มีแฟนติดเกมทำเอาใครหลายคู่รักแอบหวั่น ไม่รู้จะรักษาความสัมพันธ์นี้ต่ออย่างไร เข้าถึงตัวยากไม่มีเรื่องที่จะพูดคุย โดยเฉพาะคู่รักที่คนเคียงข้าง ติดเกมต้องเปิดเกมทิ้งไว้ตลอดช่วงอยู่ด้วยกัน ว่างปุ๊บเล่นเกมปั๊บ เราหันไปแวบเดียวเล่นเกมอีกแล้ว ทำเอาอีกคนเกิดอาการน้อยใจไปหลายคู่ แล้วอะไรที่เข้าข่ายทำให้คนเราเล่นเกมไม่หยุดกันนะ จะแก้ไขมันได้อย่างไร?

“วิธีที่เราประพฤติในพื้นที่เสมือนจริงและโต้ตอบกับผู้อื่นในเกมโซเชียล มักสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการที่เราทำในโลกแห่งความเป็นจริง”

เคลย์ รูทเลดจ์(Clay Routledge) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ Noth Dakota State University


ความน่าสนใจดึงดูดของเกม


ภายในเกมส่วนใหญ่ผู้เล่นจะได้ฉายาว่า เป็นฮีโร่เป็นตัวช่วยกู้สถานการณ์ มีความโดดเด่นมีความสามารถ มีความเป็นใหญ่ ที่ในโลกความจริงไม่มี สามารถทำได้ทุกอย่างตามใจที่ตัวเองต้องการ โดยเฉพาะการออกแบบเกมของผู้พัฒนา พยายามทำให้เกมมีความน่าสนใจดึงดูด หาวิธีให้ผู้เล่นได้เล่นแล้วหยุดไม่ได้ต้องเล่นเกมนั้น ๆ ให้ได้นานมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น

ความบันเทิง

แน่นอนว่ามนุษย์เราชอบความสนุก จึงถือกำเนิด เกม เพื่อเป็นกิจกรรมให้กับมนุษย์ได้เพลิดเพลิน ได้ผ่อนคลาย มีความแปลกตื่นตาตื่นใจของโลกแห่งจินตนาการ เราสามารถทำสิ่งใดก็ได้ภายในเกมโดยไม่ต้องกังวลสิ่งใด

Photo Credit : Freepik

สังคม

เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคแห่งโซเชียล เกมที่สามารถเล่นกับเพื่อนได้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เกมที่เล่นคนเดียวก็ยังต้องใส่โหมดเล่นกับเพื่อน เพิ่มแรงค์แข่งกับผู้เล่นอื่นเข้ามา อีกทั้งเกมหนึ่งเกมสามารถเล่นได้ทุกแพลตฟอร์ม มือถือ PC คอนโซล เครื่องเกมพกพา ระหว่างเล่นผู้คนภายในเกมล้วนเป็นคนจริงถึง 90% อีก 10% เป็นตัวละคร NPC

ตัวเกมออนไลน์เหล่านี้ถูกออกแบบมา เพื่อให้ผู้คนได้สนทนามีกลุ่มสังคมสานสัมพันธ์ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทุกคนสามารถเข้ามาเล่นเกมด้วยกันได้ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกผู้คนที่แตกต่างภาษา ก็สามารถเล่นด้วยกันได้

ผู้เล่นสามารถสนทนากันได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้ตัวละครที่สร้างในการสื่อสารกัน แม้เกมที่เล่นคนเดียว ก็มีสังคมคอเกมเดียวกันไว้สำหรับให้ข้อมูล ไว้หาเพื่อนเล่น หรือสอบถามปัญหากันและกันได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะไปต่อไม่เป็น ไม่ต้องมานั่งเผชิญปัญหาอยู่คนเดียวอีกด้วย

สร้างภาพลักษณ์

ผู้เล่นสามารถออกแบบตัวละครของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ความสามารถ อาชีพ ผู้เล่นล้วนกำหนดได้เองหมด แม้จะผิดพลาดก็สามารถลบตัวละครทิ้งและสร้างใหม่ได้ โดยส่วนใหญ่ตัวละครภายในเกมจะดูดีเป็นที่ยอมรับในสายตาของผู้เล่นทั่วไปเสมอ

ทางผู้พัฒนามักจะออกแบบตัวเกม ให้ตัวละครมีรูปร่างรูปลักษณ์ที่น่ามอง สวยน่ารัก หล่อมาดเท่ ช่วยให้การทำความรู้จักผู้คนภายในเกม ไม่ต้องกังวลใส่ใจเรื่องรูปลักษณ์ อีกทั้งทำให้ผู้เล่นกล้าได้กล้าเสีย กล้าแสดงออกได้มากกว่าปกติ เพราะไม่ได้ใช้หน้าตาตัวเองจริงนั่นเอง

Photo Credit : Freepik

รางวัลที่ชัดเจน

ส่วนนี้เป็นเหมือนเป้าหมายที่ผู้เล่นทุกคนต้องฝ่าฟันไปให้ได้ เป็นการสะสมประสบการณ์เพื่อเก็บ(reward circuit) ได้รับรางวัลเป็นค่าตอบแทน ได้เหรียญตรา ได้รับฉายา ได้แข่งขันกับผู้อื่น เป็นการพิชิตเป้าหมาย เป็นเหมือนการกระตุ้นให้สารแห่งความสุขออกมา ยามที่ผู้เล่นทำภารกิจสำเร็จแล้วได้รับของรางวัล ผู้เล่นจะรู้สึกมีความภาคภูมิใจและมีความมุ่งมั่น ที่จะปลดล็อกภารกิจให้สำเร็จในครั้งต่อไป

แม้เกมเล่นยากหรือทำให้ผู้เล่นหัวร้อนมากแค่ไหน แต่เป้าหมายก็คือค่าประสบการณ์เพื่ออัปเลเวล ได้รับรางวัลเป็นไอเทม ชุด อาวุธที่หายาก เพื่อบ่งบอกผู้เล่นคนอื่นว่าเคยผ่านด่านมหาโหดนี้มา สร้างความภาคภูมิใจอีกอย่างในตัวละครของตนเอง นั่นจึงทำให้ผู้เล่นยิ่งอยากเอาชนะ และเล่นไม่หยุด


เล่นจนหยุดไม่ได้ จนมีปัญหาความสัมพันธ์


ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงการยกตัวอย่างหัวข้อที่เห็นได้ชัดเจน จากการสร้างเกมของทางผู้พัฒนา เพื่อดึงดูดผู้เล่นของเกมแต่ละเกมเท่านั้น แต่ก็ยังมีผลกระทบอีกมากมาย ที่แฝงมาระหว่างเล่นจากตัวผู้เล่นเอง เช่น

ผู้เล่นไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ การแบ่งเวลาการเล่นที่ผิดเพี้ยน ภายในเกมมีคนที่เข้าใจพูดคุยเกี่ยวกับเกมที่เล่นอยู่ได้ถูกคอ มีการแยกโลกในเกมและชีวิตจริงที่ซับซ้อน เกิดความสัมพันธ์เชิงชู้สาวภายในเกม ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ในชีวิตจริง การพูดคุยบทสนทนาในชีวิตจริงเริ่มลดน้อยลง หรือที่หนักที่สุดคือ การเสพติดเกมมากจนเกินไป

Photo Credit : Freepik

“เกมเป็นสิ่งเสพติดเหมือนบุหรี่”

ศาสตราจารย์ อดัม อัลเทอร์ แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

อาการที่น่ากลัวที่คนมักมองข้าม “เสพติดเกม”

ศาสตราจารย์ อดัม อัลเทอร์ แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวภายในหนังสือที่มีชื่อว่า Irresistible (สุดแรงต้าน) ที่ตีแผ่กลยุทธ์บริษัทเกม รวมถึงโซเชียลมีเดีย แอปต่าง ๆ ว่า “เกมเป็นสิ่งเสพติดเหมือนบุหรี่”

รวมทั้งองค์กรอนามัยโลกอย่าง Who ได้มีการลงมติให้การติดเกม(Gaming Disorder) เป็นโรคอุบัติใหม่ประเภทหนึ่ง ต้องได้รับการบำบัดทั้งร่างกายและจิตใจ หากเล่นมากจนเกินไปจะมีส่วนส่งผลต่อบุคลิกภาพ ความสัมพันธภาพต่อครอบครัวและสังคม อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยอีกว่า คนที่เล่นเกมนานวันละ 20 ชม. มีปัญหาส่งผลกระทบต่อการกิน การนอนหลับ การงานที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งภาวะดังกล่าวพบได้ในกลุ่มผู้เล่นที่ไม่สนใจทุกอย่างรอบตัว

มักจะมีอาการเหนื่อยล้า หมดแรง หมดพลังงาน มีการแยกตัวออกจากครอบครัวผู้คนรอบข้าง สำหรับใครที่คนใกล้ตัวหรือตัวเอง เข้าข่ายอาการที่ว่าอาจจะต้องขอให้พักการเล่นเกมและพาไปหานักบำบัดจะเป็นการดีกว่าค่ะ


แล้วจะแก้ไขจัดการอย่างไรดี?


อย่าประชดประชัน อย่ารีบแสดงด้านลบออกมา

สิ่งแรกเป็นสิ่งที่ต้องจัดการตัวเองให้ได้ก่อนเลยค่ะ อย่าเพิ่งตีโพยตีพาย ค่อย ๆ สังเกตว่าคนข้าง ๆ ของเรากำลังเล่นเกมอะไรอยู่

Photo Credit : Freepik

ลองเล่นด้วยกัน เข้าใจความชอบและความสนใจ

เราต้องเข้าร่วมค่ะ ลองเข้าไปเล่นเกมเดียวกัน แล้วขอคำแนะนำจากเขา จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ระหว่างเกมที่เขากำลังเล่นอยู่มากขึ้น

เราสามารถถามความรู้สึกต่อเกมที่เขาเล่นได้ ลองหาเกมอื่นที่สามารถช่วยกันเล่นหรือเกมแข่งขันกีฬา เกมที่ออกแบบมาสำหรับครอบครัว เกมที่เล่นเข้าใจง่ายมาลองเล่นด้วยกันก่อน

หรือถ้าไม่ถนัดเล่นด้วย เราจะเปิดหนังเปิดซีรีส์ดูข้างเขาเวลาเล่นก็ได้ พร้อมกับนั่งดูเขาเล่นให้เขาช่วยอธิบาย ว่าขณะนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นเกี่ยวกับเกมนั้น ๆ ส่วนนี้จะทำให้เราได้ข้อมูลบทสนทนาไว้พูดคุยกันเพิ่มขึ้นด้วย

Photo Credit : Freepik

การแบ่งเวลา

เมื่อเราสามารถนั่งเล่นเกมกับคู่ของเราได้ เรื่องไม่มีเวลาอยู่ด้วยกันจะเป็นเรื่องที่เล็กลงไปเยอะมาก เพราะเรานั่งเล่นเกมกับเขาได้ ได้ลองเล่นเกมออนไลน์ด้วยกัน ตัดภาพมาในชีวิตจริงก็นั่งเล่นอยู่ข้างกัน สามารถพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับเกมที่เขากำลังสนใจได้

หรือแม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันเราก็ยังใช้ตัวละครเรา เล่นออนไลน์ภายในเกมด้วยกันได้ 24 ชม.อีก จุดนี้เหมือนกับเราได้ใช้ชีวิตอยู่บนโลกภายในเกมกับเขาแล้วค่ะ

เมื่อถึงเวลาพอเหมาะลองหาจังหวะพูดคุย ในเรื่องของเวลาการเล่นเกมกับเขาดู อาจคุยกันว่าเวลานี้ดึกไป ช่วงเวลานี้พักเล่นได้หรือไม่ หรือ เวลานี้ช่วงนี้อยากทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การเล่นเกมด้วยกันได้ไหม

เชื่อเถอะค่ะว่า ถ้าคุณมาเล่นเกมกับคู่ของคุณได้ คุณอาจขอเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกเหนือจากเล่นเกมได้เหมือนกัน เพราะเมื่อคุณเข้าใจอิริยาบถของฝ่ายนั้นแล้ว ก็จะเปิดมุมมองเรื่องการเล่นเกมของเขามากขึ้น รู้จังหวะเวลาของคู่เรามากขึ้นค่ะ

Photo Credit : Freepik

รอการเปลี่ยนแปลง หัวเราะไปด้วยกัน

ทุกการกระทำต้องใช้เวลานะคะ ทุกอย่างเริ่มต้นและลงท้ายด้วยการเข้าใจกัน แต่ไม่ใช่การตัดสินแทนกัน เราต้องเรียนรู้จังหวะเวลาชีวิต ถ้าหากเราต้องการสานความสัมพันธ์ต่อ อย่าเพิ่งปิดกั้นหรือปิดใจ ลองเปิดรับมุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่มุมมองเดิมของเราดูค่ะ

การปรับจูนการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการดำรงชีวิตภายในสังคม หรือความสัมพันธ์เล็กที่สุด อย่างคนสองคนที่มาจากต่างครอบครัว หรือแม้แต่กับคนในครอบครัว ก็ยังมีความแตกต่างของ Gen เข้ามาเกี่ยวข้อง ความคิดระหว่างวัยที่ต่างกันการปฏิบัติตัวก็ต่างกันค่ะ

ให้เวลาคนอื่นและให้เวลากับตัวเองสักนิด ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ชีวิตคนไม่ใช่ตัวเลขไม่สามารถคำนวณออกมาให้ได้ตามที่คาดเสมอไป


การรักษาความสัมพันธ์กับคนข้างกายที่เป็นสายเกมเมอร์เป็นเรื่องที่ไม่ยาก


Photo Credit : Freepik

ถ้าเราได้ทำความเข้าใจสังคมภายในเกม เข้าใจว่ามันเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่ทางผู้พัฒนาออกแบบมาให้ผู้เล่นมีความสุข เป็นกิจกรรมที่ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ เพศอะไรก็เล่นได้หมด เพียงเลือกเกมให้เหมาะสมกับอายุที่กำหนดไว้ เล่นให้พอดีมีการกำหนดเวลาที่เหมาะสม ก็จะไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เกมเป็นอีกทางเลือกในการทำกิจกรรมสานสัมพันธ์อย่างหนึ่งด้วยซ้ำ เป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ต้องการรักษาความสัมพันธ์กับเหล่าเกมเมอร์นะคะ เข้าใจ เปิดใจ เปิดมุมมอง พูดคุย รับฟัง แล้วรอการเปลี่ยนแปลงค่ะ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส