รู้ไว้ก่อนยื่นภาษีปี 2564 ค่าลดหย่อนภาษีปีนี้มีอะไรบ้างวันนี้ beartai มีคำตอบ เริ่มเข้าปี 2564 ถึงฤดูกาลยื่นภาษีแล้ว โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่คนไทยทุกคนต้องแสดงรายได้ หากรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็จะต้องเสียภาษีตามอัตราที่กรมสรรพากรตั้งไว้ แต่ยังมีส่วนของ ค่าลดหย่อนภาษี ที่ช่วยให้การคำนวณค่าภาษีของเราให้ถูกลง มาดูกันว่าการยื่นภาษี 2564 รัฐกำหนดให้อะไรใช้ลดหย่อนภาษีได้บ้าง

กลุ่มที่ 1 ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว

ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

เงื่อนไข

  • ลดหย่อนภาษีได้ทันทีที่ยื่น

ค่าลดหย่อนคู่สมรส กรณีไม่มีรายได้หรือยื่นร่วม 60,000 บาท

เงื่อนไข

  • สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส
  • คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน ไม่ได้แยกยื่นแบบฯ

ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท

เงื่อนไข

  • ถ้าเป็นบุตรตามกฎหมาย ได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
  • หากเป็นบุตรบุญธรรม ได้ไม่เกิน 3 คน

ค่าลดหย่อนบิดามารดา คนละ 30,000 บาท

เงื่อนไข

  • บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท

เงื่อนไข

  • ผู้ทุพพลภาพต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ

ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ และคลอดบุตร ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 60,000 บาท

กลุ่มที่ 2 ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการลงทุน

  1. ประกันสังคม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 7,200 บาท
  2. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป / เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  3. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
  4. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
  6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30%ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท *เงื่อนไขคือต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปี
  7. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  8. เงินสะสมจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไม่เกิน 13,200 บาท
  9. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
  10. กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

*ข้อ 2 และ 3 รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท *ข้อ 5 – 9 รวมแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อนอสังหาริมทรัพย์

  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • โครงการบ้านหลังแรกปี 2559 ไม่เกิน 120,000 บาท

อสังหาฯที่เข้าเงื่อนไขมีอะไรบ้าง?

บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์ อาคารชุด คอนโด พูดง่าย ๆ คือ คนที่ซื้อที่ดินมาหรือมีที่ดินอยู่แล้ว นำมาสร้างบ้านเอง อันนี้ใช้ไม่ได้

ราคาอสังหาฯต้องเท่าไร ดูยังไง?

ต้องไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยราคาที่จะใช้ตามเงื่อนไขคือราคาจากสัญญาซื้อขายของกรมที่ดิน ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน (ท.ด. ๑๓) ที่มีตราครุฑ เท่านั้น ถ้าราคาตามเอกสารนี้ไม่เกิน 3 ล้าน ก็คือใช้ได้หมด

ช่วงเวลาที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ตอนไหน?

ไม่ว่าจะซื้อสดหรือกู้ซื้อ จะเป็นบ้านใหม่ บ้านมือสอง ได้หมด แต่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 13 ตุลาคม 2558 – 31 ธันวาคม 2559

กลุ่มที่ 4 เงินบริจาค

  • เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สนับสนุนการกีฬา เงินบริจาคเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
  • กลุ่มเงินบริจาคทั่วไป เช่น บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

กลุ่มที่ 5 ค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

  • โครงการช้อปดีมีคืน สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือบริการในช่วงเวลา 23 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยได้รับเงินภาษีคืนตามะระดับรายได้
  • ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง เมื่อมีเงินได้จากค่าเช่า ค่าวิชาชีพอิสระ หรือเงินได้การประกอบธุรกิจอื่น ๆ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพยิ่งขึ้น

เช่น นางสุพิณ ยิ้มแฉ่ง ได้เงินสุทธิต่อปี 450,000 บาท

ลดหย่อนด้วยค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท)
– 100,000 บาท

ค่าลดหย่อนส่วนตัว
– 60,000 บาท

ค่าลดหย่อนบิดามารดา 2 คน คนละ 30,000 บาท
– 60,000 บาท

ค่าประกันสังคม
– 9,000 บาท

450,000 – 100,000 – 60,000 – 60,000 – 9,000 เงินได้สุทธิ = 221,000 บาท

จะต้องเสียภาษีตามวิธีการคำนวณภาษีแบบขั้นบันได ในช่วงระหว่าง 150,001 – 300,000 โดยเงินได้สุทธิ 221,000 บาท 221,000 – 150,000

การคำนวณภาษี

71,000 x 5% =3,550 บาท

เท่ากับว่าเราจะต้องเสียภาษี 6,550 บาท แต่ถ้าคุณมีสิทธิลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เพิ่มเติมก็จะสามารถลดหย่อนได้มากกว่านี้ ดีไม่ดีสามารถขอเงินคืนได้ด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส