เมื่อเราเป็นหนี้แล้ว จะต้องเป็นหนี้แบบมีวันจบ! ทีเอ็มบีและธนชาต ผู้นำแนวคิด #MakeREALChange ชวนคนไทย #แก้หนี้ ผ่านการปลดล็อก 3 มิติสำคัญ ในงาน “FIN TALK by TMB | Thanachart ปลดล็อกชีวิตหนี้ สู่วิถีการเงินใหม่” นำทีมโดย “ปิติ ตัณฑเกษม” ซีอีโอ ทีเอ็มบี, “โค้ชหนุ่ม – จักรพงษ์ เมษพันธุ์” The Money Coach และ “ดุจดาว วัฒนปกรณ์” นักจิตบำบัดประจำรายการ R U OK Podcast

ยอมรับสภาวะจริง! คุณก่อหนี้เพราะอะไร?

เมื่อต้องเจอกับปัญหาหนี้ก้อนโต คุณดุจดาวแนะนำว่า เราต้องยอมรับความเป็นจริงและยอมรับการเป็นหนี้ ในจุดนี้จะเป็นการรวบรวมสติเพื่อเริ่มต้นการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง โดยการแก้หนี้ต้องเริ่มจาก Mental (จิตใจ) เป็นอันดับแรก เมื่อจิตใจสงบ เราจะพร้อมรับวิธีการแก้ปัญหา เรียนรู้และเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด จนเกิดเป็น Knowledge (ความรู้) จากนั้น Action (การแก้ปัญหา) จึงตามมา

เราทุกคนมีหนี้ เพื่ออะไรบางอย่างในชีวิตเสมอ ใคร ๆ ก็อยากเจริญเติบโต อยากมั่นคง เพราะฉะนั้นมันโอเคที่เราจะเป็นหนี้

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดประจำรายการ R U OK Podcast

คุณดุจดาวยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งสามขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดคนเดียว เราสามารถขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ หรือผู้เชี่ยวชาญได้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ธนาคาร เจ้าหนี้ของเรานั่นเอง

Repayment Plan สิ่งที่คนไทยไม่ได้สอนก่อนก่อหนี้

วิธีที่ง่ายที่สุดในการแก้หนี้คือ “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้” แต่โดยมุมมองของโค้ชหนุ่มแล้ว เขามองว่า การลดรายจ่าย เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าหารายได้เพิ่ม โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้

คนไทยสอนกันผิด ๆ สอนว่าอย่าเป็นหนี้ พอเป็นหนี้แล้วแก้ไม่ได้ คนก็อาย แล้วก็แก้ปัญหากันผิด ๆ ใครบ้างทำงานมา 10 ปี แล้วซื้อบ้านด้วยเงินสดได้ มันไม่มีครับ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเป็นหนี้ ซึ่งผมอยากให้เรียกว่า สินเชื่อ สิ่งที่ควรสอน ไม่ใช่ว่าอย่าเป็นหนี้ มันต้องสอนว่าจะใช้หนี้เขายังไง เมื่อกู้มาแล้ว สอนทำ Repayment Plan ตลอดอายุสัญญา ไม่ใช่มองระยะสั้น ๆ ปีสองปีแบบนี้

โค้ชหนุ่ม – จักรพงษ์ เมษพันธุ์ The Money Coach

อีกหนึ่งสิ่งที่โค้ชหนุ่มแนะนำคือ Repayment Plan หรือแผนการจ่ายคืน นี่คือสิ่งที่ยั่งยืนที่สุดในการทำสินเชื่อ หากอายุสัญญายาวนาน 30 ปี เราต้องวางแผนให้ได้ว่าตลอดอายุสัญญานั้น เราจะจ่ายหนี้คืนอย่างไร ไม่ใช่มองเพียง 2-3 ปีแรกที่ต้องจ่ายคืน การรีไฟแนนซ์คือการย้ายเจ้าหนี้ ไม่ใช่การแก้ไขหนี้ที่ถูกต้องและยั่งยืน

หนี้เป็นได้ แต่ต้องเลือกอาวุธให้ถูก

คุณปิติ ซีอีโอ ทีเอ็มบี ชี้ให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตเร็วมาก จนกลายเป็นปัญหาพื้นฐานใหญ่ของประเทศ โดยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 34% โดยปัญหาหนี้อาจเกิดจากความคิดและพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัว ประกอบกับธนาคารเองก็ได้มีการออกผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เพื่อสร้างความสะดวกในการใช้จ่ายและช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น

ในช่วงวิกฤตนี้ ทำให้เกิดการกลับมาทบทวนบทบาทของธนาคารที่มีต่อสังคม ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหา ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ปัญหา เพราะธนาคารเป็นส่วนหนึ่งของระบบพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากสามารถช่วยเหลือ หรือสร้างผลกระทบให้กับคนไทยทั้งประเทศ มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่เป็นเดิมพัน ดังนั้น ธนาคารไม่ได้มีบทบาทเป็นเจ้าหนี้ที่คอยทวงหนี้ แต่ต้องเป็นคลินิกช่วยรักษา ช่วยวินิจฉัยโรค และช่วยจ่ายยาให้กับคนไข้ที่กำลังมีปัญหาหนี้

ปิติ ตัณฑเกษม ซีอีโอ ทีเอ็มบี

คุณปิติยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนที่จะจับจ่ายหรือซื้อสินค้าใด ๆ ให้คิดก่อนเสมอว่าสิ่งนี้จำเป็นหรือไม่ คุ้มค่าไหมกับการต้องเป็นหนี้ หากคิดแล้วว่าคุ้ม ต้องเลือกอาวุธหรือสินเชื่อให้ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยที่ไม่จำเป็น

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส