุบัน จนมีการสร้างภาคต่อ ‘Book of Shadows: Blair Witch 2’ ในปี 2000 ที่เล่าเรื่องของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเพื่อตามรอยหนังภาคแรก ตัวหนังล้มเหลวด้วยการทิ้งกลิ่นอายจากต้นฉบับ กลายเป็นหนังเกรด B ธรรมดาที่หลายคนไม่เลือกที่จะนับให้อยู่ในจักรวาลเดียวกันด้วยซ้ำ

และ ‘Blair Witch’ ฉบับปี 2016 ของค่าย Lionsgate ที่ได้ อดัม วินการ์ด (Adam Wingard) จาก ‘You’re Next’ (2011) และ ‘Godzilla vs. Kong’ (2021) มากำกับ ที่ตั้งใจให้เป็น Sequel หรือภาคต่อจากหนังต้นฉบับจริง ๆ ที่โดนวิจารณ์ยังห่างชั้นจากต้นฉบับอยู่มาก ได้คะแนนวิจารณ์บนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ไปเพียง 38% รวมทั้งยังสานต่อความสำเร็จทั้งในรูปแบบหนังสือ การ์ตูน วิดีโอเกม และเครื่องเล่นแนว Escape room ในลาสเวกัส

โจชัว เลียวนาร์ด (Joshua Leonard) 1 ใน 3 นักแสดงจากหนังต้นฉบับ ได้ออกมาเปิดเผยบน Instagram ส่วนตัวของเขาหลายโพสต์ โดยเฉพาะความไม่พอใจต่อ Lionsgate และ Blumhouse ที่กำลังจะมีการรื้อฟื้นเรื่องราวของ ‘The Blair Witch Project’ กลับมาอีกครั้ง

“ผมเองเคยทำงานให้ และผมก็เคารพทั้ง 2 ค่าย แต่ส่วนที่มันแปลกก็คือ ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย จนกระทั่งเพื่อนผมส่งข้อความบอกว่า ‘ยินดีด้วย’ มาให้ผมเมื่อวานนี้ ผมเองครุ่นคิดกับเรื่องนี้หลังจากที่ได้เจอกับคนที่เคยร่วมงานใน BWP เมื่อเร็ว ๆ นึ้ และแบ่งปันความทรงจำทั้งที่ที่ดีและเหี้-ร่วมกัน”

เลียวนาร์ดยังเปิดเผยอีกว่า หลังจากที่หนังออกฉายในปี 1999 เขาและเพื่อนนักแสดง รวมทั้งทีมงานนั้นไม่ได้รับการชดเชยรายได้อย่างเป็นธรรมจาก Lionsgate ที่เป็นสตูดิโอเจ้าของหนังเลย หลังจากที่ อาร์ติซาน เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (Artisan Entertainment) ผู้จัดจำหน่ายหนังต้นฉบับ ได้ถูกซื้อกิจการโดย Lionsgate ในปี 2003

“ความคับข้องใจของผมทวีคูณขึ้นไปอีก เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ผมพยายามให้ @lionsgate มีส่วนร่วมในการจัดฉายหนัง BWP รอบการกุศลเพื่อหาเงินดูแลสวัสดิการสุขภาพให้กับศิลปิน แต่กลับไม่มีใครติดต่อกลับมาหาผมเลย”

“ในปี 1999 ผู้จัดจำหน่ายดั้งเดิมของ BWP อ้างว่าได้เปิดตัวหนังอิสระที่ทำกำไรได้มากที่สุดที่เคยมีมา (ซื้อมา 1 ล้านเหรียญ ขายได้ 250 ล้านเหรียญขึ้น) ในขณะที่คนในบอกเราว่าพวกเขาขาดทุนจากค่าใช้จ่ายในการทำตลาด ดังนั้นพวกเราอาจลงเอยด้วยการติดหนี้พวกเขา เนื่องจากเราใช้ชื่อจริงในหนังเรื่องแรก สตูดิโอจึงได้อ้างลิขสิทธิ์ เราจึงต้องพาพวกเขาไปที่ศาลรัฐบาลกลางเพื่อเอาชื่อของเรากลับมา”

“คนวงในฮอลลีวูดบอกกับสื่อว่าเรา (นักแสดง) ได้ค่าตัว 4 ล้านเหรียญเพื่อซื้อความเป็นเจ้าของในตัวของพวกเรา แต่ในความเป็นจริง เราทำได้แค่ 300,000 เหรียญ และก็ไม่เคยได้เพิ่มอีกแม้แต่แดงเดียว (หลังจากซื้อรถยนต์และจ่ายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแล้ว ไมก์ก็กลับมาย้ายเฟอร์นิเจอร์ออกไปหลังจากฉาย 12 เดือน โดยที่ยังมีชื่ออยู่บนปกนิตยสารอยู่เลย)”

“มันมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ BWP ประสบความสำเร็จ ทั้งเวลา การตลาด ฯลฯ แต่มันก็ยังมีข้อเท็จจริงที่พวกประหลาด ๆ อย่างเรา มารวมตัวกันโดยแทบจะไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไรเลย และหนังมันก็ประสบความสำเร็จ! เราจึงกล้าพูดได้เลยว่าตัวหนังเองเป็นส่วนสำคัญที่ว่า ทำไมเราถึงยังคงพูดถึงหนังเรื่องนี้ในอีก 25 ปีต่อมา”

“ผมภูมิใจกับหนังเล็ก ๆ สุดพังก์ของเรามาก และผมก็รักแฟน ๆ ที่ทำให้เปลวไฟนี้ลุกโชน แต่พอมาถึงจุดนี้ มันเป็นเวลา 25 ปีแห่งการดูหมิ่นจากกลุ่มคนที่คอยแย่งส่วนแบ่งและผลกำไรจากผลงานของเราไปอย่างมหาศาล ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าขยะแขยงและไร้รสนิยมสุด ๆ “

Michael Williams in The Blair Witch Project (1999)

ต่อมา เลียวนาร์ดได้เปิดเผยในอีกโพสต์ว่า เขาได้รับการติดต่อจาก Lionsgate เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว และเขาได้ตั้งข้อสังเกตบางอย่างไว้ว่า

“พวกคุณหลายคนมีความต้องการให้เราดำเนินการทางกฏหมาย แต่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเรามีแง่มุมที่ชอบด้วยกฏหมายที่จะดำเนินการต่อหรือไม่ นอกจากนี้ ผมว่าเงินมันไม่ใช่ประเด็น! เราเซ็นสัญญากันตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก โดยไม่มีการสนับสนุนทางกฏหมายหรือสภาพแรงงาน”

“เรากำลังดิ้นรนแบบศิลปิน และความจริงที่ว่า เราไม่ต้องกังวลเรื่องอาหาร/ค่าเช่ามาสักระยะหนึ่ง ก็ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่อย่างที่พวกเราทุกคนเคยฝันไว้แล้ว ผมคงไม่ขอบคุณ BWP สำหรับความน่าทึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากมันหรอก”

“ปัญหาของผมไม่ใช่เรื่องกฏหมาย แต่มันเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติที่เหมาะสมของมนุษย์ มันเป็นตำนานเก่าแก่ของคนที่เป็นช่างฝีมือที่ทำงานสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ ให้มีกำไร ที่หมายถึงการไม่ให้เครดิตและความเคารพอย่างเหมาะสมแก่คนที่สร้างสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้”

“ผมตระหนักถึงสิทธิพิเศษในฐานะคนผิวขาวอเมริกันที่มีการศึกษาของตัวผมเอง และผมตระหนักดีว่า สิ่งที่ผมถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเคารพนั้นคงไม่ได้ดลบันดาลใจใครได้ แต่มันเกิดขึ้นเพราะผมมีชื่อเสียง และผมก็ไม่ได้แคร์มันอีกต่อไป เนื่องจากว่าผมเกษียณออกจากอุตสาหกรรม (บันเทิง) ไปแล้ว 99% ผมจึงไม่กลัวว่าใครจะขึ้นบัญชีดำอีกต่อไป”