โรคมะเร็งเป็นโรคที่ฆ่าคนมากที่สุด ในช่วงก่อนปี 2000 คนเสียชีวิตจากมะเร็งเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และอุบัติเหตุ แต่ในปัจจุบัน มะเร็งได้ไต่ขึ้นมาเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่คนเสียชีวิต และครองแชมป์มาเป็นเวลาหลายปี

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 สถาบันวิทยาการตลาดทุนหรือ วตท. ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘รู้เท่า เล่าทัน กันมะเร็ง’ ณ Auditorium ชั้น 6 ตึกเปกาซัส อาคาร 101 ทรูดิจิทัลพาร์ก โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งระดับประเทศ อย่างอาจารย์กบ หรือ ศ.พญ.สฤกพรรณ วิไลลักษณ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวัฒนธรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์หนุ่ม หรือ ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง Founder บริษัท เจเน พูติกไบโอ จำกัด ทั้งยังเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยในการเสวนาในครั้ง อาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้เล่าและถ่ายทอดข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคมะเร็งออกมาในรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย ตั้งแต่นิยามของโรคมะเร็ง สถิติการเกิด กลไกการเกิด สาเหตุและปัจจัย วิธีตรวจ การรักษา การป้องกัน ตลอดจนการรับมือเมื่อทราบว่าตนเองเป็นมะเร็ง

ในช่วงท้ายของการเสวนาได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังได้ถามคำถาม ซึ่งผู้มีเกียรติท่านหนึ่งได้ถามสอบถามอาจารย์ทั้ง 2 ท่านว่า ‘ทำไมในเมื่อการรักษามะเร็งในปัจจุบันก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก แต่สถิติการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งไม่ลดลง และยังคงสูงขึ้นอยู่?’

คำถามนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะหากย้อนกลับไปในย่อหน้าแรกจะเห็นว่าจำนวนของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งนั้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งชวนให้ผู้ฟังตระหนักคิดได้เช่นเดียวกัน

โดยอาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้ให้ 2 เหตุผลเพื่อเป็นคำตอบของคำถามนี้ เหตุผลที่ 1 สถิติที่ผู้คนเห็นหรือได้อ่านนั้นมียอดผู้เสียชีวิตจากโรคนี้สูงขึ้นจริง แต่หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดในสเกลที่เล็กลงไปจะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้ดีขึ้นจริง โรคมะเร็งบางชนิดได้รับการศึกษาอย่างถี่ถ้วน และสามารถรักษาได้เป็นอย่างดี อย่างมะเร็งไข่ปลาอุก (Choriocarcinoma) ซึ่งพบได้แต่กำเนิด และรักษาได้ทันทีเมื่อพบ ปัจจุบันเราจึงไม่ได้ยินชื่อมะเร็งชนิดนี้สักเท่าไหร่

ส่วนเหตุผลที่ 2 คือ ทั่วโลกและประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจำนวนผู้สูงอายุบนโลกทั่วโลกก็มีจำนวนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เผชิญกับโรคมะเร็งได้มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะการทำงานของร่างกายเริ่มเสื่อม โดยปกติร่างกายมนุษย์จะมีกลไกในการต้านเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ที่ผิดปกติอยู่แล้ว แต่เมื่ออายุมากขึ้นกลไกในจะทำงานน้อยลงและหยุดทำงานไป ทำให้เซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งในสุด

โดยตลอดการเสวนา อาจารย์ได้ให้ความรู้ว่าเคล็ดลับการรักษามะเร็งให้ผลที่สุด คือ การตรวจพบเร็ว ตั้งแต่ระยะ 0 ได้ยิ่งดี ปกติแล้ว เราจะได้ยินว่าโรคมะเร็งมีทั้งหมด 4 ระยะ แต่ระยะ 0 คือระยะก่อนเกิดเป็นมะเร็ง โดยเซลล์ผิดปกติจะฝังอยู่เพียงด้านบนเท่านั้นยังไม่ได้ฝังรากและก่อให้เป็นมะเร็ง การพบตั้งแต่ในระยะนี้แพทย์อาจช่วยกำจัดเซลล์ผิดปกติเพื่อป้องกันการฟอร์มตัวเป็นมะเร็ง

แน่นอนว่าในระยะนี้ จะไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น แต่ถ้าคุณทราบว่าญาติใกล้ชิดมีประวัติการเกิดมะเร็งชนิดใดให้รีบตรวจก่อนคนทั่วไป เช่น โดยปกติการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ควรเริ่มที่อายุ 45 ปี แต่คนที่สมาชิกครอบครัวเคยมีประวัติของโรคมะเร็งชนิดนี้ ควรเริ่มตรวจตั้งแต่ 40 ปีหรือ 35 ปีด้วยความถี่ที่บ่อยกว่าคนทั่วไป

แม้ว่าจะไม่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างเหมาะสมเมื่อถึงเวลา สำหรับคนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์การตรวจคัดกรอง ควรดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี และไม่ละเลยการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะอาการเล็กน้อยที่ไม่รุนแรงอาจเป็นสัญญาณบางอย่างของโรคมะเร็งได้เช่นเดียวกัน

และในช่วงท้าย อาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้ย้ำเตือนถึงการดูแลตนเองเพื่อลดปัจจัยของโรคมะเร็ง เช่น งดสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักหลากสีที่มีงานวิจัยพบว่าสัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่ลดลง งดหรือลดเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป ดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และรับวัคซีนป้องกันโรคตามจำเป็น เพราะการติดเชื้อเป็นสาเหตุของมะเร็งกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

ตลอดงานเสวนาเป็นไปด้วยความรู้ที่ฟังสนุก เห็นภาพ และนำไปใช้กับชีวิตได้จริง ทั้งยังได้รับรู้ถึงวิทยาการในการรักษาโรคมะเร็งที่พัฒนามากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาใช้ร่วมกับการตรวจภาพถ่ายรังสี เป็นต้น

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส