วันนี้ หนุ่ย พงศ์สุข ขอมาทดสอบระบบที่กำลังจะเริ่มใช้งานกันแล้ว มาดูความพร้อมของรถเมล์ไทย กับระบบ Cash Box และ E-Ticket เรามาดูกันว่าระบบมันจะเจ๋งขนาดไหน และเป็นอย่างไรบ้าง? บอกเลยว่าครั้งนี้ หนุ่ย พงศ์สุขเทสสดจริง ๆ ไม่มีตัดต่อ ไม่มีสแตนอิน ไม่มีตัวแสดงแทนเช่นเคย จะน่าสนใจขนาดไหน ก้าวต่อไปของการเดินทางรถโดยสารสาธารณะที่กำลังมีการปรับปรุงครั้งใหญ่โดย ขสมก. ในวันครบรอบ 41 ปีครั้งนี้ ซึ่งกำลังจะมีบริการใหม่ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือรถเมล์ในเขตกรุงเทพฯ – ปริมณฑล กว่า 2,600 คันแล้วเสร็จภายในปี 2561 โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ

กล่อง Cash Box

เป็นกล่องสำหรับคิดค่าโดยสารผ่านการหยอดเหรียญโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นเหรียญสตางค์ สามารถหยอดได้หมด ซึ่งเราสามารถเลือกว่าจะจ่ายค่าโดยสารแบบปกติ แบบโดยสารผ่านทางด่วน หรือแบบลดหย่อนสำหรับผู้สูงอายุ หลังจากหยอดเรียบร้อย กดตกลง ระบบจะทำการตัดเงินและปริ้นตั๋วโดยสารออกมาให้เราถือ ซึ่งจะมีพนักงานตรวจขึ้นมาทำการตรวจ หากกดผิดประเภท หรือไม่ได้กด จะต้องถูกปรับเงิน ให้ระวังตรงจุดนี้เอาไว้ด้วย ซึ่งกล่องนี้จะมีเพียง 1 จุดต่อ 1 คัน เริ่มใช้งานวันที่ 1 ตุลาคมนี้ก่อน 100 คันและจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนครบทั้งสิ้น 2,600 คันในเดือนมิถุนายนปี 2561

เครื่องสแกนบัตร E-Ticket

เป็นบริการใหม่ที่กำลังพัฒนาขึ้นมา เป็นเครื่องสแกนบัตรแบบ RFID ทำงานโดยการสแกนบัตรครั้งแรกเพื่อยืนยันการขึ้นรถ และแตะครั้งที่ 2 เพื่อยืนยันการลงจากรถและทำการหักเงินออกไป ซึ่งกลุ่มบัตร E-Ticket จะมีจำแนกออกมาเป็นอีก 3 บัตรด้วยกันคือ

บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

จะเป็นบัตรที่ออกให้โดยภาครัฐฯ ซึ่งบัตรนี้จะมีมูลค่าการใช้งานอยู่ 500 บาทต่อเดือน นอกเหนือจากการใช้กับรถเมล์แล้ว ยังสามารถนำไปใช้จ่ายตามที่ต่าง ๆ เช่น บริการชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ได้อีกด้วย โดยมูลค่าของบัตรจะถูกเติมให้ทุก ๆ เดือน หากใช้ไม่หมดก็จะถูกตัดทิ้งแล้วเติมเข้าไป 500 บาทเช่นเดิม ให้ระวังตรงจุดนี้ด้วย ซึ่งบัตรสวัสดิการตัวนี้จะเริ่มส่งมอบให้ก่อน 200,000 ใบในช่วงวันที่ 17 ตุลาคมนี้ และจะส่งมอบให้ครบประมาณ 1.3 ล้านรายภายในเดือนมิถุนายนปีหน้า

บัตรโดยสารของ ขสมก.

บัตรที่ใช้สำหรับเดินทางรถโดยสารสาธารณะ หรือรถเมล์โดยเฉพาะ เป็นรูปแบบ Top-up เติมเงินปกติตามจุดให้บริการ ปัจจุบันยังไม่มีกำหนดการออกบัตรตัวนี้

บัตรแมงมุม

บัตรที่ทางภาครัฐกำลังดำเนินการ โดยเป็นบัตรที่จะสามารถชำระค่าบริการได้ทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น BTS MRT BRT หรืออื่น ๆ รวมไปถึงการชำระค่าบริการ ขสมก. นี้ด้วย ซึ่งบัตรตัวนี้จะเริ่มมีการจำหน่ายในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2561

โดยบริการทั้ง 2 ตัวนี้ในช่วงแรกจะมี พนักงานเก็บค่าโดยสารเดิมจะมีส่วนช่วยในการอธิบายการใช้งานให้ประชาชนก่อนในช่วงแรก ๆ หลังจากนั้นจะเริ่มปรับลดจำนวนพนักงานในส่วนนี้ลง โดยจะส่งไปทำงานในส่วนอื่น ๆ ไม่ได้ไล่ออกแต่อย่างใด ซึ่งบริการนี้จะเริ่มมีการใช้งานจริงครั้งแรกภายในวันที่ 17 ตุลาคมนี้หลังจากส่งมอบบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยชุดแรกเสร็จสิ้นนั่นเอง