อีกไม่กี่อึดใจ เทศกาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ของวงการภาพยนตร์โลกอย่าง เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 77 (The 77th annual Cannes Film Festival) โดยปีนี้มีกำหนดการจัดงานในวันที่ 14-25 พฤษภาคม ก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในปีนี้ก็ยังคงมีผู้คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กำลังจะเดินทางไปยังสถานที่จัดงาน ที่จัดขึ้น ณ เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ดังเช่นทุก ๆ ปี แต่ดูเหมือนว่าปีนี้อาจมีพายุระลอกใหญ่กำลังจะเข้ามาในงาน

เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ฝรั่งเศสกลับมาตื่นตัวกับกระแสการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อต่อต้านการปฏิบัติและล่วงละเมิดทางเพศ หรือที่เรียกกันว่า #MeToo ซึ่งนับเป็นคลื่นระลอกใหม่ที่กำลังกระพือขึ้นอีกครั้ง และแน่นอนว่ากระเทือนมาถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฝรั่งเศสด้วย

โดยมีข่าวลือออกมาแพร่สะพัดมาระยะหนึ่งว่า เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ จะกลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องรองรับแรงกระแทกจากกลุ่มผู้เคลื่อนไหว #MeToo ในฝรั่งเศส ที่กำลังจะออกมาเปิดโปงพฤติกรรมคุกคามทางเพศของเหล่านักแสดง ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศสในงาน

ข่าวลือนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแส #MeToo ระลอกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นจากข่าวของ จูดิธ โกเดรช (Judith Godrèche) นักแสดงชาวฝรั่งเศสวัย 52 ปี ที่เคยมีผลงานการแสดงหนังฮอลลีวูด ‘The Man in the Iron Mask’ (1998) ร่วมกับ ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio)

77th annual Cannes Film Festival

โกเดรชได้ดำเนินการฟ้องร้องเบอนัวต์ ฌาคโคต (Benoît Jacquot) ผู้กำกับคนดังชาวฝรั่งเศส ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ และข้อหาใช้กำลังกระทำการข่มขืนและพรากผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี ต่อหน่วยงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนของฝรั่งเศส โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ทั้งคู่พบกันในปี 1986 ตอนที่เธอแสดงหนังเรื่อง ‘Les mendiants’ (1987) ที่ฌาคโคตกำกับ ก่อนที่ทั้งคู่จะคบหากันนานถึง 6 ปี

ภายหลัง ฌาคโคตได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยเผยว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในเวลานั้นเป็นไปเพราะความรัก แม้ว่าฌาคโคตจะมีอายุมากกว่าโกเดรชถึง 25 ปี และโกเดรชในตอนนั้นจะมีอายุเพียง 14 ปีก็ตาม

กระแส #MeToo เริ่มโหมขึ้นในงานประกาศรางวัลซีซาร์อวอร์ด (César Awards) ครั้งที่ 49 ที่จัดขึ้นในเดือนเดียวกัน โดยโกเดรชได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่เธอเคยเผชิญเมื่อตอนวัยรุ่น รวมทั้งการปิดปากเงียบของผู้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศสเกี่ยวกับเรื่องนี้

เธอยังกลายเป็นแกนนำผู้สนับสนุน #MeToo แบบกลาย ๆ ด้วยการกล่าวเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ในระหว่างประชุมกับสมาชิกวุฒิสภาของฝรั่งเศส เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับความรุนแรง และการละเมิดทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฝรั่งเศส ที่เธอเปิดเผยว่า หลังจากฟ้องร้อง เธอได้รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศมากถึง 4,500 รายการ

และในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ โกเดรชจะเปิดตัวผลงานหนังสั้นเรื่อง ‘Moi Aussi’ ที่มีความหมายว่า ‘Me Too’ ที่เล่าเรื่องของผู้ที่เคยมีประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจะเป็นหนังที่ฉายเปิดในสาย Un Certain Regard (สายหนังนอกกระแส/หนังอินดี้/หนังทุนต่ำ) ในเทศกาลนี้ด้วย

ข่าวลือถึงความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นในเทศกาลหนังเมืองคานส์เริ่มหนาหูขึ้น เมื่อเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Figaro ได้ตีพิมพ์บทความที่มีชื่อว่า ‘#MeToo: ก่อนเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์กำลังอยู่ในภาวะน่าหวั่นวิตก’

โดยรายงานเปิดเผยว่า คนทำงานในอุตสาหกรรมหนังหลายคนกำลังหวั่นวิตกว่า กลุ่มผู้เคลื่อนไหว #MeToo ในฝรั่งเศส อาจใช้โอกาสนี้ในการออกมาเปิดโปงพฤติกรรมการคุกคามทางเพศของเหล่านักแสดง ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศส ที่มีผลงานภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าฉายอย่างเป็นทางการในเทศกาลนี้ต่อสาธารณชนนับ 10 คน ซึ่งไม่ว่าข่าวลือนี้จะเป็นจริงหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าคนในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศส รวมทั้งสื่อ ต่างก็จับตามองไปที่โปรแกรมฉายหนังของเทศกาลแบบตาไม่กะพริบ เพราะกลัวว่ากระแสข่าวจะกลบกระแสหนังของตนเองจนมิด

77th annual Cannes Film Festival

ไอริส น็อบลอช (Iris Knobloch) ประธานของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ได้กล่าวกับ Le Figaro ว่า ขณะนี้คณะผู้จัดงานได้ว่าจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์และการบริหารความเสี่ยงที่ไม่เปิดเผยชื่อ เพื่อรับมือกับพายุลูกใหญ่ที่โถมเข้ามา รวมทั้งทีมงานกำลังเตรียมเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยทางเทศกาลและบริษัทประชาสัมพันธ์จะร่วมกันทำงานเพื่อรับมือวิกฤติที่เกิดขึ้น

แม้เทศกาลนี้จะไม่เคยมีระเบียบข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการกับแขกผู้เข้าร่วมงาน ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศโดยตรงอย่างเป็นทางการ แต่จากรายงานระบุว่า การจัดการต่อกรณีดังกล่าวอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของข้อกล่าวหา ตั้งแต่การระงับไม่ให้นักแสดง ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์เข้าร่วมเดินพรมแดง หรือการตัดสิทธิ์ภาพยนตร์จากการเข้าร่วมการประกวด และทั้ง 2 หน่วยงานจะหารือร่วมกัน เพื่อตัดสินใจต่อเหตุที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณี

เมื่อปี 2023 สถาบันซีซาร์ (César Academy) ผู้จัดงานซีซาร์อวอร์ด (César Awards) หรืองานออสการ์ของฝรั่งเศส ได้ออกกฎเกณฑ์ในการสั่งแบนบุคคลที่ถูกตั้งข้อหา หรือตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกี่ยวกับเพศ หรือมีพฤติกรรมเหยียดเพศ ไม่ให้เข้าร่วมงานประกวด หรืองานใด ๆ ที่สถาบันจัดขึ้น และไม่ให้ผู้ใดกล่าวถึงบุคคลผู้ที่ถูกแบนในงานเป็นอันขาด

ในขณะที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ หากผู้ที่ถูกกล่าวหายังไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้จัดงานอาจตัดสินใจเพิกเฉยข้อกล่าวหานั้น ๆ ได้ เนื่องจากเทศกาลอาจยึดตามหลักการเคารพในสิทธิส่วนบุคคล ที่จำเป็นต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการตัดสินคดีตามกฎหมาย