ท่ามกลางความดุเดือดของตลาดหูฟังแบบ True Wireless ผมได้หูฟังที่ถูกใจคู่ใหม่แล้วครับ นี่คือ OnePlus Buds Pro หูฟังไร้สายที่แท้ทรูหรือ TWS รุ่นล่าสุดจากแบรนด์ OnePlus และเป็นรุ่นพรีเมี่ยมรุ่นแรกด้วย ที่ทำออกมาได้ไม่เสียชื่อคำว่า Pro ในชื่อรุ่นครับ

เริ่มต้นด้วยงานออกแบบกันก่อนครับ สิ่งที่ผมชอบอย่างแรกคือเคสของ OnePlus Buds Pro ที่ออกแบบได้ Sleek Design มาก เป็นเคสชาร์จที่ดีไซน์ไม่เหมือนใคร ขนาดเล็ก พกพาง่าย แถมยังให้สัมผัสที่แน่นหนาให้ความรู้สึกคงทนมาก ๆ ครับ

แต่เห็นเคสเล็ก ๆ แบบนี้ความสามารถครบนะครับ ด้านหน้านี้มีไฟ LED เล็ก ๆ แสดงสถานะแบตเตอรี่และการชาร์จ ด้านหลังเป็นพอร์ต USB-C เอาไว้เสียบสาย ถ้าชาร์จกับหัวชาร์จ Warp Charge ของ OnePlus เอง ชาร์จ 10 นาทีก็ฟังได้ 10 ชั่วโมงแล้ว โดยหูฟังรุ่นนี้ฟังเพลงได้ต่อเนื่อง 7 ชั่วโมงแบบไม่เปิด ANC ส่วนถ้าเปิดก็จะได้ 5 ชั่วโมงครับ และกลับไปชาร์จในเคสแล้วใช้ได้สูงสุด 38 ชั่วโมง หรือชาร์จได้ประมาณ 4 รอบ

แต่ในกล่องของหูฟังไม่ได้แถมหัวชาร์จมาให้ ในกล่องมีสายชาร์จสีแดงอย่างเดียว ต้องเอาหัวชาร์จจากมือถือ OnePlus มาใช้ ส่วนผู้ใช้แบรนด์อื่นๆ ถ้าใช้หัวชาร์จกำลังไฟ 5V 1.5A ขึ้นไป ก็จะชาร์จเร็วเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถชาร์จไร้สายได้ด้วย แค่เอาเคสไปวางบนแท่นชาร์จไร้สายเท่านั้นเอง

ดีไซน์

ดีไซน์ของตัวหูฟังเป็นแบบก้านสั้นแบบนี้นะครับ ซึ่งพอเป็นแบบก้านสั้นก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเวลาใส่หน้ากากอนามัย ขาหูฟังไม่ไปเกี่ยวสายหน้ากาก

สีสันของหูฟังก็เป็นแบบทูโทนครับอย่างหูฟังสีดำ Matte Black ที่เราได้มารีวิว ก็จะเป็นดำที่มีปลายแวววาวแบบนี้ ส่วนหูฟังสีขาว Glossy White ตรงปลายก็จะแวววาวเหมือนกัน แต่เป็นโทนที่สว่างกว่า ส่วนสีเคสก็จะเป็นสีตามตัวหูฟังครับ ซึ่งเราว่าสีขาวก็สวยดีนะครับ

OnePlus Buds Pro กันน้ำกันฝุ่นในระดับ IP55 คือกันเหงื่อ กันฝนได้ แต่ไม่ใช่ตกน้ำแล้วจะไม่เป็นไรนะครับ หูฟังรุ่นนี้เป็นแบบ In-ear ตรงปลายก็จะเป็นจุกซิลิโคนแบบนี้ ซึ่งในกล่องก็จะมีจุกให้เลือกอีก 2 ขนาดรวมเป็น 3 ขนาด ก็เลือกให้เหมาะสมกับหูของเรานะครับ ใส่ผิดขนาด จะใส่ไม่สบาย และเสียงไม่ดี

ซึ่งความรู้สึกการสวมใส่ OnePlus Buds Pro ก็จัดว่าดีเลย ใส่สบายหู ใส่นาน ๆ ได้ไม่ล้าหูมากนัก และเกาะหูดีมาก ผมลองสะบัด ๆ หัวดู หูฟังก็ยังไม่หลุดออกจากหูนะ

สเปก

มาถึงเรื่องสำคัญคือคุณภาพเสียง เริ่มจากสเปกด้านเสียงก่อน OnePlus Buds Pro นั้นใช้ Dynamic Driver ขนาด 11 mm เพื่อให้เสียงเบสที่ดี พร้อมรองรับความถี่เสียงได้ 20 – 20,000 Hz ซึ่งเป็นช่วงความถี่มาตรฐานของหูมนุษย์ ไม่ได้รองรับความถี่ในระดับ Hi-Res นะครับ ที่สำคัญคือ Codec ที่หูฟังรุ่นนี้รองรับ 3 ตัวคือ SBC, AAC และ LHDC หรือ Low Latency High-Definition Audio Codec ซึ่งวันนี้ผมจะเล่าเรื่อง

LHDC ให้ฟัง LHDC เป็นหนึ่งใน Codec บีบอัดเสียงคุณภาพสูงสำหรับ Bluetooth ที่พัฒนาโดย Savitech จากไต้หวัน จุดเด่นคือการทำงานแบบ Adaptive ที่ปรับอัตราการส่งข้อมูลให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมอัตโนมัติ โดยมีอัตราการส่งข้อมูล 3 ระดับคือ 400 / 560 / 900 kbps สมมุติเราอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีคลื่นรบกวนเยอะๆ สมาร์ตโฟนก็จะปรับการส่งสัญญาณเหลือแค่ 400 kbps ให้ฟังเพลงได้ไม่สะดุดจนเสียอารมณ์ แต่ถ้าเราฟังเพลงใกล้มือถือในห้องที่สัญญาณรบกวนน้อย ระบบก็จะดัน Bandwidth ขึ้นไปถึง 900 kbps ที่สามารถรองรับคุณภาพเสียงระดับ Hi-Res ที่ 96 kHz / 24 Bit แบบ Lossy ได้

LHDC จึงเป็นรูปแบบการบีบอัดเสียงที่มีคุณภาพเหนือกว่า SBC, aptX และ AAC นะครับ และเป็นมาตรฐานคู่แข่งกับ LDAC ของ Sony และ aptX Adaptive ของ Qualcomm

ผมไม่อาจอัดเสียงจาก OnePlus Buds Pro ไปให้ฟังได้เหมือนกับที่ผมได้ยิน แต่ผมจะบรรยายเสียงที่ได้ยินแทน ตอนนี้ผมเปิดเพลงผ่าน Tidal และเข้าหน้า Developer Option ของ OnePlus Nord 2 ที่รองรับ LHDC นะครับ หน้าจอนี้บอกว่าสมาร์ตโฟนกับหูฟังกำลังเชื่อมต่อผ่าน LHDC อยู่ โดยใช้รูปแบบ Adaptive Bit Rate

ผมกดเลือก Bluetooth Audio Codec ตรงนี้ จาก LHDC เป็น AAC เสียงจะตัดไปแป๊บหนึ่งเพื่อเปลี่ยน Codec ซึ่งเสียงจาก AAC นั้นต่างจาก LHDC ไม่เยอะครับเพราะ AAC ก็ถือว่าเป็น Codec คุณภาพสูงเหมือนกัน เสียงจาก LHDC จะกระจ่างเคลียร์กว่านิดหน่อย แต่ถ้าผมกดเทียบระหว่าง SBC กับ LHDC อันนี้เสียงแตกต่างกันชัดเจนมาก เสียงฝั่ง SBC จะอู้อี้กว่า การแยกเสียงเบส-กลาง-สูงไม่ชัดเท่า LHDC

ซึ่ง SBC จะเป็น Codec มาตรฐานที่อุปกรณ์ Bluetooth ทุกตัวต้องรองรับ คุณภาพเสียงเลยจำกัดหน่อย ส่วน AAC เป็น Codec เสียงที่อุปกรณ์แอปเปิ้ลรองรับ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะซื้อหูฟังอะไรไปใช้กับ iPhone ก็จะใช้ได้เพียง SBC หรือ AAC เท่านั้นครับ ใช้ LHDC ไม่ได้

โดยคุณภาพเสียงของ OnePlus Buds Pro นั้นน่าประทับใจครับ เสียงดีตั้งแต่แรกฟัง ไม่ต้องใช้เวลาเบิร์นนานเลย

  • เสียงเบส: หนักแน่น แรงกระแทกเยอะ แต่กระชับอยู่ในร่องในรอย ไม่ไปกวนเสียงกลางจนเสียกระบวน
  • เสียงกลาง: ให้เสียงร้องหวาน ฟังได้เพลินๆ
  • เสียงแหลม: ให้ปลายทู่นิด ๆ กำลังฟังสบาย ไม่ได้แหลมคมขนาดมีประกาย และไม่ได้ชัดขนาดเห็นภาพจังหวะฟาดสแนร์ตามเพลง

แล้วหูฟังรุ่นนี้มี OnePlus Audio ID ระบบจูนเสียงให้เหมาะกับหูเราด้วยนะครับ โดยถ้าเป็นสมาร์ตโฟนจาก OnePlus ให้เข้าหน้า Bluetooth ไปปรับที่ปุ่ม Earbud functions หรือถ้าเป็นสมาร์ตโฟนรุ่นอื่น ๆ ให้โหลดแอป HeyMelody มาปรับครับ

ซึ่งการทำงาน OnePlus Audio ID จะให้เราฟังเสียงที่ความถี่ต่าง ๆ ทั้งหูซ้ายและหูขวา แล้วบอกกับแอปว่าเราได้ยินหรือไม่ได้ยินเสียงที่ปล่อยออกมา เพื่อเอาไปสร้างโปรไฟล์การได้ยินของหูเรา เพราะหูต่างคน ต่างช่วงอายุจะมีความสามารถในการได้ยินเสียงต่างกันครับ ซึ่งเสียงที่ผ่านการจูนด้วย Audio ID แล้วจะใสเคลียร์ขึ้นอีกครับ

เรายังสามารถปรับการทำงานของหูฟังได้อีกหลายอย่างในแอป ทั้งกำหนดรูปแบบการบีบก้านหูฟังว่าให้ทำอะไรบ้าง เช่นบีบ 1 ครั้งเพื่อเล่นเพลง หยุดเพลง รับสาย, บีบ 2 ครั้งเปลี่ยนเพลง หรือบีบค้างเพื่อปรับการทำงานของระบบตัดเสียงรบกวน ซึ่งการสั่งงานด้วยการบีบนี่ดีนะครับ ไม่ลั่นง่ายเหมือนหูฟังที่สั่งงานด้วยระบบสัมผัส

นอกจากนี้ในแอปยังสั่งเปิดฟังก์ชัน In-ear Detection หรือ ถอดหูฟังแล้วหยุดเพลงเอง ก็ได้ หรือใช้ฟังก์ชัน Earbud fit Test เพื่อทดสอบจุกหูฟังว่าแน่นเรียบร้อยกับหูดีรึเปล่าก็ได้เช่นกัน

แล้วยังมี Zen Mode Air ที่บีบก้านหูฟังแบบนี้ไว้นานเกิน 3 วินาที หูฟังก็จะส่งเสียง Noise ที่ผ่อนคลายออกมา แถมเรายังเลือกเสียง Noise นี้ได้ด้วยนะ อย่าง Warm Sunrise เป็นเสียงนกร้อง หรือ Nighttime camping เป็นเสียงกองไฟพร้อมจิ้งหรีด คือบางทีเราไม่อยากฟังเพลง แต่เราอยากตัดสิ่งรบกวนภายนอกออกเพื่อทำงานหรือพักผ่อน ก็เลือกใช้โหมดนี้ได้ครับ

ซึ่งระบบตัดเสียงรบกวนของ OnePlus Buds Pro ก็ทำได้ดีเลย โดยมี 3 โหมดย่อยคือ Faint ตัดเสียงน้อยๆ เป็นธรรมชาติ ลดเสียงภายนอกได้ 15 dB และโหมด Extreme ที่ตัดเสียงเยอะหน่อย ลดเสียงภายนอกได้ 40 dB แต่ถ้าเลือกไ่ม่ถูกก็ใช้โหมด Smart ครับ ระบบจะพิจารณาการตัดเสียงรอบข้างให้เหมาะสมเอง

แม้ว่าหูฟังรุ่นนี้จะตัดเสียงได้ในระดับที่น่าพอใจ สามารถฟังเพลงโดยแทบไม่ได้ยินเสียงรบกวนจากภายนอก แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มหูฟัง TWS ที่ตัดเสียงได้เงียบที่สุดในตลาดนะครับ

ส่วนโหมด Transparency ที่รับเสียงภายนอกเข้ามาก็ให้เสียงได้เป็นธรรมชาติเหมือนตอนไม่ได้ใส่หูฟัง ไม่มีเสียงลมอู้อี้เหมือนที่หูฟังบางรุ่นเป็น และยังแยกมิติเสียงภายนอกได้ดี ใช้โหมดนี้ก็ยังคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง เหมาะสำหรับเปิดใช้เวลาเดินถนน

สำหรับคอเกมคงสนใจเรื่องความหน่วงของเสียงหรือ Latency กัน ซึ่งหูฟังรุ่นนี้เราวัดความหน่วงของเสียงในโหมดปกติที่เชื่อมต่อ LHDC บน OnePlus Nord 2 ได้ราว ๆ 250 ms ซึ่งถ้าเอาไปเล่น Doodle Jump 2 ก็จะรู้สึกว่าเสียงเหยียบแท่นช้ากว่าจังหวะเหยียบแท่นอยู่เล็กน้อย

แต่ OnePlus เคลมว่าหูฟังรุ่นนี้ให้ความหน่วงของเสียงต่ำสุดที่ 94 ms เมื่อใช้งานร่วมกับ Pro Gaming mode ใน OnePlus บางรุ่นนะครับ

ข้อสังเกต

ข้อสังเกตของหูฟังรุ่นนี้อยู่ที่เราไม่สามารถควบคุมระดับเสียงจากตัวหูฟังได้นะครับ ต้องกดผ่านสมาร์ตโฟนอย่างเดียว และเวลาใช้งาน ANC ถ้าตัวหูฟังโดนลม เช่นนั่งหน้าพัดลม อาจจะมีเสียงลมเข้าไปในหูได้ครับ

ราคา

OnePlus Buds Pro ตั้งราคาเปิดตัวไว้ 4,999 บาท ก็ถือว่าเป็นราคาที่คุ้มค่าหูฟังที่เสียงดีระดับนี้ ฟังก์ชันเยอะแบบนี้นะครับ หูฟังราคาแพงกว่านี้หลายรุ่นยังไม่เก่ง และเสียงไม่แน่นเท่า OnePlus Buds Pro เลยครับ