วันนี้เรากลับมาพร้อมกับความรู้ทางจิตวิทยาดี ๆ กันอีกแล้ว ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาเจาะลึกความรู้ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนเวลามีเรื่องไม่สบายใจ ที่มักจะทำบุญ เข้าวัดขอพร รวมไปถึงความเชื่อของสายมูเตลูต่าง ๆ ทำไมการมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจถึงทำให้รู้สึกดี มาดูเบื้องหลังของพลังแห่งศรัทธานี้ตามแบบฉบับหลักจิตวิทยากันเลย

ทำไมผู้คนถึงต้องการ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจ ? 

“ศาสนา” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการของมนุษย์ และเป็นหนึ่งในคำถามที่รบกวนนักคิดผู้ยิ่งใหญ่มาหลายศตวรรษ ยกตัวอย่างเช่น คาร์ล มาร์กซ์ ที่ให้คำบัญญัติถึงความหมายของศาสนาเอาไว้ว่า “ฝิ่นของประชาชน” ส่วน ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ก็มีความรู้สึกว่าพระเจ้าเป็นเพียงภาพลวงตา และผู้ที่นับถือพระเจ้า ต้องการสัมผัสความรู้สึกถึงความปลอดภัยและการให้อภัย เหมือนความรู้สึกในวัยเด็กที่เราอยากให้ผู้ใหญ่มาปกป้องในยามที่เกิดปัญหา 

แต่โดยพื้นฐานแล้ว มีการวางสมมติฐานเอาไว้ว่า ศาสนาเป็นผลพลอยได้จากการปรับตัวทางความคิดและสังคม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของมนุษย์

พลังศรัทธา = ความหวัง 

นักศาสนศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา พยายามศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มานานหลายศตวรรษ เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบที่ศาสนามีต่อมนุษย์ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าศาสนาและจิตวิญญาณเป็นหนึ่งในปัจจัยทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุด  

นักวิจัยจาก Mayo Clinic สรุปใจความของเรื่องนี้เอาไว้ว่า “การศึกษาส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่า การมีความเชื่อทางศาสนาและจิตวิญญาณ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สุขภาพของผู้ที่มีศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพดี รวมถึงมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ทักษะการเผชิญปัญหาดีขึ้น แม้ในช่วงป่วยระยะสุดท้าย การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เอาไว้คอยยึดเหนี่ยวจิตใจ จะทำให้เกิดความวิตกกังวลน้อยลง มีจิตใจที่สบายขึ้นท่ามกลางปัญหาที่ยังคงมีอยู่ 

ดร. Harold Koenig จาก Duke University เชื่อว่า เมื่อผู้คนสวดอ้อนวอนและขอการทรงทางจากพระเจ้า จะทำให้พวกเขารับมือกับภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลได้ดีขึ้น 

ความเชื่อของมนุษย์ ที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

มนุษย์ มักจะให้ความหมายแก่วัตถุ การกระทำ และพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพิธีกรรมที่มีความหมายอย่างหนึ่ง และเป็นจุดมุ่งหมายในชีวิตของใครหลาย ๆ คน  การมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจจะช่วยยกระดับอารมณ์ และช่วยเพิ่มความศรัทธาความมุ่งมั่นในหลายด้านให้แก่มนุษย์ ตามหลักการทางจิตวิทยาแล้วมีคำอธิบาก ดังนี้ 

1. ความปลอดภัยทางอารมณ์

การมีความเชื่อต่อเทพเจ้าหรือถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะทำให้ผู้นับถือรู้สึกสบายใจ และรู้สึกปลอดภัย จากความเชื่อที่ว่ามีอำนาจที่สูงกว่ากำลังเฝ้าดูและคอยปกป้อง จะช่วยลดความรู้สึกไม่แน่นอนและความวิตกกังวลได้  

2. ช่วยเพิ่มความรู้สึก การควบคุมชีวิตของตนเอง 

การขอพรหรือมีส่วนร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้สึกควบคุมชีวิตของตนเองได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่รู้สึกไร้อำนาจ พิธีกรรมจะเสนอวิธีการโน้มน้าวใจ ช่วยปลุกพลัง ทำให้ช่วยลดความเครียดและเพิ่มความกล้าในการเผชิญปัญหาได้ดีขึ้น 

3. เพิ่มความรู้สึก ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

การมีส่วนร่วมในพิธีกรรม ความเชื่อ และประเพณี สามารถสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่นที่มีค่านิยมคล้ายกันได้ จนนำไปสู่ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว 

4. การเรียนรู้พฤติกรรมแบบรู้คิด (Cognitive heuristics)

การให้ความเคารพสิ่งที่มองไม่เห็น วิญญาณ เทพ ต่าง ๆ อาจเกิดจากการเรียนรู้พฤติกรรมแบบรู้คิด (cognitive heuristics) ซึ่งเป็นทางลัด ที่ทำให้จิตมีการประมวลผลข้อมูลง่ายขึ้น โดยสมองของคนเรามี ต้องการคำอธิบายสำหรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่ความเชื่อในเทพเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติอื่น ๆ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีเหตุผลรองรับ หรือหา เหตุผลรองรับไม่เจอ ทำให้สมองประมวลผลให้เหตุผลกับตัวเองว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งลี้ลับที่มองไม่เห็น

5. มาจากต้นกำเนิดวิวัฒนาการ

ความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งเหนือธรรมชาติส่วนหนึ่งน่าจะมีรากฐานมาจากวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยมนุษย์ยุคแรกอาจพัฒนาความเชื่อเหล่านี้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ สร้างระเบียบทางสังคม และสร้างความรู้สึกผูกพันกันภายในสังคม

6. อิทธิพลทางวัฒนธรรม 

อิทธิพลทางวัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อและพฤติกรรมต่าง ๆ การเคารพต่อสิ่งที่มองไม่เห็น การขอพร และการเชื่อในวัตถุศักดิ์สิทธิ์ มักฝังลึกในบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม ซึ่งทำให้หลาย ๆ คนเชื่อถือเพื่อให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน

7.สร้างความมั่นคงให้กับจิตใจ 

การเชื่อในพรและความศักดิ์สิทธิ์ ให้ความรู้สึกมั่นคงกับชีวิตที่ไม่แน่นอน ความเชื่อจะเป็นตัวสร้างกรอบที่มั่นคงทางจิตใจ เพื่อนำทางในความไม่แน่นอนของชีวิต

กล่าวโดยสรุป การขอพร ความเชื่อเรื่องวัตถุมงคล การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ยึดเหนี่ยว และการนับถือสิ่งที่มองไม่เห็น ตามหลักการทางจิตวิทยาแล้ว สิ่งเหล่านี้ ให้ความสบายใจทางอารมณ์ ทำให้มนุษย์ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในยามที่เกิดปัญหา ช่วยผ่อนคลายความกังวลทางจิตใจ ความเชื่อ การเคารพ และการทำพิธีกรรมต่าง ๆ จะทำให้ผู้ที่เข้าร่วมพิธีกรรม มีจุดมุ่งหมายในชีวิต สัมผัสได้ถึงความปลอดภัยทางจิตใจ และสามารถใช้ชีวิตโดยมีความกังวลที่ลดน้อยลงได้ 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส