ในปี 2023 เครื่องเกม Famicom คอนโซลแบบใส่ตลับได้รุ่นแรกของ Nintendo ผ่านร้อนผ่านหนาวครบ 40 ปีแล้ว นับจากการเปิดตัวในปี 1983 เชื่อว่ามันเป็นเครื่องเกมเครื่องแรกของใครหลายคนที่เต็มไปด้วยความทรงจำดี ๆ มากมาย

แต่ใครจะคิดว่าการมาของคอนโซลรุ่นแรกของปู่นินจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะว่ามันพบกับอุปสรรคปัญหา และยังมีปัญหาเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ตั้งแต่เปิดตัว ทำให้ Nintendo ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก รวมทั้งแนวคิดที่จะเปลี่ยนวงการเกมไปตลอดกาล และการมาของเกมในตำนานอย่าง Super Mario Bros. ด้วย

ต้นกำเนิดในยุค 70S

ในยุค 70S อุตสาหกรรมเกมเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะเกมตู้ที่ตามห้างมีการสร้างโซนอาเขตขึ้นมาเพื่อรองรับและ Nintendo ก็มีการสร้างเกมยิงปืนที่ใช้ระบบเลเซอร์ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ส่วนวงการเกมคอนโซลในยุคนั้นเจ้าตลาดคือ Atari ที่ครอบแชมป์กับรุ่น 2600 ส่วนปู่นินเองก็มีการสร้างเครื่องเกมที่ต่อทีวีเพื่อเล่นด้วยแต่จะมีเกมบรรจุอยู่ในเครื่องเลยและไม่สามารถเปลี่ยนตลับเกมได้

และจากความสำเร็จของการสร้างเกมอาเขตอย่าง Donkey Kong ที่ฮิตถล่มทลาย ทำให้ปู่นินเริ่มมีความคิดจะสร้างเครื่องเกมที่เปลี่ยนตลับได้แบบ Atari และได้มอบหมายให้ มาซายูกิ อูเอมูระ (Masayuki Uemura) ทีมงานของ Nintendo’s R&D2 สร้างเครื่องเกมคอนโซลที่มีราคาถูกกว่าคู่แข่ง และต้องมีสเปกที่แรงกว่าคู่แข่ง ทำให้เป็นโจทย์ที่ยากมาก

ตั้งเป้าหมายทำกราฟิกระดับเกมอาเขต

โดยการสร้างทีมงานได้ใช้พื้นฐานชิปของเกมตู้ Donkey Kong มาเป็นต้นแบบและได้มีการพูดคุยกับผู้สร้างชิปหลายบริษัทในตอนแรกอูเอมูระจะใช้ชิปแบบ 16Bit ที่ถือว่าล้ำสมัยและแสดงผลเกมอาเขตได้ แต่ด้วยต้นทุนที่สูงกว่าทำให้เปลี่ยนไปใช้ชิปแบบ 8Bit ที่ผลิตโดย Ricoh แทนโดยในตอนแรกมีแผนว่าจะวางขายพร้อมคีย์บอร์ดแต่ด้วยต้นทุนทำให้ตัดออกไป

และการที่ค่าย Nintendo ในตอนนั้นไม่ได้เป็นยักษ์ใหญ่ทำให้การไม่มีเงินทุนทำให้การสั่งซื้อชิปต้องทำสัญญากับผู้ผลิตว่าจะสั่งจำนวน 1 ล้านชิ้นเพื่อที่จะได้ราคาที่ถูกลง และหลังจากใช้เวลาพัฒนาหลายปีคอนโซลรุ่นแรกของปู่นินวางขายในวันที่ 15 กรกฎาคม 1983 ในชื่อ Family Computer แต่คนญี่ปุ่นก็เรียกย่อ ๆ ว่า Famicom อย่างไม่เป็นทางการ ส่วนสาเหตุที่ Nintendo ไม่สามารถใช้ชื่อ Famicom ได้เพราะ Sharp ได้จดทะเบียนไปแล้ว อยากอ่านเรื่องเต็ม ๆ กดไปอ่านได้ที่ (ที่มาของชื่อ Famicom)

เปิดตัวพร้อมเกมดังแต่มีปัญหาตั้งแต่วางขาย

โดยราคาเปิดตัวของ Famicom ในตอนนี้มีราคา 14,800 เยน อาจจะดูไม่ได้แพงมากเมื่อเทียบกับราคาของคอนโซลในปัจจุบัน แต่หากมองถึงค่าเงินในปี 1983 ถือว่าแพงพอ ๆ กับ PS5 เลย แม้ว่าปู่นินจะพยายามลดต้นทุนแล้วก็ตาม ส่วนรายชื่อเกมเปิดตัวพร้อมเครื่องไม่ได้มาพร้อมลุงหนวด Mario เพราะมันยังไม่ถูกสร้าง แต่เปิดตัวพร้อมกับ Donkey Kong, Donkey Kong Junior และ Popeye ซึ่งทุกเกมพอร์ตมาจากเวอร์ขันอาเขต

ด้วยการเปิดตัวพร้อมเกมดังที่พอร์ตมาจากอาเขต ทำให้มันเปิดตัวแรงขายได้เกิน 5 แสนเครื่องใน 2 เดือนแรกที่วางจำหน่าย อย่างไรก็ตามมันก็เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง เพราะมีผู้ใช้งาน Famicom หลายรายพบปัญหาเกมค้างระหว่างเล่นซึ่งปัญหาอยู่ที่เมนบอร์ด แน่นอนว่าปู่นินต้องเรียกคืนเครื่อง Famicom ทั้งหมดที่วางขายไปและหยุดการผลิตชั่วคราว และยังพบปัญหาเกี่ยวกับจอยเกมที่เครื่องรุ่นแรกจะเป็นปุ่มแบบสี่เหลี่ยมที่ใช้ไปนาน ๆ อาจจะเปิดปัญหาทำให้ปู่นินเปลี่ยนเป็นปุ่มกดแบบวงกลมในภายหลังด้วย

แน่นอนว่าการเรียกคืนทั้งหมดทำให้ Nintendo เสียทั้งเงินจำนวนหลายล้านเหรียญ และเปิดโอกาสให้คู่แข่งอย่าง SEGA ทำตลาดแซงหน้าไปได้ แต่หลังจากแก้ปัญหาได้และกลับมาจำหน่ายใหม่อีกครั้งพร้อมกับการเปลี่ยนเมนบอร์ดใหม่ Famicom สามารถขายได้ทั้งหมด 2.5 ล้านเครื่องเฉพาะในญี่ปุ่นนับยอดถึงปี 1984 เท่านั้นเรียกว่าทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง SEGA SG-1000 หลายเท่า

เปิดตัวจอยเกมต้นตำรับ

ส่วนที่ทำให้ Famicom แตกต่างจากคอนโซลยุคนั้นและเป็นที่มาของความสำเร็จมหาศาล เพราะว่าคอนโทรลเลอร์ที่ปฏิวัติวงการเกม เพราะเครื่องเกมส่วนใหญ่ในตอนนั้นจะใช้จอยแบบ Atari ที่มาในรูปแบบทรงตั้งมาพร้อมแท่ง joystick เพราะว่ามีความคล้ายการตัวปุ่มกดบนเกมตู้ แต่ปู่นินคิดสิ่งใหม่เข้าไปด้วยการเปลี่ยนจอยเกมมาจับแบบแนวนอน พร้อมเรียงปุ่มกดในแนวนอนเช่นกัน ที่เป็นต้นแบบของเกมคอนโซลยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ตัวบังคับทิศทางยังเปลี่ยนมาใช้ปุ่ม D-pad ที่ไม่ใช่ของใหม่เพราะก่อนหน้านี้ปู่นินเอามาใช้บนเครื่องเกมพกพา Game&Watch มาแล้ว และมันใช้งานได้ยอดเยี่ยม และยังมีขนาดเล็กบังคับง่ายและทำให้คอนโทรลเลอร์มีขนาดเล็ก พร้อมกับปุ่มกด A, B และ บนจอย 1 จะมีปุ่ม Select และ Start อยู่บ ส่วนบนจอย 2 จะมาพร้อมไมโครโฟน ที่ใช้งานร่วมกับการเล่นบางเกมใส่เข้ามาด้วย ส่วนตลับเกม Nintendo ได้ออกแบบให้มีขนาดเล็กเท่ากับตลับเทป เพื่อให้พกพาได้ง่ายและยังตามกระแสเพราะในยุคนั้น Walkman ของ Sony โด่งดังจนเป็นกระแสทั่วโลก

ซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ

แม้ว่าเครื่องเกมจะทำออกมามีประสิทธิภาพดี (ในยุคนั้น) แต่หากไม่มีซอฟต์แวร์ออกมารองรับมันก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ทำให้ Nintendo ลงทุนกับการพัฒนาเกมที่มีคุณภาพสูงบนเครื่อง Famicom เพราะหากใครเกิดทันยุคนั้นเกมส่วนใหญ่จะไม่มีความซับซ้อนเล่นไม่นานก็จบ และมักจะลอกไอเดียมาจากเกมดังเช่นในยุคนั้นมีเกมเลียนแบบ Space Invaders ออกมามากมาย และก็ไม่ค่อยมีคุณภาพ

ในช่วงแรกที่วางขายมีการพอร์ตเกมดังของ Nintnedo บนอาเขตมาลง Famicom เช่น Donkey Kong และ Popeye ซึ่งทำได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับกว่าบนคอนโซลอื่น แต่หลังจากนั้นเริ่มมีการพัฒนาเกมที่ออกเฉพาะ Famicom และมีรูปแบบที่แตกต่างจากการเล่นบนอาเขต เพราะมีตัวเกมมีความยาวมากกว่า และมีระบบการเล่นที่ซับซ้อนกว่าเช่น Super Mario Bros. หรือ Zelda ที่เป็นเหตุผลที่ Famicom แตกต่างจากคอนโซลยุคนั้นที่คิดแต่จะพอร์ตเกมจากอาเขตไปลงเท่านั้น

นอกจากเกมในตำนานของ Nintendo เองแล้วในยุคนั้นทำให้ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นแจ้งเกิดกับวงการเกมคอนโซลบน Famicom มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Capcom กับเกม Rockman หรือตำนานของวงการเกมอย่าง Final Fantasy และ Dragon Quest ก็มีต้นกำเนิดบน Famicom แม้แต่ค่ายเกมสุดดราม่าอย่าง Konami ที่บนคอนโซลของปู่นินมีเกมขายดีมากมายไม่ว่าจะเป็น Contra หรือ Castlevania

ความสำเร็จของ Famicom คอนโซลรุ่นแรกของ Nintendo ที่ได้มาเพราะความพยายามในการทำตลาดรวมทั้งผลิตซอฟต์แวร์เกมที่มีคุณภาพสูงออกมารองรับ แม้ว่าทุกวันนี้มันอาจจะดูเชยและเป็นของเก่าเก็บ แต่สำหรับเด็กยุค 80S แล้วมันคือความทรงจำดี ๆ ที่อัดแน่นอยู่ในเครื่องเกมเล็ก ๆ ที่จะอยู่ในใจเกมเมอร์ตลอดกาล

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส