Microsoft Surface อยู่คู่วงการ PC มายาวนานนะครับ ตั้งแต่ Surface รุ่นแรกเปิดตัวตั้งแต่ปี 2012 ผ่านมา 10 ปี ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึง Microsoft Surface Pro 8 ที่นับเป็น Surface Pro ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน วันนี้เรารีวิวกันละเอียด แบไต๋กันให้รู้ทุกซอกมุมกันไปเลย

Microsoft Surface Pro 8 ปรับปรุงอะไรไปจาก Surface Pro 7 บ้าง ที่เด่นที่สุดคือหน้าจอ PixelSense™ Flow นี่เป็น Surface Pro รุ่นที่ 2 ต่อจาก Surface Pro X ที่ใช้หน้าจอขนาด 13 นิ้ว โดยที่ขนาดตัวเครื่องไม่แตกต่างจาก Surface Pro 7 ที่ใช้จอ 12.3 นิ้วมากนัก ซึ่งไมโครซอฟท์ก็หาทางทำให้ขอบจอเล็กลงจนได้เครื่องที่หน้าจอเต็มตาแบบนี้ครับ

ซึ่งพอหน้าจอใหญ่เต็มตา เอาไปดูหนังก็เพลินครับ หน้าจอนี้รองรับ Dolby Vision ด้วย เอาไปเปิด Netflix ก็ได้ภาพสวยงาม แถมลำโพงสเตอริโอเล็กๆ ที่อยู่ด้านข้างจอนี้ก็ให้เสียงได้มีมิติ และให้เสียงดีเกินขนาดเลย เพราะลำโพงเป็นแบบที่หันมาหาผู้ใช้ครับ ไม่ใช่ลำโพงที่หันออกไปข้าง ๆ หรือข้างล่างเหมือนหลายๆ รุ่น ทำให้ผู้ใช้ได้ยินเสียงเต็มๆ

จุดเด่นอีกอย่างของหน้าจอนี้คือเทคโนโลยี Adaptive Color ที่ปรับสีของหน้าจอให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมอัตโนมัติ แต่ถ้าใครไม่ชอบก็ปิดได้ครับ นอกจากนี้ Surface 8 Pro ยังเป็น Surface Pro รุ่นแรกที่ใช้จอ 120 Hz ด้วย ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้แค่ 60 Hz เพื่อประหยัดแบตเตอรี่ หรือใช้เต็มที่ 120 Hz เพื่อให้การเคลื่อนไหวที่นุ่มนวล แต่ไม่ใช่จอแบบที่ปรับ Refresh Rate ได้อัตโนมัตินะครับ ผู้ใช้ต้องไปเลือกเอง แต่ก็ได้ยินว่าอีกไม่นานจะมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ให้สามารถปรับ refresh อัตโนมัติได้แล้วนะครับ

อีกเรื่องที่ Surface Pro 8 ปรับปรุงไปคือการเชื่อมต่อที่ใช้พอร์ต Thunderbolt 4 ในหน้าตา USB-C จำนวน 2 พอร์ต ซึ่งเป็นพอร์ตสารพัดประโยชน์ คือจะเชื่อมต่อข้อมูลความเร็วสูงในแบบ Thunderbolt หรือ USB ก็ได้ หรือจะใช้ชาร์จไฟให้เครื่องผ่านมาตรฐาน USB-PD ก็ได้ ใช้อแดปเตอร์ USB-C ขนาด 60 Watt ขึ้นไปชาร์จได้เลย แต่เครื่องนี้ก็ยังมีช่องชาร์จไฟแยกในแบบของ Surface อยู่นะ ไม่ได้ตัดออก แล้วก็มีช่องหูฟัง 3.5 mm อยู่ด้วย

แต่ที่ตัดออกไปคือพอร์ต USB-A ถ้าใครยังต้องการใช้อยู่ ก็หา USB-C Hub มาใช้แทน และพอร์ตอ่าน MicroSD Card ก็ไม่มีแล้วใน Surface Pro 8 ครับ

กล้องหลังใน Surface Pro 8 ปรับความละเอียดขึ้นมาเป็น 10 ล้านพิกเซลให้ถ่ายวิดีโอแบบ 4K ได้ จาก Surface Pro 7 ที่เป็นกล้อง 8 ล้านพิกเซล ถ่ายวิดีโอ Full HD ครับ

ถ่ายวิดีโอจากกล้องหลังซึ่งคุณภาพวิดีโอ 4K จาก Surface Pro 8 ก็เป็นอย่างที่เห็นตอนนี้ครับ เราบันทึกภาพและเสียงมาให้ดูกัน

แม้เป็นกล้องสเปกเดิมคือ 5 ล้านพิกเซล ถ่ายวิดีโอได้ Full HD แต่ปรับปรุงในเรื่องของการแสดงผลสีผิวให้ดูสมจริงมากขึ้น และรองรับการใช้งานในสภาวะแสงน้อยได้ดียิ่งขึ้น ตอบโจทย์การ work from home พร้อมไมค์ที่ไมโครซอฟต์เรียกว่า Dual Far field Studio Mic ที่ให้มาถึงสองตัวด้วย ก็ให้เสียงได้ระดับนี้ครับ นอกจากนี้กล้องหน้านี้ยังรองรับ Windows Hello สำหรับการปลดล็อกเครื่องด้วยใบหน้าด้วย

ประสบการณ์การใช้ Surface Pro 8

ในแง่ประสบการณ์การใช้ Surface Pro 8 ก็ยังคงประสบการณ์ใช้เฉพาะตัวของ Surface ในแง่ความเป็นอุปกรณ์ลูกผสมอย่างครบถ้วนครับ คือคุณสามารถใช้งานแบบเดี่ยว ๆ ในรูปแบบแท็บเล็ต ใช้เพื่อชมความบันเทิงโดยไม่มีคีย์บอร์ดมาขวางกั้นแบบโน้ตบุ๊กเป็นอย่างดี

ส่วนการใช้งานในแบบแท็บเล็ต Surface Pro 8 มาพร้อม Windows 11 ที่ปรับแต่งการทำงานให้เหมาะสำหรับอุปกรณ์แบบไฮบริดที่สุดแล้ว การแตะ การสัมผัสต่าง ๆ ทำงานได้ดีและแม่นยำ เพราะหน้าตา UI ปรับแต่งมาสำหรับการสัมผัสด้วย นอกจากนี้ความสามารถ Snap Layouts ลากหน้าต่างเข้าขอบ เข้ามุมเพื่อจัดพื้นที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว แล้วยิ่งใช้งานบนจอ 120 Hz การใช้งานก็ลื่นไหลครับ แต่กับโปรแกรมต่าง ๆ บน Windows ก็ต้องแล้วแต่การปรับแต่งของแต่ละโปรแกรมด้วย ว่าจะเหมาะกับการใช้งานด้วยการสัมผัสแค่ไหน

คีย์บอร์ดบนหน้าจอ ถ้าใช้เครื่องในแนวตั้งก็สามารถถือ 2 มือเพื่อพิมพ์ได้ไม่ลำบากนัก เพียงแต่ว่าน้ำหนักเครื่อง 889 กรัม อาจจะทำให้ถือได้ไม่นานนัก

หรือถ้าใช้เครื่องแนวนอนก็ใช้ Kickstand ด้านหลังกางออกไปเยอะ ๆ ให้เครื่องเอียงรับการพิมพ์ได้สะดวกขึ้น ตัวคีย์บอร์ดมีขนาดใหญ่ พิมพ์ได้ใกล้เคียงกับคีย์บอร์ดจริง

แต่เราแนะนำให้ปรับรูปแบบคีย์บอร์ดไทยกลับเป็นแบบดั้งเดิม เพราะคีย์บอร์ดบนหน้าจอแบบค่าเริ่มต้นนี่ไม่มีแถวตัวเลข ทำให้ตัวอักษรไทยหลายตัวบนแถวตัวเลขสลับตำแหน่งจนใช้ไม่ถูก นอกจากนี้เราว่าการสลับแป้นภาษาไทย-อังกฤษของคีย์บอร์ดบนหน้าจออาจจะช้านิดนึง ต้องกด 2 ครั้ง แทนที่จะกดครั้งเดียวเปลี่ยนภาษาเลย

Touch keyboard ยังรองรับการสั่งให้พิมพ์ด้วยเสียงที่เรียกว่า voice typing กดที่รูป mic ซึ่งพูดให้พิมพ์ได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ลองแล้วแม่นใช้ได้เลยครับ

ส่วนการใช้งานแบบโน้ตบุ๊กโดยใช้ปก Surface Pro Signature Keyboard with Slim Pen 2 ก็ให้ประสบการณ์ไม่แตกต่างจาก Surface Pro รุ่นก่อน ๆ นี้ ปกคีย์บอร์ดสามารถใช้งานได้ 2 ระดับคือจะวางราบไปกับโต๊ะก็ได้ หรือจะยกขึ้นสูงนิดหนึ่งเพื่อให้พิมพ์สะดวกขึ้นก็ได้

ซึ่งสัมผัสการพิมพ์ด้วย Surface Pro Signature Keyboard ก็ให้ประสบการณ์การพิมพ์ที่ดีครับ วัสดุเป็นผ้า Alcantara ให้สัมผัสหรูหรา ความห่างของปุ่ม ระยะการกดดีทั้งหมด ปุ่มคีย์บอร์ดทุกปุ่มได้ขนาดมาตรฐาน คนที่พิมพ์คล่องอยู่แล้วก็ไม่ต้องเรียนรู้ใหม่ แถมมีไฟที่คีย์บอร์ดด้วยนะครับ

ส่วนตัว Touchpad ก็ใช้งานได้ลื่นไหลดี สามารถกดคลิกให้ลึกลงไปได้ทั้งแผ่น ใช้ 2 นิ้วเลื่อนจอ ใช้ 3 นิ้วเลือกสลับหน้าต่างได้ เพียงแต่เราคิดว่า Touchpad น่าจะขยายพื้นที่ให้ใหญ่ได้กว่านี้อีกครับ

แต่สำหรับใครที่ต้องใช้งานคอมพิวเตอร์ในลักษณะ Laptop คือใช้งานแบบวางบนตักบ่อย ๆ Surface Pro จะมีข้อจำกัดด้านนี้อยู่บ้าง เพราะการใช้บนตักผู้ใช้จะต้องระมัดระวังไม่ให้เครื่องพลิกมากกว่าการใช้โน้ตบุ๊กครับ

และน้ำหนักเครื่องรวมปกคีย์บอร์ดและปากกาอยู่ที่ 1,176 กรัมครับ ก็ถือว่าเบาสำหรับจอ 13 นิ้วนะครับ
ในปกคีย์บอร์ดรุ่น Surface Pro Signature Keyboard with Slim Pen 2 จะมีปากกาติดมาด้วยตรงนี้ครับ ซึ่งออกแบบดีมาก แค่แปะลงไปก็ชาร์จปากกาแบบไร้สายได้ทันที ทำให้ปากกาพร้อมใช้ตลอดเวลา ซึ่งตัวปากกาสามารถใช้งานต่อได้เนื่อง 15 ชั่วโมงครับ

ดีไซน์

ดีไซน์ของ Slim Pen 2 นี้แตกต่างจากปากกาทั่วไปสักหน่อย เพราะเป็นปากกาแบน ๆ หัวปากกามีความเรียวแหลมขึ้น พร้อมปุ่มกดตรงกลางและปุ่มที่ด้านท้ายปากกาที่สามารถกำหนดการใช้งานได้

แล้วเวลาที่เราเอาปากกาออกมาใช้ง่าย จะเห็นว่ามีเมนูลัดเกิดขึ้นมาตรงนี้ เพื่อเลือกเปิดแอปที่ใช้งานกับปากกาได้ทันที และมีมอเตอร์ที่สั่นเวลาเราใช้ฟังก์ชั่นปากกาอีกด้วย นอกจากนี้เรายังสามารถเขียนข้อความภาษาอังกฤษเพื่อเปลี่ยนเป็นตัวพิมพ์ได้เลย แต่น่าเสียดายที่ยังไม่รองรับการเขียนภาษาไทยครับ

เราให้คุณสต็อป-อัมรินทร์ โอชา Art Director ของแบไต๋ได้ทดลองปากกา Slim Pen 2 วาดผลงานในแอป Microsoft Whiteboard คุณสต็อปก็ชอบปากกาด้ามนี้ บอกว่าน้ำหนักกำลังดี จับถนัดมือ สร้างสรรค์งานได้ง่ายเพราะรองรับแรงกดที่ต่างกัน 4096 ระดับด้วย

สเปก

มาดูสเปกของ Surface Pro 8 ตัวกันนี้บ้างนะครับ รุ่นที่เราได้มาทดสอบนี้ใช้ Intel Core i7-1185G7 ซึ่งยังเป็น Intel Gen 11 พร้อม GPU เป็น Intel Iris Xe มีแรม 16 GB และ SSD 256 GB

โดยสเปก CPU นี้เป็นสเปกเดียวกับ Surface Pro 7+ รุ่นที่ออกเมื่อต้นปี 2021 นะครับ

โดยผลการทดสอบจาก Geekbench 5 ได้คะแนน Multicore ไป 5043 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนพอๆ กับ Ryzen 5 3500X ส่วนผลการทดสอบ 3Dmark Time Spy Stress Test ทดสอบกราฟิกหนัก ๆ 20 รอบ 20 นาที ได้เฟรมเรตสูงสุดที่ 10.75 FPS ในรอบการทดสอบแรก และเหลือ 5.75 FPS ในรอบการทดสอบที่ 8 ก็แสดงให้เห็นว่าถ้า CPU และ GPU ทำงานหนัก จะมีการลดประสิทธิภาพไปราวครึ่งหนึ่ง และความร้อนจะกระจายจนรู้สึกได้ไปทั้งเครื่อง

อายุการใช้งานแบตเตอรี่ ไมโครซอฟต์เคลมไว้ที่ 16 ชั่วโมง ส่วนเราทดสอบการใช้งานจริง โดยใช้เครื่องต่อปกคีย์บอร์ดตลอดเวลา ทำงานเขียนและทำเนื้อหาบนเว็บผ่าน Microsoft Edge ที่เปิดราว 30 แท็บ พร้อมเปิดฟีเจอร์แท็บสลีปเพื่อประหยัดพลังงานด้วย เปิดแอป LINE ทำงานตลอด เปิดความสว่างจออัตโนมัติซึ่งสว่างราว 60% พร้อมเซ็ต Refresh Rate ของจอไว้ที่ 60 Hz

ผลออกมาทำงานจริงได้ราว 5-6 ชั่วโมงครับ ก่อนที่เครื่องจะดับไปที่แบตเตอรี่ 4% ส่วนการทดสอบการใช้งานด้วยจอ 120 Hz จะได้อายุแบตเตอรี่ราว 4-5 ชั่วโมงครับ

แล้วเราก็ทดสอบการชาร์จด้วยหัวชาร์จของ Surface ด้วยกำลังไฟ 60 Watt ต่อครับ โดยก็ยังนั่งทำงานไปด้วย ชาร์จไปด้วยนะครับ สรุปแล้วใช้เวลา 1 ชั่วโมง 10 นาที ชาร์จได้ 70% ครับ

บางคนอาจจะสงสัยว่าหัวชาร์จนี้เขียนไว้ 65 Watt ไม่ใช่เหรอ แต่ถ้าดูรายละเอียดที่เขียนไว้จริง ๆ มันจะแบ่ง 5 Watt ไปชาร์จ USB-A ตรงนี้นะครับ อีก 60 Watt มาชาร์จ Surface ครับ

จุดสังเกต

ส่วนจุดสังเกตของ Surface Pro 8 เราว่าในโหมดแท็บเล็ตยังมีปัญหาจอลั่นอยู่ครับ เพราะว่าขอบซ้าย-ขวาตรงนี้ค่อนข้างแคบ ถ้าเราถือเครื่องแนวนอน ก็มีโอกาสที่มือจะไปโดนสิ่งต่าง ๆ บริเวณขอบ โดยเฉพาะไอคอนพยากรณ์อากาศนี้ลั่นบ่อยเลย

ราคา

ราคาของ Microsoft Surface Pro 8 นี่ต้องแยกเป็น 2 ส่วนนะครับ คือราคาเครื่องกับราคาปกคีย์บอร์ด โดยราคาเครื่องเริ่มต้นที่ 39,590 บาท สำหรับสเปก Intel Core i5-1135G7 พร้อมแรม 16 GB และความจุ 128 GB

ส่วนสเปก Core i7-1185G7 RAM 16 GB ความจุ 256 GB ที่เรารีวิวนี้ มีราคา 59,190 บาทครับ

ส่วนปกคีย์บอร์ด Surface Pro Signature Keyboard Cover ก็มี 2 รุ่น คือรุ่นปกติราคา 6,990 บาท ส่วนรุ่นที่มาพร้อมปากการาคา 9,990 บาทครับ สรุปแล้วเครื่องที่เรารีวิวนี้พร้อมปกคีย์บอร์ดและปากกา มีราคาเกือบ 7 หมื่นบาทครับ

ใครสนใจแล้วก็ลองหาซื้อได้ผ่านตัวแทนจำหน่ายของไมโครซอฟท์เช่น Banana, D-KAN, IT City, PowerBuy หรือร้านอย่างเป็นทางการของไมโครซอฟท์บน Lazada และ Shopee ได้ครับ