Web 3.0 ชื่อนี้ในวงการคริปโทเคอร์เรนซีน่าจะพอคุ้นหูมาบ้างแล้ว แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว ‘Web 3.0’ คืออะไรกันแน่ แล้ว 1.0 2.0 อยู่ไหนล่ะ ? วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับรูปแบบของเว็บไซต์ในอนาคตนี้กัน

แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงการมีอยู่ของ ‘Web 3.0’ แปลว่าก่อนหน้านี้จะต้องมี Web เวอร์ชันก่อน ๆ อย่างแน่นอน คือ Web 1.0 และ Web 2.0 เริ่มจาก Web1.0 พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นเว็บไซต์ในยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตเลย

โดยในปี 1989 ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี วิศวกรด้านคอมพิวเตอร์ของอังกฤษ เป็นคนที่คิดค้นวิธีการสื่อสารข้อความหลายมิติ (Hypertext) ซึ่งมีทั้งภาพ เสียง และข้อความ เป็นการสื่อสารแบบทางเดียว (One Way Communication) ไม่มีการโต้ตอบกลับมาใด ๆ คนที่จะสามารถแก้ไขหน้าตาเว็บไซต์ได้ก็จะมีแต่เจ้าของเว็บไซต์ เท่านั้น อย่างเช่น เว็บไซต์ประกาศข่าว เว็บไซต์รับสมัครงาน เว็บประวัติส่วนตัว เป็นต้น

พอเป็นเว็บที่สื่อสารแค่ทางเดียว มันก็มีข้อจำกัดในการใช้งาน เพราะในยุค Web 1.0 เว็บก็เหมือนห้องสมุดที่ให้คนเข้ามาอ่านได้อย่างเดียว ไม่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ ได้ง่าย ก็เลยมีการพัฒนาเป็น Web 2.0 ขึ้นมา

ซึ่งเจ้า Web 2.0 นี้ สามารถทำได้ทั้งอ่าน แบบใน Web 1.0 แต่สามารถโต้ตอบกันได้อย่างอิสระ ในรูปแบบการสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two Way Communication) สามารถสื่อสารหากันได้ทั้งระหว่างเจ้าของเว็บไซต์และผู้ใช้งาน หรือระหว่างผู้อ่านกันเองได้ ผู้อ่านสื่อสารกันเองได้ จนเกิดเป็นสังคมขึ้น ตัวอย่างเว็บไซต์ประเภทนี้ก็ง่าย ๆ เลยครับ โซเชียลมีเดียที่คุณใช้ดูคลิปนี้อยู่นี่แหละครับ ! ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือทวิตเตอร์ ก็เป็น Web 2.0 ทั้งนั้นเลย

พอเรารู้แล้วว่า Web 2.0 คือโซเชียลเน็ตเวิร์ค แปลว่าเว็บเหล่านั้นมีข้อมูลข่าวสารไหลไปมาอย่างรวดเร็ว และมากมายกว่าเว็บแบบเก่า ๆ แน่นอน พอแก้ปัญหานึงได้ ก็เกิดประเด็นใหม่ขึ้นมาอีก เพราะการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น แม้จะเป็นการติดต่อสื่อสารกันเองระหว่างผู้ใช้ แต่ก็ยังต้องทำผ่าน ‘ตัวกลาง’ นั่นเอง

ตัวกลางในที่นี้ก็คือเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการโซเชียลนั่นเองครับ ข้อมูลที่จะส่งไปหาผู้รับของเรา ยังไงก็ต้องผ่านผู้ให้บริการอยู่ดี คนกลางเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เราสื่อสารกัน พฤติกรรมการใช้งาน เวลาที่เราใช้งานสื่อเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดปัญหาการดักจับข้อมูลของเรา มาวิเคราะห์เพื่อทำโฆษณาที่ตรงใจเรามากขึ้น ทำให้ข้อมูลของเราที่สื่อสารเข้าไปนั้นไม่เป็นข้อมูลส่วนตัวอีกต่อไป หรือมีประเด็นเรื่องการแบน การถูกลบบัญชีทิ้งโดยบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม

พอการสื่อสารที่ผ่านตัวกลาง มันทำให้เกิดความลำบากใจขึ้นมา ก็เลยเกิดการพัฒนาเป็น Web 3.0 นั่นเองครับ

ปัจจุบัน Web 3.0 คือแนวคิด รูปแบบของเว็บไซต์ในอนาคต ที่คาดการณ์ไว้ว่ามันจะเป็นยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ต ที่จะมีความฉลาดมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Machine Learning (ML), Big Data, Artificial Inteligence (AI), Blockchain ทำงานได้อย่างเต็มที่

โดย Web 3.0 นี้เป็นแนวคิดที่เริ่มมาจากทิม เบอร์เนอร์ส-ลี คนเดียวกันกับที่ริเริ่ม Web 1.0 นี่แหละ เขาได้มองว่าเว็บที่จะเป็น Web 3.0 ได้นั้น จะเกิดจากพัฒนาการการเชื่อมโยงกันแบบไร้ศูนย์กลาง เป็น Node ที่เชื่อมถึงกันได้ทั้งหมดทั้งโลกโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง รวมถึงนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่น AI เข้ามาช่วยในการทำให้เว็บไซต์นั้นทำงานได้ดีมากขึ้น หรือการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างคน และอุปกรณ์ได้แบบอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็น Semantic Web หรือ ‘เว็บเชิงความหมาย’

ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี เขาสนใจที่จะพัฒนามาตรฐานเว็บไซต์อย่างมาก จนได้ก่อตั้ง องค์กรเว็บไซต์สากล (World Wide Web Consortium หรือ W3C) ขึ้นมา และได้พยายามให้ความหมายของการเป็น Web 3.0 เอาไว้ และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ แล้วได้ดังนี้ครับ

  • อย่างแรกก็คือ ไร้ตัวกลาง (Decentralized) หมายถึงมีการกระจายอำนาจผู้ใช้งานไม่ต้องผ่านเซิร์ฟเวอร์ของแพลตฟอร์มใด ๆ เลย
  • ต่อมาก็คือ มีโค้ดที่ออกแบบร่วมกันได้ (Bottom-up Design) หมายถึงการพัฒนาโค้ดที่ให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการเข้ามาร่วมพัฒนาโค้ด จนสามารถใช้งานได้ แทนที่จะให้คนกลุ่มเดียวเข้ามาออกแบบโค้ดเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ก็มี กิตฮับ (Github) ที่เป็นแหล่งรวมโค้ดโปรแกรมแบบโอเพ่นซอร์ส สามารถเข้ามาร่วมพัฒนาโค้ด แก้บั๊กต่าง ๆ ร่วมกัน แล้ว และยังมีการส่งเสริมการเขียนโค้ดต่าง ๆ มากขึ้นอีกด้วย
  • อย่างสุดท้ายก็คือ มีฉันทามติ (Consensus) สามารถตรวจสอบความถูกต้องกันเองระหว่างผู้ใช้ได้ มีความโปร่งใส สร้างความเห็นพ้องต้องกันได้

นอกจากทิม เบอร์เนอร์ส-ลี แล้ว เกวิน เจมส์ วูด (Gavin James Wood) ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum คริปโทเคอร์เรนซีอันดับต้น ๆ ของโลก ได้มีแนวคิดที่จะต่อยอดเรื่อง Web 3.0 จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิ Web3 (Web3 Foundation) ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ให้คนรู้จัก Web 3.0 และผลักดันให้มาตรฐานเว็บไซต์ใหม่นี้เป็นที่รู้จัก และมีผู้ใช้งานให้มากยิ่งขึ้น และเขาก็ได้ให้นิยามของ Web 3.0 ว่าเป็นรูปแบบอินเทอร์เน็ตในอนาคตที่จะไม่มีเซิร์ฟเวอร์ มีการกระจายอำนาจ เป็นโลกอินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้ทุกคนสามารถควบคุมข้อมูล ตัวตน รวมถึงกำหนดทิศทางของชีวิตตัวเองได้อย่างแท้จริง

ซึ่งจะว่าไป Web 3.0 ก็คล้ายกับเครือข่าย Ethereum ที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันเหมือนกัน เพราะ Ethereum เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ไร้ศูนย์กลาง อาศัยคอมพิวเตอร์ทั่วโลกช่วยกันประมวลผลเพื่อให้เครือข่ายทำงานได้ มี DApps ที่ย่อมาจาก decentralized application สร้างขึ้นบนเครือข่ายเพื่อทำงานต่าง ๆ แบบไร้ศูนย์กลาง ซึ่งมีการตรวจสอบความถูกต้องกันเองด้วยระบบ Proof of Work ที่แข่งกันประมวลผล และมีการจ่ายค่าประมวลผลในระบบด้วยเหรียญ Ether

การเข้าถึงมาตรฐานของ Web 3.0 ได้ จำเป็นที่จะต้อง ‘ไร้ตัวกลาง’ อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นหมายถึงการติดต่อสื่อสารแบบไม่ผ่านตัวกลางใด ๆ เลย ปัญหาตอนนี้ก็คือ ต่อให้เราเข้าสู่ยุคของ เมตาเวิร์ส (Metaverse) แล้วก็ตาม เราก็ยังต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์ในการเข้าถึงโลกโซเชียลเสมือนแห่งใหม่นี้อยู่ดี เช่นของเฟซบุ๊ก ที่เปลี่ยนชื่อไปเป็น เมตา (Meta) หรือหากนึกภาพไปยังระดับที่ใกล้ตัวมากที่สุด ต่อให้ทุกอย่างไร้ตัวกลางหมดแล้ว แต่การที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ยังคงต้องผ่านผู้ให้บริการอยู่ดี โอกาสที่รัฐจะแทรกแซงก็ยังมีอยู่ทำให้ในขณะนี้ โลกอินเทอร์เน็ตยังไม่หลุดพ้นการเป็นเว็บไซต์ที่ ‘ไร้ตัวกลาง’ จริงได้อยู่

นอกจากนี้ Web 3.0 ในตอนนี้ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งเรื่องของประสิทธิภาพและความสามารถในการสเกลระบบ ที่ทำได้ช้ากว่าการใช้ Cloud Server ในปัจจุบัน เพราะการประมวลผลจะถูกแยกออกไปให้คอมทั่วโลกทำงาน ซึ่งต้องจ่ายค่าแก๊สให้คนทั่วโลกช่วยประมวลผล

นอกจากนี้ยังต้องรอ Browser หรือโปรแกรมท่องเว็บพัฒนาให้รองรับ และการพัฒนา Web 3.0 ทำได้ยากกว่าเว็บปกติ เพราะมีพื้นฐานเทคโนโลยีต่างกัน และการเขียนแอปขนาดเล็กพอที่จะเก็บลง Blockchain ได้ นั้นต้องลงทุนการพัฒนาเป็นอย่างมากด้วยครับ

แม้ว่าในปัจจุบัน Web 3.0 อาจจะยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตซะทีเดียวนะครับ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ในทุก ๆ วัน การพัฒนาก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ยุคของ Web 3.0 ที่แท้จริงก็อาจจะอยู่อีกไม่ไกลแล้วครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส