โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) เป็นหนึ่งในความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดในวัยเด็ก มักได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกในวัยเด็กและมักจะส่งผลไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ เด็กที่มีสมาธิสั้นอาจมีปัญหาในการให้ความสนใจ มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น หรือมีพฤติกรรมกระตือรือร้นมากเกินไป

สัญญาณของโรคสมาธิสั้น

สำหรับในวัยเด็กเป็นปกติที่เด็กจะมีปัญหาเรื่องการจดจ่อในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งบางครั้งอาการเหล่านี้อาจจะพัฒนาต่อจนกลายเป็นอาการที่รุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบเมื่อต้องเข้าสังคมโรงเรียน หรือเจอเพื่อนในวัยเดียวกัน โดยอาการเบื้องต้นของเด็กที่มีสมาธิสั้น มีดังนี้

  • ฝันกลางวันบ่อย ๆ
  • ลืมหรือทำของหายบ่อย
  • ดิ้นหรืออยู่ไม่สุข
  • พูดมากเกินไป
  • ทำผิดพลาดโดยประมาทหรือเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
  • เข้ากับผู้อื่นได้ยาก

สาเหตุของโรคสมาธิสั้น

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงเพื่อหาวิธีลดโอกาสที่บุคคลจะเป็นโรคสมาธิสั้น โดยการวิจัยในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าพันธุกรรมมีบทบาทสำคัญ และนอกจากพันธุกรรมแล้ว นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาสาเหตุที่เป็นไปได้และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่

  • ความผิดปกติในระบบประสาท
  • การสัมผัสความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมในระหว่างแม่ตั้งครรภ์ หรืออายุยังน้อย เช่น สารตะกั่วหรือโลหะ
  • การใช้แอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์
  • คลอดก่อนกำหนด
  • น้ำหนักแรกเกิดต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่บอกว่าปัจจัยแวดล้อมและพฤติกรรมประจำวันก็อาจส่งผลให้เกิดโรคสมาธิสั้นได้เช่นกัน เช่น การเสพติดโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

โรคสมาธิสั้นในเด็ก

การตรวจโรคสมาธิสั้นในเด็กมีหลายขั้นตอน เพราะการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นรวมถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ปัญหาการนอนหลับ และความบกพร่องทางการเรียนรู้บางประเภท อาจมีอาการคล้ายกัน ในส่วนใหญ่โรคสมาธิสั้นจะรักษาได้ดีที่สุดด้วยการผสมผสานพฤติกรรมบำบัดและการใช้ยา 

สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนที่อายุ 4-5 ปี ที่เป็นโรคสมาธิสั้น พฤติกรรมบำบัดโดยการฝึกอบรมจากผู้ปกครองจะเป็นวิธีที่แพทย์แนะนำก่อนการใช้ยา ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดอาจขึ้นอยู่กับเด็กและครอบครัว แผนการรักษาที่ดี รวมถึงการติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ การมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กทุกคน และมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่สมาธิสั้น นอกเหนือจากการบำบัดพฤติกรรมและการใช้ยาแล้ว การมีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดียังช่วยให้บุตรหลานของคุณจัดการกับอาการสมาธิสั้นได้ง่ายขึ้น เช่น 

  • การกินผลไม้ ผัก และธัญพืชเต็มเมล็ด เลือกแหล่งโปรตีนไม่ติดมัน
  • การออกกำลังกายทุกวันตามอายุ
  • จำกัดเวลาหน้าจอทีวี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในแต่ละวัน
  • นอนหลับให้เพียงพอ

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

โรคสมาธิสั้น สามารถคงอยู่ได้จนถึงวัยผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่บางคนเป็นโรคสมาธิสั้นแต่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัย อาการเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาในที่ทำงาน ที่บ้าน หรือกระทบความสัมพันธ์ โดยอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อความต้องการในวัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบหลายด้าน ดังนี้

  • มีปัญหาเรื่องการบริหารเวลา
  • ยากต่อการโฟกัสและทำงานให้เสร็จ
  • รับมือกับความเครียดได้ไม่ดี
  • รู้สึกกระสับกระส่ายหรือความอดทนต่ำ
  • มีความหุนหันพลันแล่น เช่น ขับรถใจร้อนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์หรือการฏิสัมพันธ์ในสังคม

หากคุณรู้ตัวว่าตนเองเข้าข่ายโรคสมาธิสั้น หรือได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ อาจเริ่มรักษาตนเองโดยวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คุณสามารถเริ่มได้จากวิธีการ ดังนี้

  • รู้จักสังเกตอารมณ์ของผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา และพยายามรับฟังผู้อื่นมากขึ้น
  • มีการวางแผนหรือมีตารางในการใช้ชีวิตมากขึ้น
  • พยายามควบคุมความใจร้อน ความหุนหันพลันแล่นของตนเอง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงน้ำตาลและคาเฟอีน

นอกจากนี้ สามารถรักษาโดยการใช้ยาเพื่อลดพฤติกรรมในการขาดสมาธิและอาการหุนหันพลันแล่น​ โดยตัวยาจะไปกระตุ้นสมองให้หลั่งสารเคมีที่หลังได้น้อยกว่าปกติให้หลั่งได้เท่ากับปกติ เพื่อให้มีสมาธิและควบคุมตนเองได้

อย่างไรก็ตาม โรคสมาธิสั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของแต่ละบุคคล ซึ่งหากได้รับการรักษาเร็วก็จะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา nhs.uk , cdc.gov , ooca

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส