คาเฟอีนเป็นอีกหนึ่งช่วยสำหรับคนออกกำลังกายในหลายด้าน ทั้งช่วยให้สมองตื่นตัว เพิ่มสมาธิ ช่วยเรื่องการเผาผลาญ และช่วยให้ทนทานต่อความเหนื่อยล้าได้มากขึ้นด้วย ซึ่งทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตฟฟอร์ดเชียร์ (Staffordshire university) และมหาวิทยาลัยชิราซ (Shiraz university) เขาได้พบความลับอีกอย่างของการคาเฟอีนต่อการออกกำลังกาย อย่างการเตะฟุตบอล

แต่ผลลัพธ์ของการศึกษานี้ก็ชวนลังเลอยู่ไม่น้อย เพราะเขาพบว่าการได้รับคาเฟอีน ซึ่งเป็นอาหารเสริมสำหรับนักกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมากอาจช่วยเพิ่มความแม่นยำในการจ่ายบอล แต่กลับทำให้ทักษะอื่น ๆ ลดลงเสียอย่างนั้น

ทีมนักวิจัยเขาได้ทดสอบในนักบอลอายุระหว่าง 16–17 ปี จำนวน 12 คน ซึ่งเป็นการศึกษาขนาดเล็กมาก แล้วให้พวกเขาซ้อมส่งบอลสั้น และส่งบอลยาวทั้งหมด 5 ครั้ง และซ้อมทักษะการส่งบอล เลี้ยงบอล เลี้ยงหลบ รวมถึงการตัดสินใจระหว่างเกม (Loughborough Soccer Dribbling Test) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อประเมินทักษะ และระดับการตัดสินใจ

นักวิจัยออกแบบการทดสอบออกเป็น 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกให้นักบอลได้รับคาเฟอีน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แล้วเข้ารับการทดสอบ และได้รับยาหลอก (Placebo) หรืออาหารเสริมที่ไม่มีอะไรอยู่ในนั้น แล้วเข้ารับการทดสอบอีกครั้ง

ซึ่งนักบอลกลุ่มที่ได้รับคาเฟอีนมีความแม่นยำในการจ่ายบอลสั้นมากขึ้น 1.67 เปอร์เซ็นต์ และจ่ายบอลยาวได้แม่นขึ้น 13.48 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบระหว่างรอบแรกที่ได้รับคาเฟอีน กับรอบหลังที่ได้รับยาหลอก

แต่ข้อมูลก็ทำให้เห็นด้วยว่าความสามารถในการตัดสินใจกลับลดลง 7.14 เปอร์เซ็นต์ และทักษะอื่นที่ได้ทดสอบก็ลดลง 3.49 เปอร์เซ็นต์ในการทดสอบช่วงที่ได้รับคาเฟอีนเมื่อเทียบกับการทดสอบหลังจากได้รับยาหลอก

โดยคาเฟอีนในรูปแบบอาหารเสริมถือว่าเป็นหนึ่งในเคล็ดในกลุ่มนักกีฬาที่ปลอดภัย และมีงานวิจัยรองรับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าการศึกษาชิ้นต่อ ๆ ไปอาจต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าคาเฟอีนส่งผลต่อทักษะ และการตัดสินใจของนักกีฬาจริงไหม เพราะการศึกษานี้ทำในกลุ่มอาสาสมัครที่มีขนาดเล็ก และควรขยายผลด้วยการเพิ่มขนาดของอาสาสมัคร การศึกษาตัวแปรอื่นอย่างสไตล์การเล่น ปริมาณคาเฟอีน และความถี่ของการได้รับคาเฟอีน เป็นต้น

เพราะทั้งทักษะ และการตัดสินใจระหว่างเกมที่ดำเนินอยู่เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการทำประตูของนักเตะ โดยเฉพาะกองกลาง และกองหน้า หรือการทำคะแนนในรูปแบบอื่นของนักกีฬาประเภทอื่นด้วย

สรุปว่าแม้การศึกษานี้จะพบว่าคาเฟอีนส่งผลดีต่อความแม่นยำ แต่ส่งผลเสียต่อทักษะอื่น แต่ยังไม่ใช่ข้อสรุปของสมมติฐานทั้งหมด และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

ที่มา: Sciencedirect

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส