‘ปรุงด้วยดิน อบด้วยแดด’ ขั้นตอนง่าย ๆ ถ้าคุณอยากกินคุกกี้ดิน (Mud cookie/Clay cookie) ที่จริงแล้วเรียกคุกกี้โคลนอาจจะถูกต้องกว่า เพราะคุกกี้นี้ทำมาจากโคลน ผสมเข้ากับวัตถุดิบอื่น อย่างเนยเทียม เกลือ และผักท้องถิ่นที่พอหาได้เพื่อเติมรสชาติ และสารอาหาร พอนำมาผึ่งแดดจนแห้ง และเซตตัวจนเป็นก้อนดินที่มีหน้าตาเหมือนคุกกี้

เมื่อได้ยินชื่อ และรู้วิธีทำ เมนูนี้ก็ไม่น่าจะเป็นที่ปรารถนาของใคร แต่ถึงอย่างนั้นชาวเฮติที่มีฐานะยากจน ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธอาหารจากธรรมชาติจานนี้ได้ คนจนในเฮติกินคุกกี้ดินไม่ต่างจากที่คนไทยกินข้าว หรือคนฝรั่งเศสกินบาแกตต์ ทั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาความหิว และประทังชีวิตของพวกเขาต่อไป แม้จะรู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพก็ตาม

คุกกี้ดิน รสชาติแห่งความยากจน

คุกกี้ดิน ในภาษาท้องถิ่นเรียกกันว่า กาแล็ต (Galette) หรือ บงบงแต (Bonbon tè) เป็นอาหารที่พบได้ทั่วตามพื้นที่สลัมของประเทศเฮติ ซึ่งบรรดาชาวเฮติผู้ยากจนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลักษณะนี้คิดเป็น 74 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด เนื่องจากเหตุผลง่าย ๆ คือ ความยากจนแบบสุดขีด

หลายร้อยปีก่อนเฮติเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส แม้จะถูกเอาเปรียบ แต่ก็ยังได้รับผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่พิษภัยของสงคราม ภัยธรรมชาติ การปกครองแบบเผด็จการ และการแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจตามกาลเวลาได้เปลี่ยนดินแดนแห่งนี้ให้กลายเป็นดินแดนที่ยากจน และหิวโหยติดอันดับต้นของโลก และจนที่สุดในแถบลาตินอเมริกา และทะเลแคริบเบียน ในปี 2022 ประเทศเฮติมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ราว 60,900 บาท/ปีเท่านั้น ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐโดมินิกันมีรายได้อยู่ราว 300,000 บาท/คน/ปี

ความยากจนไม่ได้นำมาซึ่งท้องหิว และการเติมเต็มกระเพาะอาหารด้วยดินโคลนที่หาได้ทั่วไปเท่านั้น ความยากจนยังนำมาพร้อมกับสภาวะไร้การศึกษา และปัญหาสุขภาพสารพัดที่ซ้ำเติมผู้คนในดินแดนแห่งนี้ อย่างเชื้ออหิวาต์ที่แทบหายไปจากโลกนี้ไปแล้ว

รสชาติของคุกกี้ดินเป็นแบบไหน?

ส่วนตัวผู้เขียนเองไม่เคยชิม แต่หากอ้างอิงข้อมูลจาก NBC News พบว่าคนที่เคยได้ลิ้มลองรสชาติของอาหารแห่งความเหลื่อมล้ำนี้ ต่างบอกกันว่ามันให้สัมผัสลื่น ๆ แห้งผาก และพร้อมที่จะทำให้น้ำลาย และความชื้นในช่องปากหายไปหมด พร้อมกับทิ้งกลิ่นอันอบอวลของดินโคลนไว้นานหลายชั่วโมง

คุกกี้ดิน ไม่อร่อย และอันตราย แต่ชีวิตชาวเฮตินั้นเลือกไม่ได้

หากเราถูกไล่ให้ไปกินดิน เราก็คงเลือกที่จะไม่กิน เพราะไม่ได้รู้สึกว่าดินเป็นอาหาร ทั้งยังสกปรก มีเชื้อโรค และอันตรายต่อสุขภาพ ชาวเฮติที่ยากจนรู้ถึงเรื่องนี้ไม่ต่างจากคนในประเทศที่มีสาธารณูปโภคครบถ้วน แต่ชีวิตนั้นเลือกไม่ได้

Geophagia (จี-โอ-ฟา-เกีย) โรคกินดินเป็นกลุ่มความผิดปกติที่เรียกว่า Pica Syndrome หรือโรคชอบกินของแปลก อาจเรียกได้ว่าชาวเฮติเป็น Geophagia ด้วยการถูกบังคับจากสถานะทางการเงินก็ว่าได้ พวกเขารู้ความเสี่ยง และอยากกินอาหารปกติเหมือนกับคนทั่วไป แต่ไม่สามารถทำได้

มนุษย์เราไม่ได้เพิ่งเริ่มมากินดินเป็นอาหาร เพราะความยากจนเป็นครั้งแรก แต่วัฒนธรรม และภูมิปัญญาโบราณในหลายพื้นที่ ดินเป็นแหล่งของสารอาหารบางประเภท โดยเฉพาะแร่ธาตุ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร หรือยารักษาโรค แต่ถึงอย่างนั้น ในโลกยุคปัจจุบัน ดินไม่ใช่อาหาร การกินดินอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น

  • ภาวะขาดแร่ธาตุในกลุ่มของธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และสังกะสี แม้ว่าดินจะอุดมไปด้วยแคลเซียม แต่คุณสมบัติของดินเอง ส่งผลลดการดูดซึมของแร่ธาตุบางชนิดด้วย
  • ภาวะขาดสารอาหาร ที่ไม่ได้มาจากกินดิน แต่เป็นผลจากการกินดินเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้รับสารอาหารอื่นจากอาหารประเภทอื่น
  • การติดเชื้อ ในดินมีทั้งเชื้อโรค และปรสิต ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อภายในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เสี่ยงต่ออาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน หรือพยาธิที่นำไปสู่การเจ็บป่วยที่รุนแรง เช่น โรคมะเร็ง ภาวะลำไส้อุดตัน และอื่น ๆ

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลก คุณแม่ที่ต้องครรภ์ เข้ารับการฝากครรภ์ และดูแลครรภ์ด้วยนม และอาหารทางการแพทย์ที่มีสารอาหารครบถ้วน หญิงตั้งครรภ์ในสลัม ประเทศเฮติ บำรุงครรภ์ด้วยคุกกี้ดิน เพราะเป็นแหล่งของแคลเซียมที่จำเป็นต่อร่างกายของคุณแม่ และทารกในครรภ์ แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง

คุกกี้ดินของชาวเฮติจึงเป็นสัญลักษณ์ของความยากจน และความเหลื่อมล้ำของโลกใบนี้ที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ แต่ถึงอย่างนั้น ชาวเฮติยังมีความหวังที่จะมีโอกาสในการเข้าถึงอาหารปกติ และหยุดกินดินแสนอันตรายนี้เสียที

ที่มา 1, 2, 3, 4, 5

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส