ปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้ว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผลสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยปี 2561 ที่ผ่านมาของ ETDA ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจคือ

ปัจจุบันคนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อวันหนักหน่วงมาก ๆ ในทุก ๆ Generation เฉลี่ยที่ 9 ชั่วโมง 48 นาทีในวันธรรมดา และกว่า 10 ชั่วโมง 54 นาทีในวันหยุด เรียกได้ว่าวันนึงเนี่ย ใช้งานอินเทอร์เน็ต กันมากกว่า 1 ใน 3 ของวัน แต่ไม่ต้องตกใจหรือแปลกใจกับตัวเลขนี้เพราะปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียนการสอน ก็ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งนั้น

อีก 1 ข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนไทยใช้ Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip สูงมากถึงวันละ 3 ชม. ครึ่งต่อวัน ใช้ YouTube และ Line TV กว่า 2 ชั่วโมงครึ่งต่อวันในการดูวีดิโอแบบสตรีมมิ่ง ส่วนการส่งข้อความพูดคุย ก็ใช้เวลาไปกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันผ่าน Messenger กับ LINE

และอย่างที่เราทราบกันว่า คนไทยส่วนใหญ่ ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ตโฟน และการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นของคนไทยตามที่เล่ามาก่อนหน้านี้ ก็หมายความว่า ปริมาณการใช้ Data จะต้องมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผู้ให้บริการทุกค่าย จึงติดสปีด เร่งพัฒนาคุณภาพของสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เพื่อประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งการพัฒนาคุณภาพของสัญญาณนั้น ผู้ให้บริการต้องเร่งขยายสถานีฐาน ซึ่งเป็นจุดรับ – ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ยิ่งมีสถานีฐานครอบคลุมมากขึ้นเท่าไหร่ สัญญาณก็จะยิ่งไหลลื่นและเสถียรมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งถ้าพิจารณาข้อมูลการขยายสถานีฐานจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ (กสทช.) เราจะเห็นว่า ในไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 จำนวนสถานีฐานของทุกเครือข่าย เติบโตเท่ากับ 10,040 สถานี (สีเหลือง) และ 9,411 สถานีฐาน (สีชมพู) ต่อปีตามลำดับ แต่ถ้าดูข้อมูลของ dtac ล่าสุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 61 – มิถุนายน 62) สามารถขยายสถานีฐาน ทุกคลื่นของ dtac รวมกันได้มากถึง 21,146 สถานี ใช้เงินลงทุนไปกว่า 19,528 ล้านบาทเลยทีเดียว ถ้าเทียบกับการเติบโตของสถานีฐานในประเทศไทย dtac ขยายได้เร็วกว่าประมาณ 2 เท่า ซึ่งถือว่า เร็วที่สุด ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

ตัวเลขจากเว็บไซต์ telecomlover ที่อ้างอิงข้อมูลผ่านรายงานของ nPerf เอาเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ แสดงให้เห็นว่า dtac ครองแชมป์ดาวน์โหลดที่เร็วที่สุดถึง 21.04 Mbps ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นมีอัตราการดาวน์โหลดที่ 19.70 Mbps และ 19.65 Mbps ตามลำดับ และนอกจากนั้น “dtac ยังมีผลทดสอบอัตราการใช้งานสำเร็จ (Success Ratio) สูงสุดอยู่ที่ 92.88%” ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นมีอัตรา 90.73% และ 90.37% ตามลำดับอีกด้วย แต่ขณะเดียวกัน ค่ายอื่นก็มีจุดเด่นด้านการอัปโหลด data ที่เร็วและค่าความหน่วงที่ต่ำกว่า

จากตัวเลขนี้ คาดว่า dtac เองน่าจะกำลังเร่งพัฒนาเรื่องของความเร็วในการการอัปโหลดให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า นอกจากการขยายสถานีฐานและประสิทธิภาพการใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้ว อีก 1 ความท้าทายที่คนจับตามอง นั่นคือการที่ dtac ได้คลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งเป็นคลื่นย่านความถี่ต่ำมาให้บริการ

หลังจากที่ กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ให้กับทุกค่าย โดยคาดว่าจะเริ่มต้นใช้ความถี่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่ง dtac ได้รับความถี่ย่าน 700 MHz มาเติมเต็มประสิทธิภาพการใช้งานและช่วยให้สัญญาณครอบคลุมมากกว่าเดิม และเตรียมพร้อมต่อยอดไปสู่ยุค 5G อีกด้วย ขณะเดียวกันยังมีคลื่น 900 MHz ที่ dtac เตรียมติดตั้งให้ลูกค้าใช้งานในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

Play video

ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของ CEO หญิงคนแรก คุณ Alexandra Reich ในการที่จะขับเคลื่อน dtac ไปข้างหน้า เหมือนที่เธอเคยพูดว่า dtac จะไม่หยุดพัฒนาเพื่อลูกค้า แต่ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า CEO หญิงคนนี้ จะทำได้จริงตามสัญญาหรือไม่ ท่ามกลางสงครามผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่กำลังแข่งกันอย่างดุเดือดอย่างชนิดที่ว่าเหยียบคันเร่งกันมิดไมล์เลยทีเดียว