Pleased brunette woman holds small creamy muffin, bakes many desserts for New Year holiday or festive time, demonstrates her culinary abilities, has special occasion, degustates homemade cupcake

“กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่” เหตุใดต้องตบท้ายของหวานหลังอาหาร

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินสำนวนสุภาษิต ‘กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่’ หมายถึงการดูถูกผู้ที่มีฐานะทางสังคมต่ำกว่า เพราะบ่าวไพร่ในอดีตไม่มีโอกาสได้กินของหวานต่างจากคนที่มีฐานะสูงกว่านั่นเอง และทุกวันนี้ประโยคดังกล่าวก็กลายมาเป็นพฤติกรรม หรือธรรมเนียมการรับประทานอาหารของผู้คนที่พอกินอาหารมื้อหลักหรืออาหารคาวเสร็จมักจะอยากกินของหวานตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพราะอะไรกันแน่ ? Hack for Health จะพาทุกคนมาเจาะลึกเรื่องนี้กัน

ทำไมคนถึงชอบกินของหวาน

ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่มักจะชื่นชอบความรู้สึกหลังจากการได้กินของหวานไม่ว่าจะกินในเวลาไหนก็ตาม นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อได้รับน้ำตาลเข้าไปร่างกายจะหลังสารเอนดอร์ฟินและสารเซโรโทนินช่วยคลายเครียดและทำให้รู้สึกอารมณ์ดี มีความสุข นั่นจึงเป็นที่มาว่าเพราะอะไรคนเราถึงอารมณ์ดีทุกครั้งที่ได้กินของหวาน

ทำไมอยากกินของหวานหลังมื้ออาหาร

สำหรับคนที่ติดการกินของหวานหลังอาหาร อาจไม่ได้อยู่ที่ความชื่นชอบหรือร่างกายเรียกร้องน้ำตาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยปัจจัยที่ทำให้คนคุ้นชินกับการกินของหวานหลังอาหารมีดังนี้

1.ติดเป็นนิสัย

เรียกได้ว่าคนไทยมักจะคุ้นเคยกับการกินอาหารคาวเสร็จแล้วต้องกินของหวานมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงโต๊ะจีน หรืองานเลี้ยงทำบุญต่าง ๆ จะต้องมีของหวานตบท้ายให้ได้ล้างปากเสมอ หรือแม้แต่หลายคนอาจคุ้นเคยความรู้สึกในวัยเด็กที่ของหวานเป็นเหมือนของขวัญหรือรางวัลที่ได้รับจากพ่อแม่ ทำให้ติดนิสัยต้องกินของหวานเพื่อให้ตนเองรู้สึกดี หากไม่ได้กินของหวานหลังมื้ออาหารก็จะรู้สึกแปลก ๆ ซึ่งความเคยชินเหล่านี้ทำให้หลายคนชอบซื้อขนมติดบ้าน หรือติดโต๊ะทำงานเอาไว้เพื่อให้ง่ายต่อเวลาที่ต้องการกินด้วย

2.กินอาหารหลักไม่เพียงพอ

หากในมื้ออาหารนั้น ๆ คุณกินอาหารไม่เพียงพอต่อที่ร่างกายควรได้รับ ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin Hormone) หรือฮอร์โมนความหิวก็จะส่งสัญญาณให้ร่างกายคุณรับรู้ และต้องการจะกินอาหารเพิ่มเติมเข้าไปอีก และของหวานก็เป็นอาหารที่กระตุ้นความอยากอาหารได้ดี วิธีแก้คือควรรับประทานอาหารให้มากขึ้น และเน้นเป็นอาหารกากใย เช่น ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว และอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอต่อร่างกายเพื่อเพิ่มความอิ่ม

ขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวังสำหรับกรณีนี้เช่นกัน เพราะบางคนอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องฮอร์โมนเกรลินที่เพิ่มขึ้นแต่ระดับฮอร์โมนเล็ปติน (Lebtin Hormone) หรือฮอร์โมนความอิ่มลดลง สาเหตุมาจากความเครียด นอนไม่พอ ดังนั้น จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าความอยากของหวานของคุณเป็นเพราะสาเหตุจากการกินอาหารไม่เพียงพอ

3.คุณกินอาหารเร็วเกินไป

การกินอาหารอย่างรวดเร็วอาจทำให้คุณไม่ได้ลิ้มรสชาติของอาหารที่กินเข้าไปมากพอ ขณะเดียวกันพอ 10 นาทีต่อมาคุณอาจจะรู้สึกหิวอีกครั้ง และด้วยความเคยชินเลยทำให้คุณมองหาการกินของหวานแทน เพราะรู้ว่าร่างกายตนเองได้กินอาหารมื้อหลักเพียงพอแล้ว ทางแก้เรื่องนี้คุณอาจจะต้องรับประทานอาหารให้ช้าลง เพื่อให้ร่างกายได้ใช้เวลาดื่มด่ำกับมื้ออาหารนั้น ๆ แถมยังทำให้คุณรู้สึกอิ่มได้มากกว่ากินอย่างรวดเร็วอีกด้วย และเมื่อร่างกายรู้สึกอิ่มความอยากของหวานก็จะน้อยลงตามมา

4.กินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายดูดซึมไว

หากคุณกินคาร์บเชิงเดี่ยวที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น อาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว ขนมอบ ของหวาน ลูกกวาด น้ำผลไม้ และโซดา จะถูกย่อยได้ง่ายและทำให้น้ำตาลในเลือดของคุณพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ตับอ่อนสูบฉีดอินซูลินออกมา ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงหรือ “พัง” และสิ่งนี้จะส่งผลให้คุณรู้สึกอยากกินอาหารที่มีรสหวานเพื่อให้คุณรู้สึกดีขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้คุณอยากของหวานสามารถระงับหรือควบคุมได้ด้วยตนเอง เพราะการกินของหวาน หรือน้ำตาลในปริมาณที่มากทุกวันอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ดังนั้น หากคุณอยากกินของหวานก็ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม หรือหากอยากกินอะไรที่มีรสชาติหวานก็อาจเปลี่ยนจากขนมเป็นกินผลไม้ที่มีน้ำตาลไม่สูงมากแทน ก็สามารถทดแทนได้ในกรณีที่คุณอยากกินของหวานหลังอาหารทุกมื้อ

ที่มา1 , ที่มา2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส