เมืองไทยมีอากาศร้อนและแดดแรงตลอดทั้งปี ซึ่งนอกจากอากาศจะร้อนแล้ว หัวก็มักจะร้อนตามสภาพอากาศไปด้วย ยิ่งหากคุณออกไปกลางแจ้งแล้วเผชิญกับอากาศร้อนและแสงแดด โอกาสที่คุณจะหัวร้อนก็เพิ่มมากขึ้น โดยเรื่องนี้มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อยู่

ข้อเท็จจริงของอากาศร้อนกับอารมณ์และสุขภาพจิต

ปัจจุบันมีทฤษฎีเกี่ยวกับความร้อน ความโกรธ และความรู้สึกด้านลบมากมาย มาดูกันว่าอากาศร้อนส่งผลให้คุณหัวร้อนได้อย่างไรและส่งผลในด้านไหนบ้าง?

1. อากาศร้อนทำให้เรารู้สึกว่าทุกสิ่งอยู่เหนือการควบคุม

ลองจินตนาการถึงหน้าหนาวที่หนาวมาก ๆ เท่าที่คุณเคยเผชิญมา แม้ว่าคุณจะไม่อยากออกไปเผชิญอากาศหนาว แต่เวลาที่ต้องออก คุณสามารถสวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กันหนาวที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้คุณได้มากเท่าที่คุณจะสามารถสวมได้

ในทางตรงกันข้าม คุณไม่สามารถหนีจากความร้อนได้ ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะเปิดเครื่องปรับอากาศแล้วนอนอยู่บ้าน เมื่อเทียบกับหน้าหนาว หากคุณจำเป็นต้องออกไปเผชิญความร้อน การสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีที่สุดหรือการถอดเสื้อผ้าจนเปลือยเปล่า คุณก็ยังรู้สึกร้อนอยู่ดี ในเชิงจิตวิทยา อากาศร้อนจึงทำให้จิตใจเรารู้สึกว่าตัวเองกำลังเสียการควบคุมสิ่งต่าง ๆ ไป ซึ่งทำให้ความโกรธและความรู้สึกหงุดหงิดโดยไม่รู้ตัว

2. ความไม่สบายตัวจากอากาศร้อนสู่อารมณ์ที่พลุ่งพล่าน

ประเทศที่ทั้งร้อนและชื้นอย่างประเทศไทย ทำให้เหงื่อออกได้ง่าย ซึ่งความรู้สึกไม่สบายตัว บวกกับความร้อนให้ความอดทนลดลงและโกรธเกรี้ยวได้ง่ายขึ้น

นอกจากความไม่สบายตัวแล้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติกในสมอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ภาวะสู้หรือหนี (Fight or Flight) ที่ส่งผลให้ร่างกายหลั่งอะดรีนาลีนออกมามากขึ้น ส่งผลให้เลือดสูบฉีด และอารมณ์พลุ่งพล่านได้มากขึ้น จึงไม่แปลกที่เวลาเราเจอกับแสงแดดและความร้อน เราถึงรู้สึกอยู่ไม่นิ่งและกระวนกระวายใจกว่าปกติ

3. ความร้อนทำให้คนทะเลาะกันง่ายขึ้น

เคยมีการศึกษาที่ให้คู่รัก 4 คู่เข้าไปอยู่ภายในห้องที่มีอุณหภูมิที่ต่างกัน ตั้งแต่ 14–36 องศาเซลเซียส โดยสังเกตความตึงเครียดจากรูปแบบการสนทนา โดยภายหลังให้คู่รักแต่ละคู่ให้คะแนนว่ารู้สึกว่าคู่รักของตัวเองเป็นศัตรูมากแค่ไหน คู่รักที่อยู่ในห้องที่มีอากาศร้อนและอึดอัดให้คะแนนในข้อนี้สูงที่สุด ส่วนคู่รักอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิธรรมดาและห้องที่มีอากาศเย็นแต่อึดอัดก็ให้คะแนนความเป็นศัตรูของคู่รักมากกว่าคู่รักที่อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิที่กำลังพอดี

ซึ่งพอสรุปได้ว่าอุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไปและสภาพแวดล้อมที่มีความอึดอัดสามารถเพิ่มโอกาสที่จะทำให้คนหงุดหงิดและทะเลาะกันได้ง่ายขึ้น

4. ความร้อนเพิ่มความเสี่ยงของการก่ออาชญากรรม

ข้อมูลจาก National Bureau of Economic Research ได้ศึกษาอัตราการเกิดอาชญากรรมในเรือนจำของรัฐมิสซิสซิปปี ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลากว่าหลายปี ซึ่งเรือนจำแห่งนี้ไม่มีเครื่องปรับอากาศ โดยผลการศึกษาพบว่าในช่วงที่มีอากาศร้อนเพิ่มสูงขึ้นของปี อัตราและความถี่ในการเกิดอาชญากรรมระหว่างนักโทษในเรือนจำก็เพิ่มขึ้น

นอกจากการศึกษานี้แล้ว การสำรวจอีกหลาย ๆ ชิ้นก็เห็นตรงกันว่าในช่วงหน้าร้อนมักมีจำนวนการเกิดอาชญากรรมสูงขึ้นและมีแนวโน้มของอาชญากรรมที่รุนแรงขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะกันระหว่างเพื่อนบ้าน ความรุนแรงภายในบ้าน หรือแม้แต่การลักขโมย

จากข้อมูลทางการศึกษาที่ได้เล่าไป เห็นได้ว่าความร้อนทำให้คุณหัวร้อนได้จริง ซึ่งคุณอาจสังเกตตัวเองได้จากกิจวัตรเดิม ๆ ที่ปกติแล้วคุณไม่ได้ใส่ใจ แต่พออากาศร้อนขึ้นคุณกลับหงุดหงิดกับสิ่งนั้น โดยนอกจากความร้อนแล้ว หากคุณต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมอื่น ๆ อย่างความเครียดและปัญหาจากการทำงานก็ยิ่งทำให้คุณหัวร้อนได้มากกว่าเดิม โดยการหัวร้อนบ่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะอาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียดสะสม ส่งผลต่อสุขภาพหัวใจ หลอดเลือด และสมองได้

วิธีรับมืออาการหัวร้อนจากอากาศร้อน

ความโกรธและความรู้สึกหงุดหงิดจากอากาศร้อนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในประเทศไทย ยิ่งในช่วงหน้าร้อน แต่บางวิธีอาจพอช่วยได้บ้าง เช่น

  • อยู่ในที่ร่มให้ได้มากที่สุด เปิดเครื่องปรับอากาศ หรือเปิดพัดลมหรือเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
  • สำรวจความรู้สึกตัวเองให้มากขึ้นว่าเกิดจากอะไร เกิดจากคน จากสถานการณ์ หรือสภาพอากาศ ซึ่งอาจช่วยให้เราจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ง่ายขึ้น
  • หาอะไรทำเพื่อดึงความสนใจจากความร้อนและอารมณ์ที่คุกรุ่น
  • เลี่ยงการกินหรือดื่มของร้อน อย่างเครื่องดื่มร้อน ก๋วยเตี๋ยว หรือข้าวต้ม
  • ดื่มน้ำเย็น จิบน้ำตลอดวัน อาบน้ำระหว่างวัน สวมเสื้อผ้าที่บางเบา ระบายอากาศได้ดี ทาครีมกันแดด 
  • เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและกางร่มเสมอเมื่อออกกลางแจ้ง

ในช่วงที่อากาศร้อนนอกจากจะต้องระวังเรื่องอารมณ์และสุขภาพจิตแล้ว ควรระวังเรื่องปัญหาสุขภาพร่างกายจากอากาศร้อนด้วย อย่างอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ และโรคลมแดดด้วย ซึ่งการกินอาหารที่สะอาดและมีประโยชน์ การพักผ่อนให้เพียงพอ ร่วมกับวิธีที่แนะนำไปในข้างต้นช่วยลดความเสี่ยงได้

The Guardian, ScienceNews, Psychology Today, SELF