เชื่อว่าเราทุกคนเคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน “กินเค้กหลายชิ้นเข้าไปหลังจากนั้นเริ่มรู้สึกง่วงนอน อยากหลับเต็มที” และเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นคนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าอาจเป็นเพราะความเหนื่อยล้า อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้มีมากกว่าที่เห็น หากคุณเคยสงสัยว่า “ทำไมฉันถึงรู้สึกเหนื่อยหลังทานอาหารเสร็จ” หรือ “เป็นเรื่องปกติหรือเปล่าที่การกินของหวาน หรือน้ำตาลอาจทำให้ง่วงนอน ?” Hack for Health พาทุกคนมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

เกิดอะไรขึ้นในร่างกายของคุณเมื่อคุณกินน้ำตาล ?

เมื่อคุณกินน้ำตาลในปริมาณมาก ร่างกายของคุณจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง กล่าวคือ ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณพุ่งสูงขึ้นซึ่งเป็นการตอบสนองปกติต่อน้ำตาลที่คุณกิน ท้ายที่สุดแล้วอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมง่ายจะทำให้เกิดการดูดซึมกลูโคสอย่างรวดเร็ว

โดยกลูโคสจะเข้าสู่กระแสเลือด และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน อินซูลินในกระแสเลือดของคุณจะช่วยนำกลูโคสจากเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อให้พวกมันสามารถใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงได้ ในที่สุดหลังจากรับประทานอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณจะกลับมาลดลงอีกครั้ง

เมื่อเวลาผ่านไป ปัจจัยต่าง ๆ อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นจุดที่เซลล์ของคุณไวต่ออินซูลินน้อยลง จึงไม่สามารถขนส่งกลูโคสจากกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงานได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อน นั่นเป็นเหตุผลที่การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรตสูง โดยเฉพาะเมื่อรวมกับอาหารที่มีไขมันสูงด้วยแล้วสามารถนำไปสู่โรคอ้วนและโรคเบาหวานประเภท 2 ได้

การกินน้ำตาลทำให้ฉันง่วงนอนจริงหรือ ?

น้ำตาลที่มากเกินไปอาจทำให้คุณรู้สึกง่วงหรือเหนื่อยล้า โดยมีสาเหตุหลัก 2 ประการที่อาจเกิดขึ้นกับคุณ

1.น้ำตาลและระบบ Orexin 

ระบบ orexin ประกอบด้วยเซลล์ประสาทคู่หนึ่งที่พบในบริเวณไฮโปทาลามัสของสมอง เซลล์ประสาททั้งสองนี้ถูกขนานนามโดยนักวิจัยว่า OX1R และ OX2R ทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตสารเคมีที่เรียกว่าไฮโปครีติน สารเคมีนี้กระตุ้นความตื่นตัวและการทำงานของสมอง รวมทั้งควบคุมพฤติกรรมการกินของเรา เมื่อคุณกินน้ำตาล ซึ่งถูกย่อยสลายเป็นกลูโคสในร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณจะเพิ่มขึ้นซึ่งจะไปยับยั้งการปลดปล่อย Orexin ซึ่งนำไปสู่การลดกิจกรรมของระบบนี้

เมื่อระดับ Orexin ต่ำ จะทำให้คุณรู้สึกเหนื่อย ในทางกลับกันเมื่อระดับ Orexin สูง คุณจะกระปรี้กระเปร่าและตื่นตัวมากขึ้น ผู้ที่มีระดับ Orexin ต่ำอย่างเรื้อรังมักจะประสบกับโรคอ้วน เนื่องจากสารเคมีนี้มีอิทธิพลต่อการเผาผลาญเช่นกัน

2.น้ำตาลในเลือดพุ่ง

ความเหนื่อยล้าที่คุณรู้สึกทันทีหลังจากรับประทานอาหารอาจเกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้น การที่ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นหลังจากรับประทานอาหารหรือที่เรียกว่าภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังมื้ออาหารไม่ใช่เรื่องแปลก และโดยทั่วไปไม่เป็นอันตราย ระดับน้ำตาลในเลือดควรกลับสู่ปกติหลังจาก 1-2 ชั่วโมง

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะระบุว่าคุณมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังมื้ออาหารหรือไม่ ปัจจัยหลายอย่างจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร เช่น ประเภทของอาหารที่บริโภค ปริมาณอาหารที่รับประทาน และพฤติกรรมการรับประทานอาหารของแต่ละคน

หากคุณสงสัยว่าน้ำตาลในเลือดสูงมีส่วนทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในระหว่างหรือหลังรับประทานอาหารทันที ให้ตรวจระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารเช้าหนึ่งวัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ ควรวัดระดับน้ำตาลเป็นอย่างแรกในตอนเช้าเมื่อคุณตื่นนอน และก่อนรับประทานอาหารหรือดื่มอะไร จากนั้นให้รับประทานอาหารเช้าตามปกติ และตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของคุณในอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อมา เพื่อดูว่าคุณมีระดับกลูโคสที่พุ่งสูงขึ้นเป็นเวลานานหรือสูงผิดปกติหรือไม่ ที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีควบคุมน้ำตาลในเลือดสูง

นอกจากนี้ การกินน้ำตาลปริมาณมากเป็นประจำจะทำให้กรดอะมิโนที่ชื่อว่าทริปโตฟานเร่งเข้าสู่สมองมากเกินไป ทำให้เสียสมดุลของฮอร์โมนในสมอง มีผลทำให้เกิดอาการเหนื่อย ไม่กระฉับกระเฉง เซื่องซึม และง่วงนอนได้

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล

ถ้าการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยจริง ๆ การเลิกกินขนมเหล่านั้นน่าจะดีที่สุดในตอนนี้ เพราะปัจจุบันมีของว่างเพื่อสุขภาพมากมายที่จะทำให้คุณพึงพอใจโดยไม่ทำลายระดับพลังงานของคุณ ผู้ที่ชอบรับประทานของหวาน ให้วางแผนมื้ออาหารในแต่ละวันและพยายามรับประทานของหวานไม่เกิน 1 มื้อ ประมาณ 200 กิโลแคลอรี หรือมีผลไม้สักชิ้นซึ่งให้รสหวานของน้ำตาล แต่มีไฟเบอร์ที่ชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดนั่นเอง

กินบ่อย ๆ แต่ในปริมาณที่น้อยลง

ควรรับประทานอาหารให้ห่างกัน 1-2 ชั่วโมง แทนที่จะรับประทานมากเกินไปในคราวเดียว หากคุณรับประทานอาหารจำนวนมากในคราวเดียว อาจส่งผลให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าหลังมื้ออาหารได้

อย่าดื่มแอลกอฮอล์ในขณะท้องว่าง

การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนรับประทานอาหารเป็นที่ทราบกันดีว่าทำลายสมดุลของน้ำตาลในเลือดและอาจทำให้คุณรู้สึกง่วงนอนได้ หากคุณตั้งใจจะดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามดื่มในขณะท้องว่างเป็นอันขาด 

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายช่วยในการไหลเวียนโลหิตและสามารถกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกเพื่อเพิ่มระดับพลังงาน จะเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่การเดินธรรมดา ๆ ไปจนถึงการเข้ายิมเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยให้คุณรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วย

ฝึกนิสัยการนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพ

อาการง่วงนอนในตอนกลางวันของคุณอาจแย่ลงหากการนอนหลับตอนกลางคืนไม่ดีด้วยเช่นกัน ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน แม้แต่แสงเพียงเล็กน้อยจากโทรศัพท์หรือนาฬิกาปลุกก็สามารถชะลอจังหวะการเต้นของหัวใจได้ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารใกล้เวลาเข้านอนมากเกินไปอาจกระตุ้นระบบย่อยอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คุณนอนหลับได้ยากมากขึ้น ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงคาเฟอีนหลัง 14.00 น. เพราะคาเฟอีนจะคงอยู่ในระบบร่างกายของคุณนานกว่าที่คุณคิด และเมื่อคาเฟอีนหมดฤทธิ์ก็สามารถทำให้เกิดอาการง่วงนอนอย่างหนักได้

เพื่อป้องกันปัญหาการง่วงนอนหลังรับประทานอาหารหรือหลังกินของหวาน คุณควรควบคุมปริมาณน้ำตาลในแต่ละวันให้อยู่ในเกณฑ์ที่แนะนำ นอกจากนี้ พยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมาก ๆ ในคราวเดียว เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น หากรับประทานบ่อยอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา

ที่มา betterme , verywellhealth , vichaiyut

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส