โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และทรู ดิจิทัล กรุ๊ป แถลงข่าวเปิดตัว หุ่นยนต์บริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน นวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อการบริการทางแพทย์ ยกระดับการให้บริการแก่คนไข้โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ และยกระดับความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางแพทย์ที่ต้องสัมผัสกับสารรังสีในการรักษาโรคมะเร็ง

หุ่นยนต์น้องแฮปปี้ เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้หุ่นยนต์สนับสนุนบริการเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หรือการใช้สารรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์ที่สำคัญของไทย อย่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ Technology Provider ชั้นนำของประเทศ อย่างทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผสมผสานรวมกันออกมาเป็นหุ่นยนต์ที่ตอบโจทย์บริการทางการแพทย์ในหลายมิติ

ภายในงาน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ และทรู ดิจิทัล กรุ๊ปที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่กระจายของโรคระบาดด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี จนในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันคิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขปัญหาการบริการด้านรังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง โดย รศ.นพ.ฉันชาย ได้กล่าวต่อไปว่า เทคโนโลยีที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นไม่ใช่เพื่อการโชว์ แต่ยังเป็นการนำมาใช้จริง และแชร์ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ด้วย

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หุ่นยนต์บริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน หรือน้องแฮปปี้ ถูกทดสอบและนำมาใช้งานจริง ซึ่งตอบโจทย์การบริการด้านการแพทย์ และความปลอดภัยของบุคลากร โดยฟังก์ชันและฟีเจอร์ของน้องแฮปปี้ ได้แก่

  • หุ่นยนต์อัจฉริยะที่ควบคุมด้วยแท็บเล็ตผ่านสัญญาณ 5G และ WIFI ช่วยให้ทุกการเชื่อมต่อไม่ติดขัด พร้อมแสดงผลแบบ Real Time พร้อมอัปโหลดข้อมูลขึ้นบนระบบคลาวด์
  • บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยสามารถพูดคุยผ่าน VDO Call ได้อย่างคมชัด (Telemedicine) ทั้งภาพ และเสียง ช่วยให้การสื่อสาร และการติดตามอาการเป็นไปอย่างราบรื่น
  • ฟังก์ชันในการส่งยารังสีรักษา อาหาร และเวชภัณฑ์แบบ Contactless ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ กับผู้ป่วย ด้วยการสั่งการหุ่นยนต์ไปยังห้องพักผู้ป่วย
  • เพิ่มความปลอดภัย และความสบายใจให้กับบุคลากรทางแพทย์ด้วยการลดการสัมผัสกับรังสีด้วยการสัมผัสแบบ Contactless
  • เพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางแพทย์ และญาติด้วยระบบตรวจวัดรังสีตกค้างภายในห้องพักผู้ป่วยในรูปแบบ Heat map ภายหลังการรับสารรังสีไอโอดีน
  • การดีไซน์หุ่นยนต์ให้เป็นมิตรด้วยแนวคิด Humanization เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่น และปลอดภัยด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นมิตรและปฏิสัมพันธ์ที่คล้ายกับการสื่อสารกับมนุษย์

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ – ประธานกรรมการ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ปได้ขึ้นบนเวทีเพื่อกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมนี้ขึ้น พร้อมพูดถึงความประทับใจ ความเป็นมา และแนวคิดที่น่าสนใจของโครงการนี้

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด

รศ.พญ. คนึงนิจ กิ่งเพชร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้พูดถึงการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีนว่าเป็นวิธีรักษาที่มีมานาน และมีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง ซึ่งอาจช่วยรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ในระยะแรกให้หายขาดได้

แต่ในระหว่างการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักรังสีวิทยา พยาบาล และอื่น ๆ มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากรังสีที่แผ่ออกมาจากตัวผู้ป่วยภายหลังใช้ยา ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจากการสัมผัสกับรังสีเป็นเวลานาน

การเกิดขึ้นของหุ่นยนต์บริการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยรังสีไอโอดีนจึงเป็นพัฒนาการด้านความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ในการบริการผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยรังสีอย่างมาก และยังคงรักษาประสิทธิภาพการรักษาได้ดีไม่ต่างจากเดิม ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาและปรับใช้กับการรักษาโรคมะเร็ง และโรคอื่นได้อีกมากมาย

รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ได้กล่าวถึงปริมาณการสัมผัสรังสีจากสารรังสีไอโอดีนในบุคลากรทางแพทย์ว่าสามารถลดการปริมาณการได้รับรังสีถึง 20 เท่า ซึ่งการใช้หุ่นยนต์น้องแฮปปี้ในการช่วยส่งสารรังสีไอโอดีนให้กับผู้ป่วยเป็นการช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการดูแลที่ดี บุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้นก็จะส่งต่อการบริการที่ดีให้กับผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากในแง่ของสุขภาพกายจากการสัมผัสรังสีแล้ว ความรู้สึกปลอดภัยจากรังสียังส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และลดความกังวลในการทำงาน อย่างพยาบาลที่ต้องวัดสัญญาณชีพผู้ป่วยอาจมีความกังวลเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อนำหุ่นยนต์มาใช้ในการบริการ และให้ผู้ป่วยวัดสัญญาณชีพด้วยตนเองด้วยการแนะนำของพยาบาลผ่าน VDO Call ด้วยกล้องที่ติดอยู่กับน้องแฮปปี้สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างไรกังวล และได้ผลลัพธ์ของสัญญาณชีพที่แม่นยำดังเดิม

ไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ตัวผู้ป่วยเองที่เคยมีความกังวลว่าการใช้วิธีรังสีรักษาของตนเองอาจส่งผลต่อสุขภาพของบุคลากรทางแพทย์ที่ให้บริการก็รู้สึกสบายใจขึ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทางทีมพัฒนาหุ่นยนต์บริการได้รวบรวมจากการเก็บแบบสอบถามถึงความรู้สึกเปรียบเทียบระหว่างห้องพักผู้ป่วยชั้นที่มีการใช้และไม่ใช้หุ่นยนต์

เอกราช ปัญจวีณิน หัวคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หัวหอกคนสำคัญที่ร่วมริเริ่มโครงการนี้กับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ได้กล่าวย้ำถึงคำพูดของนายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ได้ถูกพัฒนามาเพื่อโชว์ แต่ถูกพัฒนามาเพื่อใช้ และแชร์ ซึ่งตรงกับแนวคิดของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มองว่าเทคโนโลยีที่ดีจะต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คน และพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรม และประเทศ

เอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

เอกราช ปัญจวีณิน ได้กล่าวต่อไปถึงเทคโนโลยีที่ทางทรู ดิจิทัล กรุ๊ปนำมาใช้ในการสร้างหุ่นยนต์บริการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยรังสีไอโอดีนว่าเป็นการรวมเอาองค์ความรู้ด้านดิจิทัลมาใช้ ตั้งแต่การใช้ระบบ Cloud Based หรือการอัปโหลดข้อมูลบนคลาวด์ การใช้ IoT (Internet of Things) ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ตรวจวัดรังสีที่หุ่นยนต์ให้แสดงผลมายังแท็บเล็ตที่ใช้ควบคุม

และที่น่าสนใจคือการใช้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับ WIFI เพื่อให้เชื่อมต่อไม่สะดุด เพราะในห้องของผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษานั้นมีการออกแบบผนังพิเศษเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของรังสี เมื่อสัญญาณการเชื่อมต่อรูปแบบใดขาดจะถูกแทนที่ด้วยสัญญาณอีกรูปแบบทันที ช่วยให้การรักษา และการติดตามอาการราบรื่น ไม่มีการสะดุด นอกจากนี้ ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้บนคลาวด์สามารถนำมาต่อยอดด้วยการนำมาใช้ฝึก AI หรือปัญญาประดิษฐ์เพื่อฟีเจอร์อื่นในอนาคตได้

โครงการหุ่นยนต์บริการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยรังสีไอโอดีนเริ่มต้นเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา โดยหุ่นยนต์โปรโตไทป์ (Prototype) หรือหุ่นจำลองรุ่นแรกถูกใช้เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะพัฒนามาอีกหลายเวอร์ชันจนสมบูรณ์ และพร้อมเปิดตัวในเดือนตุลาคม โดยใช้เวลาพัฒนาราว 10 เดือนเท่านั้น

สุริยา ก้อนคำ หัวหน้าทีมวิศวกรหุ่นยนต์จาก ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้พูดถึงแนวคิดในการทำงานกับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ว่าเป็นการทำงาน และเรียนรู้ร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ เป็นการผสานความรู้ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ เข้ากับองค์ความรู้ทางการแพทย์ และการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จนออกมาเป็นหุ่นยนต์น้องแฮปปี้ตัวนี้

ปัจจุบัน หุ่นยนต์น้องแฮปปี้เปิดใช้บริการ 1 ตัว เนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งภายในปีหน้า และอนาคต ทางทรู ดิจิทัล กรุ๊ป และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยมีแผนที่เพิ่มจำนวนหุ่นยนต์ และพัฒนาฟังก์ชันอื่นเพื่อตอบโจทย์ในการบริการด้านการแพทย์เพื่อประโยชน์ในการรักษาที่สูงที่สุด และความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการสูงที่สุดต่อไป

โดยที่มาของชื่อน้องแฮปปี้เกิดจาก รศ.พญ. คนึงนิจ กิ่งเพชร สัมผัสได้ถึงความสุขในการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จึงปรึกษากับทีมงานจนได้ชื่อน้องแฮปปี้มา

ในช่วงท้ายของการเสวนา รศ.พญ. คนึงนิจ กิ่งเพชรได้สาธิตวิธีการใช้งาน น้องแฮปปี้ หุ่นยนต์บริการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยรังสีไอโอดีนให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานได้ชม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการวางแผนการบริการอย่างเป็นระบบที่ทุกฝ่ายสามารถทำงาน และได้ประโยชน์ร่วมกัน

สุดท้ายนี้ น้องแฮปปี้ หุ่นยนต์บริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีนถือเป็นนวัตกรรมจากความร่วมมือของ 2 องค์กรใหญ่ที่ช่วยยกระดับการบริการด้านการรักษาโรคมะเร็งของไทย และเป็นความก้าวสำคัญของวงการสาธารณสุขไทยที่สะท้อนถึงศักยภาพด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ด้านการแพทย์ และความคิดสร้างสรรค์ขององค์กรภายในประเทศ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส