ในยุคปัจจุบันการเสพข่าวเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ผู้คนสามารถรับรู้เรื่องต่าง ๆ ได้ในระยะเวลาอันสั้น ยิ่งเนื้อหาข่าวมีความรุนแรงกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วม เร้าอารมณ์ด้วยการพาดหัวข่าวหวือหวายิ่งทำให้เกิดภาวะเครียดได้ง่าย อาการทั่วที่พบได้บ่อย เช่น ใจสั่น วิตกกังวล แน่นหน้าอก นอนไปหลับ หรือบางคนมีอารมณ์ฉุนเฉียวร่วมด้วย โดยจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือเป็นเฉพาะช่วงที่เสพข่าวนั้น ๆ 

หากยังมีพฤติกรรมติดตามข่าวสาร จนเกิดอาการจิตตกหรือเครียด ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังพัฒนากลายเป็นปัญหาสุขภาพจิต หรืออาจตกอยู่ในภาวะ Headline Anxiety แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนยุคดิจิทัลไม่สามารถเลิกเสพข่าวบนโซเชียลได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับความรู้สึกที่ดี หรือหากพบว่ามีอาการใดอาการหนึ่งเข้าข่ายแต่ไม่รู้จะรับมืออย่างไร วันนี้เรามีแนวทางมาฝาก 

วิธีรับมือกับความเครียด

หากการพาดหัวข่าวก่อให้เกิดความเครียด จนสร้างผลกระทบต่อสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ ขอแนะนำให้รับมือตามอาการ ดังต่อไปนี้ 

  • ใจสั่น เริ่มต้นจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นและปรับพฤติกรรม เช่น งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน ออกกำลังกายเบา ๆ มองหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด 
  • วิตกกังวล ส่วนใหญ่มีสาเหตุจาก “ความกลัว” เช่น พาดหัวข่าว “ฝนตกหนัก ดินถล่ม บ้านพังนับร้อยหลัง” ทำให้กังวลว่าจะเกิดในพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่หรือไม่ แต่อาการวิตกกังวลลักษณะนี้สามารถหายเองได้เมื่อพบว่าอันตรายดังกล่าวหายไป ส่วนกรณีเกิดความวิตกกังวลเป็นเวลานานควรรับประทานวิตามิน B6 และธาตุเหล็กให้มากขึ้น และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น หมั่นออกกำลังกาย หายใจเข้าลึก ๆ หรือทำกิจกรรมสนุก ๆ จึงจะช่วยได้
  • แน่นหน้าอก ผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ ผ่อนลมหายใจยาว ๆ ทำซ้ำจนกว่าอาการจะดีขึ้น และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด 
  • นอนไม่หลับ ควรเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรม เช่น งดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความตื่นเต้น เปลี่ยนบรรยากาศห้องนอนให้เอื้อต่อการนอนหลับ หรือทำกิจกรรมที่ชอบอย่างดูหนัง ฟังเพลง 
  • อารมณ์ฉุนเฉียว เลือกใช้วิธีระบายอารมณ์อย่างเหมาะสม เช่น ต่อยมวย กระโดดเชือก เล่นดนตรี 
  • ซึมเศร้า จะเกิดขึ้นเมื่อคนคนนั้นมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน จนไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกได้ หากพบว่าตนเองมีอาการซึม อ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรง มีความลบเกี่ยวกับตนเอง มีปัญหาเรื่องการนอน กระวนกระวาย สามารถสันนิษฐานได้ว่ากำลังเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า แนวทางการรักษามีตั้งแต่การปรับเปลี่ยนมุมมอง เข้ารับการบำบัด และรักษาโดยใช้ยา หรือรักษาตามความเห็นของแพทย์เป็นหลัก ดังนั้นหากพบอาการใด ๆ ผิดปกติควรได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่าปล่อยไว้นาน 

แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือกับความรู้สึก 

แนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันความรู้สึกก่อนเสพข่าว สามารถเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้ 

  • จำกัดเวลาการเสพข่าว แม้ไม่ใช่การสร้างภูมิคุ้มกันโดยตรงแต่ช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง เริ่มต้นจากพยายามกำหนดเวลาชันเจนว่าอ่านช่วงไหน อ่านนานเท่าไหร่ รวมถึงจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารประเภทต่าง ๆ หากพบว่าทำแล้วไม่ดีขึ้นควรเลี่ยงการเสพข่าวสักระยะ  
  • รู้เท่าทันข่าว ถึงแม้การพาดหัวข่าวบางข่าวจะดูรุนแรงและดึงดูดใจ แต่อย่าลืมว่าข้อมูลจริง ๆ อยู่ในเนื้อหาข่าว ดังนั้นควรรู้เท่าทันว่าข่าวที่ดูรุนแรงบางครั้งก็เป็นเรื่องจริง บางครั้งมีจุดประสงค์เพียงแค่ต้องการยอดไลก์และการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น 
  • อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ ต่อให้พาดหัวข่าวดูน่าเชื่อถือหรือตรงความความเชื่อแค่ไหน ก็อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร 
  • รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง ทุกครั้งที่พบว่าตนเองกำลังโกรธต้องรู้ให้ได้ว่าโกรธเพราะอะไร มีปัจจัยใดเข้ามากระตุ้น จากนั้นพาตนเองออกจากปัจจัยดังกล่าวชั่วคราวแล้วเบนความสนใจไปยังสิ่งอื่น ทบทวนให้ดีอีกครั้งว่าจะแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร แก้ได้แก้แก้ไม่ได้ก็แค่ปล่อยไป อย่าลืมว่าบนโลกใบนี้มีทั้งเรื่องที่เราจัดการได้และไม่ได้อยู่ด้วย 
  • เข้าใจ การพาดหัวข่าวมีจุดประสงค์เพื่อเน้นกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึก ดังนั้นการที่เรารู้สึกโกรธ หดหู่ หรือไม่สบายถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการที่เรารู้สึกร่วมจึงไม่ใช่เรื่องผิด 
  • มองหาข้อดีให้เจอ บางครั้งการพาดหัวข่าวที่ดูรุนแรงเปรียบเสมือนการเตือนให้ระวังตัวก่อนเกิดเหตุการณ์อันตราย ถึงแม้จะทำให้เราเครียดไปบ้างแต่การได้รู้ถึงการมีอยู่ย่อมดีกว่าการมาแบบไม่ทันตั้งตัวจริงไหม? แค่เปลี่ยนมุมมองใหม่มองหาข้อดีของข่าวนั้น ๆ ก็จะช่วยเครียดน้อยลงได้
  • เสริมภูมิคุ้มกันด้วย RQ ช่วยเพิ่มความหยืดหยุ่นในการรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีสติ โดยมีองค์ประสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ อึด มีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ จัดการกับความเครียดได้ดี ฮึด มีศรัทธาที่ดี เชื่อว่าเรื่องร้าย ๆ จะผ่านพ้นไปได้ สู้ ปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ได้ 
  • เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา 

ทั้งนี้หากพบว่าตนเองมีภาวะเครียดจากการเสพข่าวมากไป และได้ลองทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วปรากฏว่าอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีความเป็นไปได้ว่าจะพัฒนาเป็นภาวะ Headline Anxiety ลองขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น โทรปรึกษากับจิตแพทย์ออนไลน์ หรือเข้าพบจิตแพทย์ด้วยตัวเอง เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและหาวิธีรับมือน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส