สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการผ่าน ‘ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม’ ซึ่งจะคืนสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับ LGBTQ+ โดยกำหนดให้อายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถหมั้นและสมรสได้

ซึ่งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียง 399 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง

ภาพจากเพจ Bangkok Pride

การผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 27 มี.ค. 2567 ส่งผลให้ไทยกำลังจะเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาล และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน

ขั้นตอนหลังจากนี้ สภาจะส่งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ให้วุฒิสภาพิจารณาในวาระ 2-3 หากได้รับความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ต่อไป

นายดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. กล่าวนำเสนอในที่ประชุมสภาว่า ทาง กมธ. ได้ ประชุมพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด 12 ครั้ง จนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 โดยเป็นการพิจารณารายมาตราจนจบร่าง พ.ร.บ. ทั้งสิ้น 68 มาตรา ซึ่งในวันที่ 27 มี.ค. เป็นการพิจารณารายมาตรา และมีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็นจำนวน 14 มาตรา

นายดนุพร ได้นำเสนอสาระสำคัญใน 3 ประเด็น ของร่างกฎหมายที่ผ่านชั้นกรรมาธิการ ได้แก่

  • กมธ. เห็นว่าบทบัญญัติบางมาตรา มีถ้อยคำที่ไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน จึงมีการปรับถ้อยคำให้เหมาะสม
  • เกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้หมั้น และผู้สมรส ควรกำหนดไว้ที่ 18 ปี เพื่อให้มีอายุพ้นจากความเป็นเด็ก และเพื่อให้สอดคล้องกฎหมายในประเทศ ที่มีบัญญัติคุ้มครองเด็ก และสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพันธสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี
  • กมธ. ได้เพิ่มบัญญัติใหม่ 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อลดภาระให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขกฎหมาย และบัญญัติให้หน่วยงานรัฐทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 180 วัน
ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายฉบับนี้
ภาพจากเพจ กรุงเทพมหานคร

ซึ่งล่าสุดเพจ กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความว่า “ขอแสดงความยินดีกับชุมชน LGBTQ+ สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม  ในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ขยายการให้บริการรับจดแจ้งชีวิตคู่ LGBTQ+ ครบทั้ง 50 เขต โดยมีคู่รักมาจดแจ้งชีวิตคู่ (LGBTQ+) จำนวน 165 คู่”

แม้ว่าการจดแจ้งนี้จะยังไม่มีผลทางกฎหมาย แต่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของกรุงเทพมหานครอยู่ 2 ส่วนคือ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกรุงเทพมหานครที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน และแสดงถึงความพร้อมของกรุงเทพมหานครที่หากมีกฎหมายแม่พร้อมแล้วและมีการออกกฎหมายลูกมาอย่างชัดเจน กรุงเทพมหานครก็พร้อมดำเนินการได้ทันที

ร่วมผลักดันกันต่อไป #บุพการีลำดับแรก

กมธ.เสียงข้างน้อย ชี้ได้รับสิทธิเป็น ‘คู่สมรส’ แต่ไม่ได้รับสิทธิเป็น ‘บุพการี’

“แม้ กม.ฉบับนี้ จะผ่านความเห็นชอบแล้ว ก็แค่ให้กลุ่มหลากหลายทางเพศมีสิทธิสมรสกันได้เท่านั้น แต่ไม่ได้คุ้มครองการสมรส์ หากไม่มีการเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” ดังนั้น หากยังจำกัดแค่คำว่า “บิดา-มารดา” ก็ถือว่ายังไม่เกิดความเท่าเทียม” กล่าวโดย นัยนา สุภาพึ่ง (กมธ. ภาคประชาชน)