รู้หรือไม่ว่า ปลั๊กไฟ  หรือ รางปลั๊กก็คือสาเหตุหนึ่งของการเกิดไฟไหม้!! ไม่ว่าจะเป็นรางปลั๊กไฟไม่ได้มาตรฐาน ต่อพ่วงอุปกรณ์เยอะเกินไป หรือใช้แรงดันไฟเกินกว่าที่รางปลั๊กจะรับได้!! วันนี้ ผึ้งจะมาบอก 6 เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อรางปลั๊กไฟ เพื่อให้บ้านของคุณปลอดภัย ห่างไกลจากไฟไหม้

1 สำรวจปลั๊กไฟ ก่อนที่เราจะเริ่มต้นกัน ก็ต้องสำรวจตัวเองก่อนเลยว่าเราจะเอารางปลั๊กไฟนี้ไปใช้งานที่จุดไหน มีอุปกรณ์ที่ต้องต่อพ่วงกี่ชิ้น เราจะได้เลือกรางปลั๊กให้เหมาะสมกับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเต้ารับต้องเพียงพอกับจำนวนอุปกรณ์ ความยาวของสายไฟที่ไม่ยาวและไม่สั้นจนเกินไป แต่บอกไว้ก่อนว่ามาตรฐานของรางปลั๊กในคลิปนี้ คือมาตรฐานของประเทศไทย ใครอยู่ต่างประเทศจะซื้อรางปลั๊กก็ต้องดูตามมาตรฐานของประเทศนั้น ๆ นะคะ

ตามมาตรฐานชุดสายพ่วง มอก.2432-2555 ระบุไว้ว่า เต้ารับหรือช่องเสียบนั้น ต้องเป็นเต้ารับแบบ 3 รูเสียบ มีขั้วสายดิน มีสัญลักษณ์ระบุทางเดินกระแสไฟฟ้า คือ L, N, G

L ย่อมาจาก Line (ไลน์) เป็นสายไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่
N ย่อมาจาก Neutral (นิวทรัล) เป็นสายไฟฟ้าที่ไม่มีกระแสไฟฟ้า
G ย่อมาจาก Ground (กราวด์) หรือสายดินนั่นเอง

นอกจากนี้ที่เต้ารับยังต้องมี Shutter หรือม่านนิรภัย ที่คอยป้องกันช่องเสียบเอาไว้ ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ และผู้ใช้งานไม่ให้โดนไฟดูด

2 เต้าเสียบหรือขาปลั๊ก ต้องเป็นแบบ 3 ขากลม ซึ่งเป็นขาเต้าเสียบ 2 ขา และขาสายดิน 1 ขา ที่โคนขาปลั๊กไฟต้องมีฉนวนป้องกันกระแสไฟฟ้า และขาทั้ง 3 ขา จะไม่สามารถหมุนออกได้ สารภาพมาซะดี ๆ ใครเคยหักขาปลั๊กสายดินทิ้ง บ้านไฟไหม้ไม่รู้ด้วยนะ และสำหรับคนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ควรจะมีหัวแปลงแบบ International ด้วยนะคะ เพราะขาปลั๊กแบบกลมนี่ไปเสียบที่อื่นนอกจากประเทศไทย มันจะบึ้มเอาได้นะคะ นอกจากนี้ที่เต้าเสียบจะต้องมีสัญลักษณ์ระบุทางเดินกระแสไฟฟ้า คือ L, N, G รวมไปถึง ผู้ผลิต, รหัสสินค้า, แรงดันไฟฟ้าที่กำหนด, กระแสไฟฟ้า และเลขที่ มอก.166-2549

3 สายไฟฟ้า ต้องใช้สายไฟชนิดกลม และมี 3 ขั้ว โดยแรงดันไฟฟ้าของสายไฟต้องไม่ต่ำกว่าของเต้ารับและเต้าเสียบ และถ้าคุณคิดว่าเต้าเสียบเล็กแล้วข้อมูลยังมีเยอะได้ บนสายไฟที่เล็กกว่า ทำไมจะมีข้อมูลเยอะบ้างไม่ได้!! เพราะบนสายไฟจะต้องระบุ

  • ผู้ผลิต
  • รหัสชนิดของสายไฟ
  • แรงดันไฟฟ้าที่กำหนด
  • จำนวนแกนและพื้นที่หน้าตัด
  • อุณหภูมิสูงสุดของตัวนำบนสายไฟ
  • เลขที่ มอก.11-2553

4 ขนาดกระแสไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ควรเลือกรางปลั๊กที่รองรับกำลังไฟการใช้งานอุปกรณ์หลาย ๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน โดยดูที่จำนวนวัตต์ (Watt) ที่ระบุอยู่บนรางปลั๊กและเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น รางปลั๊กรองรับ 2,500 วัตต์ อุปกรณ์ที่นำมาเสียบคือ หม้อหุงข้าว 1,500 วัตต์ และเตาไมโครเวฟ 1,000 วัตต์ รวมขนาดกระแสไฟฟ้าได้ 2,500 วัตต์ ไม่เกิน แต่พอดีเป๊ะแบบนี้ก็อาจจะเสี่ยงไปหน่อย แต่ถ้าอุปกรณ์ที่นำมาเสียบคือหม้อหุงข้าว 1,500 วัตต์ และเครื่องชงกาแฟ 600 วัตต์ รวมขนาดกระแสไฟฟ้า 2,100 วัตต์ แบบนี้จะปลอดภัยกว่านะคะ และสำหรับรางปลั๊กที่ต่อพ่วงอุปกรณ์หลาย ๆ ชิ้น ก็ควรจะมี สวิตช์ไฟฟ้า เผื่อไม่ใช้ไฟฟ้าในช่องไหนจะได้ปิดสวิตช์ได้ ไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านให้สิ้นเปลือง

5 อุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน เราจะเจออุปกรณ์นี้ได้ในรางที่มีปลั๊ก 3 ตัวขึ้นไป เราจะเจออุปกรณ์นี้ได้ในรางปลั๊กไฟที่มี 3 ช่องขึ้นไป อุปกรณ์ที่ใช้ได้ คือ Circuit Breaker หรือ Circuit Switch ส่วนแบบฟิวส์เขาไม่ให้ใช้แล้วนะ

6 คือเครื่องหมายและฉลาก โดยฉลากต้องระบุกระแสไฟฟ้า, แรงดันไฟฟ้า, เครื่องหมายการค้า, รุ่นสินค้า และกำลังไฟฟ้าสูงสุด แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าฉลากจะหายไปไหน เพราะเดี๋ยวนี้เขาพิมพ์มาบนตัวรางปลั๊กเลย! ติดแน่นทนนาน!!

และนี่ก็คือ 6 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนซื้อรางปลั๊กไฟค่ะ แต่เดี๋ยวนี้รางปลั๊กก็พัฒนากันไปไกลแล้ว มีทั้งช่องเสียบ USB ใช้วัสดุทนไฟ บางรุ่นก็สามารถสั่งการผ่านสมาร์ตโฟนได้ด้วย เจ๋งสุด ๆ สำหรับฟังก์ชันเพิ่มเติมเหล่านี้ก็เลือกใช้ให้ตรงกับความต้องการนะคะ แล้วถ้าชอบคลิปนี้ก็อย่าลืมชอบ ช่วย แชร์ นะคะ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส