วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม Xpeng ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2023 ขาดทุนสุทธิ 2,800 ล้านหยวน (13,784 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ที่ขาดทุน 2,700 ล้านหยวน (13,119 ล้านบาท) และนับว่าเป็นไตรมาสที่ขาดทุนมากที่สุดนับแต่เข้าตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ในปี 2020 อีกทั้งขาดทุนมากกว่าที่นักเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2,130 ล้านหยวน (10,486 ล้านบาท)

Xpeng ทำรายได้รวม 5,060 ล้านหยวน (24,910 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2022 ถึง 31.9% แถมมีอัตรากำไรขั้นต้น -3.9% เทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 มีอัตรากำไรขั้นต้นเป็นบวกถึง 10.9% คาดว่าเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่ดุเดือดด้วยการทำสงครามราคา ทั้งจากรถยนต์ไฟฟ้าค่ายจีนอย่าง Li Auto, BYD และ Nio รวมทั้งค่ายสหรัฐฯ คือ Tesla

อย่างไรก็ตาม Xpeng อ้างว่าสงครามราคาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์รุ่นล่าสุด G6 Ultra Smart Coupe SUV มากนัก และคิดว่าจะมีกลยุทธ์ที่ทำให้บริษัทกลับมาเติบโตและขยายใหญ่ขึ้นได้

นอกจากนี้ในไตรมาสที่ 2 มีอัตรากำไรจากรถยนต์ -8.6% ซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2022 ที่เป็นบวก 9.1% และติดลบมากกว่าไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ที่ติดลบอยู่ 2.5%

บริษัทเผยว่าการลดลงเกิดจากการตัดสินค้าคงคลัง การขาดทุนจากการซื้อสินค้าคงคลังของ XPENG G3i การส่งเสริมการขายที่เพิ่มขึ้น และสิ้นสุดการให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ทั้งนี้บริษัทจะแก้ปัญหาด้วยการลดต้นทุนโดยรวม 25% ภายในปี 2024 เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และมีเป้าหมายจะผลิตรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติในราคาถูกที่ 150,000 หยวน (730,471 บาท)

Xpeng ได้ปล่อยรถยนต์รุ่น G6 เมื่อปลายเดือนมิถุนายนเพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย และปรับปรุงอัตรากำไรขั้นต้นให้ค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งตั้งเป้าว่าไตรมาสที่ 3 จะส่งมอบรถยนต์ได้ 39,000 – 41,000 คัน เพิ่มขึ้นประมาณ 31.9% – 38.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา และจะมีรายรับรวมมากกว่า 8,500 ล้านหยวน (41,335 ล้านบาท)

เดือนกรกฎาคม โฟล์คสวาเกนประกาศลงทุนใน Xpeng ประมาณ 700 ล้านเหรียญ (24,092 ล้านบาท) ด้วยการถือหุ้น 4.99% เพื่อร่วมกันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าใหม่ 2 รุ่น สำหรับตลาดในประเทศจีน โดยใช้แพลตฟอร์ม G9 ‘Edward’ ของ Xpeng และยังมีซอฟต์แวร์ช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง

ที่มา : asia.nikkei.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส