[รีวิว] Time Freak – พลิกประเด็นย้อนเวลาได้แปลกใหม่แต่กลับไร้เสน่ห์
Our score
5.0

Time Freak

จุดเด่น

  1. หนังพยายามหามุมใหม่เกี่ยวกับการย้อนเวลามาเล่าได้น่าสนใจ
  2. หนังมีมุกตลกที่เวิร์คอยู่บ้าง

จุดสังเกต

  1. นักแสดงนำไร้เสน่ห์
  2. เรื่องราวเล่าได้วนไปเวียนมา
  • ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท

    6.0

  • ความสมบูรณ์ของงานสร้าง

    7.0

  • ความแปลกใหม่

    6.0

  • ความสนุก

    6.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    0.0

Play video

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

หลังถูกบอกเลิกจากแฟนสาว สติลแมน (อาซา บัตเตอร์ฟิลด์) เลือกใช้ความรู้วิชาฟิสิกส์ของตนสร้างไทม์แมชชีนย้อนเวลาเพื่อแก้ไขและรักษาความสัมพันธ์ของเขากับ เดบบี้ (โซเฟีย เทอร์เนอร์) ให้กลับมาดีดังเดิม และเพื่อให้มีเพื่อนคู่คิดเขาจึงหนีบ อีแวน (สกายเลอร์ กีซอนโด) หนุ่มสายเขียวย้อนเวลาไปในอดีตที่เขาเคยทำผิดกับ เดบบี้ ไว้ โดยไม่อาจรู้ได้เลยว่า ไทม์แมชชีน ฉบับ “สติลแมนประดิษฐ์” จะไว้ใจได้แค่ไหน

พลอตย้อนเวลากับเรื่องรักโรแมนติกไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่ เพราะมันเคยถูกสร้างเป็นหนังดังๆมากมายอย่าง Somewhere in Time (1980) หรือทวิภพฝรั่งที่เคยทำให้รุ่นพ่อรุ่นแม่เราเคลิ้มมาแล้ว หรือกระทั่งหนังโรแมนติกจากอังกฤษ About Time (2013) (เจ้าของเดียวกับ Love Actually (2003)) ที่ประทับใจใครหลายคนเมื่อไม่นาน และสำหรับ Time Freak ก็มีต้นธารมาจากหนังสั้นระดับชิงรางวัลออสการ์จากปี 2011 ของผู้กำกับ แอนดรู โบว์เลอร์ เองที่ใช้เวลาถึง 7 ปีกว่าหนังฉบับยาวจะได้ออกฉายในวันนี้ โดยขยายพลอตจากแค่การเดินทางย้อนเวลาไปเมื่อวานเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในชีวิตหนุ่มเนิร์ดฟิสิกส์กลายเป็นการเดินทางเพื่อรักษาความสัมพันธ์ แถมได้นักแสดงดาวรุ่งทั้ง อาซา บัตเตอร์ฟิลด์ จาก Ender’s Game (2013) และ The Space Between Us (2017) มาประกบคู่กับ โซเฟีย เทอร์เนอร์ จากซีรีส์ Game of Thrones และกำลังจะมีหนัง Dark Phoenix ออกฉายปี 2019 มาเป็นดาราเรียกแขก พ่วงด้วย สกายเลอร์ กีซอนโด ที่มีชื่อมาจาก Santa Clarita’s Diet ซีรีส์ของ Netflix ในบทตัวฮาของเรื่อง

ส่วนหนึ่งจากหนังสั้นต้นฉบับ

Play video

โดย Time Freak ยังคงประสบปัญหาแบบเดียวกับหนังที่พัฒนามาจากหนังสั้นที่มีพลอต ไฮคอนเซปต์ โดยเฉพาะการหาทางลงให้กับเรื่องราว ถ้าจำกันได้เมื่อไม่กี่เดือนก่อนเรารีวิว KIN ซึ่งก็พัฒนาจาก “ความเจ๋ง” ของพลอตว่าด้วย ปืนเอเลี่ยน ที่แทนอำนาจมหาศาลของคนครอบครองก็ตกม้าตายเมื่อขยายมาเป็นหนังใหญ่ ซึ่ง Time Freak ก็ไม่ต่างกันเพราะ “ความเจ๋ง” อย่างพลอตหนุ่มเนิร์ดฟิสิกส์สร้างไทม์แมชชีน กลับไปแก้ไขเรื่องแย่ๆเมื่อวาน แต่เพิ่มในส่วนของพลอตโรแมนติกว่าด้วยการกลับไปแก้ไขความสัมพันธ์ที่ผิดพลาดก็กลายเป็นกับดักที่ทำให้ แอนดรู โบเลอร์ หนีไม่พ้นฉากคลีเช่ๆอย่างการกลับไปวันแรกที่ได้เจอกัน หรือการย้อนกลับไปมองเห็นตัวเองของพระเอกเพื่อเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น (หรือเปล่า เพราะหนังไม่ได้เน้นในจุดนี้) และแก้ไขจุดผิดพลาด ซึ่งทำไปทำมาหนังกลับไม่อาจดึงคนดูให้คล้อยตามความรักของทั้งสติลแมนและเดบบี้ได้เลย เพราะหลังจากฉากเปิดเรื่องที่เดบบี้บอกเลิกสติลแมนในร้านกาแฟ หนังก็ไม่ได้ใส่ใจปูความสัมพันธ์ของทั้งคู่เท่าใดนัก ลำพังจะให้คนดูซึมซับจากจุดผิดพลาดของ สติลแมน หนังก็ดั๊นไม่ได้เลือกปัญหาความสัมพันธ์หรือจุดขัดแย้งใหญ่ๆหนักๆมากไปกว่า รสนิยมดูหนังไม่เหมือนกัน หรือ อาการหึงหวงของฝ่ายชาย โดยที่หนังแทบไม่ได้ให้เราเห็นทัศนคติความรักในฝั่งเดบบี้เท่าใดนัก มิหนำซ้ำคาแรกเตอร์เอาแน่เอานอนไม่ได้ของเธอยังสร้างความรำคาญมากกว่าชวนให้เห็นใจอีกด้วย

จากจุดผิดพลาดที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่น่าเสียดายเท่าส่วนดีของหนัง เพราะหลังจากเราอดทนกับความลำไยของพระเอกที่ต้องคอยย้อนเวลาแก้นู่นแก้นี่ ช่วงองก์สองตอนท้ายหนังกลับพยายามจะพูดประเด็นที่ใกล้เคียงกับหนังสั้นต้นฉบับโดยเฉพาะการรับมือกับปัญหาในปัจจุบัน โดยหนังดันเสียเวลาไปกับพลอตย้อนเวลาและฉากตลกเหวอๆของเพื่อนพระเอกไปเสียเยอะ แต่กลับพลาดในการใส่พัฒนาการของตัวละคร ซึ่งกว่าเราจะได้เห็นพระเอกได้รับบทเรียนก็ไป 20 นาทีสุดท้ายของหนังซึ่งจุดนี้ถูกบอกเล่าช้าเกินไป

สปอยล์แน่นอน อย่ากดอ่านถ้ายังไม่ได้ดู
ยิ่งมาหลังจากพระเอกย้อนเวลาไปแก้ไขความสัมพันธ์ได้สำเร็จแบบงงๆด้วย

จุดสำคัญที่จะทำให้หนังโรแมนติกเป็นที่น่าจดจำคงหนีไม่พ้นนักแสดงนำของเรื่อง สำหรับ Time Freak แม้การเลือกนักแสดงหน้าตาดีมาเล่นก็ไม่อาจทำให้เรา อิน กับเรื่องราวได้เลย อาซ่า บัตเตอร์ฟิลด์ ไม่อาจทำให้เราเชื่อได้ว่าเขาคือเนิร์ดฟิสิกส์ที่เก่งพอจะสร้างไทม์แมชชีน และยิ่งไปกว่านั้นสรีระแบบหนุ่มตัวเล็กยังเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งเมื่อเข้าฉากกับ โซเฟีย เทอร์เนอร์ ยิ่งช่างแต่งหน้าแต่ง อาซา ได้สำอางเกินเหตุ ถ้าดูไม่เป็นคนแคระก็น้องชายนางเอกมากกว่า ส่วนโซเฟีย เทอร์เนอร์ นางก็เหมือนทะเลาะกับช่างแต่งหน้าหรือฝ่ายคอสตูมก็ไม่ทราบ เพราะไม่มีองค์ประกอบไหนที่เอื้อให้เราเห็นเธอเป็นสาวในฝันของพระเอกได้เลย บางช็อตก็ดูเป็นสาวบวมไทรอยด์ บางช็อตก็เหมือนแพ้เครื่องสำอาง ยิ่งประกอบกับอาซานี่ยิ่งเหมือนพี่เลี้ยงเด็กมากกว่าคนรักเข้าไปอี๊ก ส่วน สกายเลอร์ กีซอนโด แม้หนังจะวางบทให้เป็นเพื่อนตลกๆและมีมุกที่เวิร์คอยู่บ้างก็แต่ยังห่างไกลบทเพื่อนบ้านปอดแหกในซีรีส์ Santa Clarita’s Diet อยู่หลายขุม

ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำหรับการขยายเรื่องราวจากหนังสั้นสู่หนังใหญ่ เพราะถ้านำมาขยายแล้วไม่สามารถหา “ทางลง” ให้ดีพอหนังก็คงออกมาวนเวียนกับซีนคลีเช่และการตัดจบฮ้วนๆแบบเดียวกับ Time Freak เรื่องนี้แน่นอน

ตีตั๋วไปย้อนเวลาแย่งเธอกลับมาได้ในโรงคลิกเลย