หลังการจากไปของอาจารย์อากิระ โทริยาม่า (Akira Toriyama) โลกก็ตกอยู่ในความโศกเศร้าจากการสูญเสียหนึ่งในปูชนียบุคคลแห่งวงการการ์ตูนไป ซึ่งก็ได้มีคนที่เกี่ยวข้องกับ ‘Dragon Ball’ ออกมากล่าวถ้อยคำอาลัยให้กับอาจารย์โทริยาม่ากันอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับคนที่รักอาจารย์โทริยาม่า, ผู้คนรอบตัว, นักวาดการ์ตูนญี่ปุ่น รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในการสร้างโปรเจกต์ ‘Dragon Ball’ ที่ต่างก็ออกมากล่าวถึงความในใจต่อการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ ไม่เว้นแม้แต่ฮิโรโนบุ คาเงยามะ (Hironobu Kageyama) ผู้ขับร้องเพลง “Cha-La Head-Cha-La” ซึ่งเป็นเพลงประกอบ ‘Dragon Ball Z’ 

ผมคือคนร้อง CHALA-HEAD-CHALA เองนะครับ! และนี่คือเพลงที่เปรียบเสมือนรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม
ฮิโรโนบุ คาเงยามะ

ฮิโรโนบุ คาเงยามะ ได้แถลงการณ์ถึงถ้อยคำอาลัยอันเจ็บปวดในเฟซบุ๊กส่วนตัว เขากล่าวแนะนำตัว และพูดถึงผลงานที่ทำให้ตนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งคาเงยามะเปรียบเปรยการสูญเสียครั้งนี้ว่า เป็นเสมือนการที่โลกสูญเสียดวงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่างไป 

“ความรู้สึกตอนนี้ เหมือนกำลังสูญเสียดวงอาทิตย์ที่ยิ่งใหญ่ และมันหนักหนาเกินไป”

คาเงยามะเชิดชูถึงอาจารย์โทริยาม่าว่าเป็นดั่งแสงสว่าง ที่มีอิทธิพลทางอาชีพของเขา โดยคาเงยามะเน้นย้ำถึงการที่ผลงานของอาจารย์โทริยาม่า ให้ความบันเทิง ความฝัน ความหวัง และเป็นดั่งแสงสว่างที่สาดส่องให้กับผู้คน

ผลงานของอาจารย์โทริยาม่าคือพลัง นับแต่นี้มันจะเป็นแสงสว่างที่เจิดจ้า และยังคงสาดส่องให้กับคนทั่วโลกต่อไป

ในเวลาเดียวกันหนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ที่ติดต่อฮิโรโนบุ คาเงยามะมาแสดงคอนเสิร์ตเพลงการ์ตูนในไทยเมื่อหลายปีก่อน ก็ได้แสดงความเสียใจถึงการจากไปของอาจารย์โทริยาม่าผ่านทางข้อความส่วนตัวถึงฮิโรโนบุ คาเงยามะด้วย

“ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อการจากไปของอาจารย์โทริยาม่า อากิระ ผู้ที่ทำให้เราได้พบกัน และผมเสียใจมากเมื่อได้ยินข่าวนี้”

โดยฮิโรโนบุ คาเงยามะก็ได้ตอบกลับมาด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงความเศร้าใจ ทว่าเขาก็ยังคงจะทำสิ่งที่ตั้งมั่นไว้ตลอดไปเพื่ออาจารย์โทริยาม่า “ขอบคุณคุณหนุ่ยมากนะครับ ความจริงแล้วผมก็ยังไม่อยากจะเชื่อเลย”

เราสูญเสียบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปมาก แต่เพื่ออาจารย์โทริยาม่าแล้ว ผมจะยังคงร้องเพลง ‘Dragon Ball’ ต่อไปเสมอ

ฮิโรโนบุ คาเงยามะ เป็นนักร้องชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานการร้องเพลงประกอบอนิเมะ และโทคุซัสสึ (อนิซอง) มากมาย โดยเขาได้รับฉายาว่า ‘เจ้าชายแห่งอนิซอง’ เนื่องจากเขาเป็นนักร้องอนิซองตัวท็อปในช่วงยุค 70-90 ที่มีผลงานโดดเด่นมาก จนถึงขนาดที่เด็กไทยหลายคนร้องตามกันได้

ในช่วงยุค 80 เขาได้ร้องเพลงประกอบให้ซูเปอร์เซ็นไต ‘Dengeki Sentai Changeman’ และแล้วเพลงของเขาก็ดันไปเข้าหูของผู้กำกับเพลงจาก Columbia Records ซึ่งในขณะนั้นต้องการหานักร้อง เพื่อมาร้องเพลงประกอบอนิเมะ ‘Dragon Ball Z’ เนื่องจาก Columbia Records ต้องการหานักร้องที่สามารถร้องเพลงร็อก และมีจังหวะที่สนุกสนาน เพื่อสร้างสรรค์เพลงประกอบใหม่ให้เป็นที่จดจำ

ประจวบเหมาะกับการที่คาเงยามะ เป็นแฟน ‘Dragon Ball’ อยู่แล้ว เพราะในขณะที่ภาค ‘Dragon Ball Z’ ยังเป็นหนังสือการ์ตูน เขาก็แทบจะซื้อมังงะรายสัปดาห์มาอ่านอยู่เป็นประจำ ดังนั้นแล้วคาเงยามะจึงตอบตกลงเพื่อร้องเพลง  “Cha-La Head-Cha-La” โดยไม่รีรอ เพราะมันคือการเติมเต็มความฝันในฐานะแฟน ‘Dragon Ball’ คนหนึ่ง

เพลง “Cha-La Head-Cha-La” เป็นซิงเกิลที่ 16 ของฮิโรโนบุ คาเงยามะ โดยซิงเกิลนี้ปล่อยออกมาครั้งแรกในปี 1989 ซึ่งคำว่า “Cha-La Head-Cha-La” เป็นการผสมผสานระหว่างวลีของภาษาญี่ปุ่นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

‘Cha-La’ ตัวแรกมาจากคำว่า “chara ni suru” (チャラにスロ) ที่แปลว่า “แสร้งทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ในขณะที่ “Head-Cha-La” มาจาก “hetchara” (ヘッチャラ) ซึ่งแปลว่า “ไม่เป็นไร” 

ผู้แต่งเพลง “Cha-La Head-Cha-La” ได้อธิบายว่า เพลงนี้มีความหมายถึงการที่บอกว่า “แม้จะเผชิญปัญหาอะไรก็ช่าง แต่เมื่อได้รเซ็ตตัวเองทุกอย่างก็จะปกติ เพื่อให้เราพร้อมที่จะลองสู้อีกครั้ง” หรือในอีกนัย “Cha-La Head-Cha-La” คือเพลงที่พูดถึงการ ‘ล้างหัว’ ที่ทำหัวให้โล่งเพื่อเริ่มลองใหม่

เพลง Cha-La Head-Cha-La ที่ถูกนำไปประกอบเกม

ภายในเนื้อเพลง เมื่อฟังดี ๆ จะพบว่ามันกล่าวถึงการผจญภัย และสิ่งที่โกคู (กับคนดู) จะได้เจอใน ‘Dragon Ball Z’ ซึ่งเพลงโดยรวมจะสื่อถึงการที่ ‘ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็จะไม่มีทางแพ้ใคร’ จนท้ายที่สุดก็กำเนิดเป็น “Cha-La Head-Cha-La” ที่ครองใจเด็ก ๆ ตลอดมา

‘Dragon Ball Z’ ได้ใช้เพลง “Cha-La Head-Cha-La” เป็นเพลงเปิดถึง 199 ตอน ซึ่งเพลงนี้ก็สามารถขายได้ถึง 1.7 ล้านชุด และถูกดัดแปลงอย่างเป็นทางการไปแล้วกว่า 9 ภาษา จนโด่งดังไปทั่วโลก

“Cha-La Head-Cha-La” นับว่าเป็นเพลงประกอบ ‘Dragon Ball’ ที่โด่งดังที่สุดเพลงหนึ่ง เพราะเมื่อเรานึกถึง ‘Dragon Ball’ เราจะมีท่อนฮุคของเพลงนี้ลอยขึ้นมาในหัว ซึ่งไม่ว่าจะเด็กไทยยุค 90 (ที่ได้ดูครั้งแรก) หรือเด็กไทยยุค 2000s (ที่ได้ดูในฉบับรีรัน) เมื่อเพลงเปิดดังขึ้นมา เราต่างก็ร้องพร้อมกันว่า ‘ชาลา เฮด ชาลา!!’ กันแทบทั้งสิ้น จนเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเพลงจากการ์ตูนแห่งยุคที่มีอิทธิพลถึงปัจจุบัน