ทุกวันนี้คุณใช้ ChatGPT ทำอะไรกันบ้าง? ทำสไลด์ หาไอเดีย ทำแพลนเที่ยว ถ้าคุณเคยใช้ ChatGPT อยู่แล้วเนี่ยลองหันมาใช้มันเพื่อการดูแลสุขภาพดู โดยในบทความนี้จะมาลองใช้ ChatGPT ในการออกแบบโปรแกรมในการดูแลสุขภาพ ทั้งการออกกำลังกาย และอาหารที่ควรกิน

เอาจริง ๆ ถ้าใครไม่เคยใช้ ChatGPT แนะนำให้ไปลองใช้ดู เพราะใช้งานง่ายมาก ๆ แค่พิมพ์สิ่งที่เราต้องการเข้าไป แค่นั้น AI ก็จะประมวลผล และส่งคำตอบกลับมา แต่อาจมีเทคนิคการสร้างคำสั่งบางอย่างที่ถ้าคุณใส่เพิ่มไป อาจช่วยให้ AI ประมวลผลออกมาได้ดี และตรงกับความต้องการของคุณมากขึ้น

ChatGPT ช่วยออกแบบโปรแกรมอาหารกับออกกำลังกายได้ดีกว่าที่คิด

ก่อนที่จะลองใช้ผู้เขียนก็จินตนาการอยู่ว่า ChatGPT จะสร้างโปรแกรมการดูแลสุขภาพออกมาแบบไหน แต่จากที่ได้ลองใช้ดูก็ถือว่าโอเคเลยครับ เพราะผู้เขียนก็ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพอยู่บ้าง โปรแกรมที่จัดมาให้นั้นใช้ได้เลย แต่อาจจะมีบางจุดที่หลายคนอาจสับสน หรืองงได้เหมือนกัน เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังในหัวข้อถัดไป

โดยคำสั่งที่ได้ลองใช้คือคำสั่งนี้ครับ

“ฉันต้องการโปรแกรมอาหาร และออกกำลังกายสำหรับ 7 วันเพื่อรักษาสุขภาพ และเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ผมอายุ 28 ปี ส่วนสูง 168 เซนติเมตร น้ำหนัก 59 กิโลกรัม และอยากได้ข้อมูลสารอาหารในแต่ละวันด้วย”

โดย ChatGPT ออกแบบโปรแกรมมาให้ตามภาพนี้เลย

จะเห็นว่าให้ท่าออกกำลังกาย จำนวนครั้ง และจำนวนเซต รูปแบบการออก อย่างการเทรนกล้ามเนื้อ และคาร์ดิโอ แถมยังมีวันพักให้เราด้วย

มาดูที่โปรแกรมอาหารกันบ้าง

จากคำสั่งที่เราได้พิมพ์ไป แนวทางเรื่องอาหารข้อแรกที่ ChatGPT แนะนำ คือ ให้กินอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มแคลอรีเพื่อที่จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ส่วนข้อต่อมาเขาแนะนำให้กินโปรตีนให้ได้ 1.6 -2.2 กรัม/น้ำหนักตัว/วัน เพราะในคำสั่งเราใส่เป้าหมายในการเพิ่มกล้ามเนื้อเข้าไปด้วย พร้อมกับแนะนำอาหารที่มีโปรตีนสูงให้

ส่วนคาร์โบไฮเดรต กับไขมัน AI ไม่ได้ระบุปริมาณมา แต่บอกประโยชน์ และตัวอย่างอาหารที่ควรเลือกกิน แม้ว่าจะยังไม่ละเอียด แต่ก็พอมีไกด์ไลน์ที่สามารถนำไปใช้ได้อยู่นะครับ

ภาพถัดไปจะเป็นตัวอย่างอาหารภายในหนึ่งวัน ซึ่งเขาก็ออกแบบมาให้ค่อนข้างดี มีตัวเลือกให้ด้วย แต่ไม่ครบ 7 วันตามที่เราระบุไป ส่วนภาพสุดท้าย คือ เขาแนะนำให้ดื่มน้ำ ให้ความสำคัญกับปริมาณ และสัดส่วนของอาหาร พร้อมกับบอกว่าโปรแกรมที่เขาแนะนำมาเป็นเพียงคำแนะนำทั่วไป ควรปรับให้เหมาะกับความพร้อมของร่างกาย ไม่ฝืนตัวเองมากเกินไป และสามารถไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

ในภาพรวมถือว่า AI ของ ChatGPT แนะนำโปรแกรมได้ค่อนข้างตรงความต้องการ และข้อมูลส่วนใหญ่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง แต่เดี๋ยวเรามาดูบางจุดที่ AI อาจจะพลาดไป หรือเราอาจจะพลาดเวลาป้อนคำสั่งกัน

ข้อสังเกตในการใช้ ChatGPT ออกแบบโปรแกรมดูแลสุขภาพ

อย่างที่ได้บอกไปว่าภาพรวมถือว่าโอเค และตรงกับความต้องการ แต่ก็มีข้อสังเกตบางอย่างที่อาจไม่ครอบคลุมคำสั่ง หรือคำสั่งที่ผู้เขียนได้ป้อนไปอาจไม่ครอบคลุม

1. ตารางออกกำลังกายส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์

สำหรับคนที่เริ่มออกกำลังกาย ไม่ได้เป็นสมาชิกยิมที่อาจจะไม่คุ้นกับชื่อท่าแล้ว หลายท่าเป็นท่าที่ต้องใช้อุปกรณ์ อย่างดัมเบล บาร์เบล ม้านั่งออกกำลังกาย ซึ่งไม่ตอบโจทย์สำหรับมือใหม่ที่อาจต้องอาศัยการบอดี้เวท หรือการออกกำลังกายมือเปล่า

วิธีแก้ไข: แนะนำว่าใส่คีย์เวิร์ดว่า Bodyweight Training หรือ Workout program without equipment เข้าไปในคำสั่งดูครับ เพื่อให้ AI รู้ว่าเราต้องการออกกำลังกายแบบไม่ใช้อุปกรณ์

ส่วนในเรื่องของชื่อท่าที่อาจงงกัน แนะนำว่านำชื่อท่าไปเสิร์ช YouTube แล้วศึกษาให้เข้าใจวิธีทำอย่างถูกต้องก่อนครับ เพราะถ้าทำผิดท่า ผิดองศาอาจทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บได้

2. ตารางอาหารไม่ครบ 7 วัน

จะเห็นว่าในคำสั่งเราขอไปทั้งโปรแกรมอาหาร และโปรแกรมออกกำลังกาย ซึ่งโปรแกรมออกกำลังกายเขาให้มาครบ 7 วันเลย ส่วนอาหารให้มาแบบคร่าว ๆ พร้อมกับตัวอย่าง โดยอาจไม่ตรงโจทย์ที่เราต้องการสักเท่าไหร่

วิธีแก้: แนะนำว่าให้สร้างอีกคำสั่งเพื่อออกแบบตารางอาหารโดยเฉพาะไปเลย เช่น I would like a diet program to loose weight for 7 days อะไรประมาณนี้ครับ

3. แนะนำแต่อาหารตะวันตก

อันนี้ไม่ใช่ความผิดพลาดของ AI แต่อย่างใด แต่มาจากการพิมพ์ของผู้เขียนที่ไม่ครอบคลุม เพราะ ChatGPT พัฒนาแบบสากล เราเลยจะเห็นเมนูอาหารที่ไม่ได้ใกล้ตัวสักเท่าไหร่ ซึ่งอาจหากินได้ยาก และไม่ถูกปาก

วิธีแก้: แนะนำว่าลองใส่คีย์เวิร์ด Healthy Thai Food เข้าไปในคำสั่ง คิดว่าน่าจะพอช่วยได้ แต่อย่าคาดหวังมาก เพราะผู้เขียนได้ลองดูแล้ว มันจะออกมาแนวอาหารไทยฟิวชันนิด ๆ แต่ถ้าใครไม่ติดก็ถือว่าน่าสนใจดีครับ

ซึ่งนี่ คือ ข้อสังเกต 3 ข้อที่ได้จากการพิมพ์คำสั่งนี้ลงบน ChatGPT หากใครเห็นข้อสังเกตอื่นก็สามารถลองไปปรับคำสั่งกันได้

เทคนิคการสร้างคำสั่งสร้างโปรแกรมดูแลสุขภาพใน ChatGPT

การป้อนคำสั่งไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่การเติมรายละเอียดบางอย่างลงไปอาจช่วย Personalize โปรแกรมให้เหมาะกับคุณมากขึ้น

  • บอกเป้าหมายที่แน่ชัด เช่น น้ำหนักที่ต้องการจะลด กล้ามเนื้อที่ต้องการจะเพิ่ม และกรอบเวลาที่กำหนด เช่น ต้องการลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมภายใน 3 เดือนเพื่อให้ AI เข้าใจจุดประสงค์ของเรามากที่สุด
  • บอกอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และเพศ ร่างกายคนเรามีลักษณะ และการทำงานที่แตกต่างกัน บางคนอายุมากอาจเผาผลาญได้น้อยจึงอาจต้องใช้ระยะเวลาออกกำลังกายนานกว่า หรือท่าออกกำลังกายบางท่าก็ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ ซึ่ง AI อาจนำข้อนี้ไปคำนวณพลังงานที่เราใช้ต่อวันเพื่อไปสร้างโปรแกรมดูแลตัวเองให้แม่นยำ
  • บอกเงื่อนไข และข้อมูลเพิ่มเติม อย่างโรคประจำตัว อาหารที่คุณไม่กิน หรือเงื่อนไขอื่นที่คิดว่าส่งผลต่อการดูแลสุขภาพของคุณ เช่น หากเป้าหมายคุณคือเพิ่มมวลกล้ามเนื้อจาก 40 ไป 50 กิโลกรัมก็ควรบอกไปตั้งแต่ในคำสั่งว่ามวลน้ำหนักเดิมของคุณอยู่ที่ 40 กิโลกรัม หรือถ้าไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายก็ควรสั่งไปในคำสั่งด้วย
  • สร้างคำสั่งบนความเป็นจริงเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการทำสำเร็จ AI โดยปกติแล้วคนที่ต้องการลดน้ำหนัก แล้วเคร่งเครียดกับการออกกำลังกาย และอาหารเกินไปมักมีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ควรสร้างโปรแกรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่คุณสามารถทำได้จริง

ChatGPT เป็น AI ที่มีประโยชน์ และช่วยแนะนำการออกกำลังกาย และอาหารให้คุณได้ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่คุณอยากให้มันช่วย แต่ต่อให้ AI สร้างโปรแกรมที่ดีแค่ไหน แต่คุณไม่ลงมือทำ หรือทำได้ไม่ตรงตามโปรแกรม เป้าหมายเหล่านั้นก็คงไกลออกไปมากขึ้น ซึ่งแนะนำว่าให้เริ่มจากเป้าหมายเล็ก ๆ แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะเหมาะว่าการตั้งเป้าหมายใหญ่เกินไปจนอาจไปไม่ถึง

ข้อมูลที่ ChatGPT นำมาสร้างโปรแกรมก็เป็นข้อมูลทั่วไปที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งคุณสามารถค้นคว้าหาอ่านต่อได้ หรือถ้าใครกังวลเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง การลดน้ำหนัก การไปปรึกษาแพทย์ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยด้วย