ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้ประสบพบเจอกับปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยเราเองกับโซนกรุงเทพฯ เช่น ห้วยขวาง หรืออาจเป็นแถวย่านบางนา ที่มีปัญหาน้ำท่วมหนักเช่นกัน แม้แต่แผ่นดินใหญ่อย่างประเทศจีนก็ยังเจอกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากจากฝนตกหนัก แต่พื้นที่บางส่วนกลับประสบภาวะแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เพราะความสุดขั้วของสภาพอากาศที่ทวีคูณขึ้น ทำให้ประเทศจีนต้องมองหาแนวทางใหม่ในการจัดการทรัพยากรน้ำในเขตเมือง และนั่นนำไปสู่แนวคิดที่เรียกว่า “Sponge City” หรือ “เมืองฟองน้ำ”

แนวคิด เมืองฟองน้ำ (Sponge City) เริ่มต้นขึ้นในปี 2013 ที่ประเทศจีน เพื่อตอบโจทย์การจัดการปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง และพัฒนาแนวทางที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันระหว่าง “คน เมือง และน้ำ” อย่างยั่งยืน
หัวใจของเมืองฟองน้ำ คือการออกแบบพื้นที่เมืองให้ทำหน้าที่ดูดซับ กักเก็บ กรอง และปล่อยน้ำฝนได้ตามธรรมชาติ คล้ายฟองน้ำขนาดใหญ่ โดยใช้โครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น สวนสาธารณะ ถนน และอาคาร ให้สามารถรองรับน้ำฝนและระบายออกได้อย่างเป็นระบบ พร้อมช่วยบรรเทาปัญหาน้ำขัง ปรับปรุงคุณภาพน้ำ และลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island)
ปี 2015 รัฐบาลจีนได้ออกแนวทางส่งเสริมการพัฒนาเมืองฟองน้ำ (Guideline on Promoting the Construction of Sponge Cities) โดยตั้งเป้าให้ภายในปี 2020 มีพื้นที่เมืองอย่างน้อย 20% ที่สามารถดูดซับและใช้ประโยชน์จากน้ำฝนได้ไม่น้อยกว่า 70% และภายในปี 2030 เพิ่มพื้นที่เมืองฟองน้ำเป็น 80%
เมืองที่จะพัฒนาเป็นเมืองฟองน้ำต้องคำนึงถึง 6 หลักการสำคัญ
- การซึมผ่านดิน (Infiltration)
- การกักเก็บน้ำ (Retention)
- การสะสมน้ำ (Storage)
- การบำบัดน้ำ (Purification)
- การนำน้ำกลับมาใช้ (Utilization)
- การระบายน้ำ (Drainage)
เมืองอู่ฮั่น ต้นแบบของเมืองฟองน้ำ
อู่ฮั่น เมืองใหญ่ใจกลางประเทศจีน เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของโครงการเมืองฟองน้ำ แม้จะมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์และระบบจัดการน้ำที่ครอบคลุม แต่อู่ฮั่นต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขังมาอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุหลักมาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม และฝนที่ตกกระจุกตัวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของปี โดยกว่า 70% ของปริมาณฝนทั้งปีจะตกในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน นอกจากนี้ การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทะเลสาบธรรมชาติขนาดลดลง ความสามารถในการรองรับน้ำลดลงตาม และระบบท่อระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ยังเป็นสาเหตุของมลพิษทางน้ำในเขตเมืองอีกด้วย
อู่ฮั่นจึงได้นำแนวทางการพัฒนาเมืองฟองน้ำมาใช้ทั้งในรูปแบบโครงสร้างวิศวกรรม (Grey Solutions) และ โซลูชันจากธรรมชาติ (Nature-based Solutions) เช่น
- การสร้าง Rain Garden
- การปลูกหญ้าแฝก
- ระบบกักเก็บน้ำด้วยพืชพรรณ
- ทางเดินที่น้ำซึมได้
- รางซับน้ำตื้น
- แหล่งกักเก็บน้ำฝนในพื้นที่เมือง
โดยเป้าหมายของเมือง คือสามารถดูดซับและบริหารจัดการน้ำฝนในแต่ละปีได้ถึง 60–85% โครงการเมืองฟองน้ำในอู่ฮั่นประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนปี 2020 ซึ่งอู่ฮั่นเผชิญกับฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กลับไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในเมืองรุนแรงเหมือนในอดีต
ประสบการณ์ของอู่ฮั่นแสดงให้เห็นว่า การจัดการน้ำฝนด้วยแนวทางธรรมชาติ ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียว และเตรียมเมืองให้พร้อมรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วในอนาคตได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม