เรื่องราวของ เซอร์เจมส์ ไดสัน (Sir James Dyson) นั้นมักเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ เขาเป็นคนแรกของโลกที่คิดค้นประดิษฐ์เครื่องดูดฝุ่นที่ไม่ต้องใช้ถุง หลังจากที่ทดลองตัวต้นแบบไป 5,127 อัน หลังจากนั้นมาก็พัฒนาและผลิตสินค้าอีกมากมายของบริษัท ที่สร้างชื่อเสียงอย่างมากก็คือไดร์เป่าผมและเครื่องดูดฝุ่นรุ่นต่าง ๆ ถึงตอนนี้เขายังคงไม่หยุดพัฒนาและบอกว่ากำลังทุ่มเงินอีก 2,750 ล้านปอนด์ (ประมาณ 120,000 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาด้านหุ่นยนต์ สมองกล และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย

นี่คือบทเรียนจากการทดลอง 5,127 ครั้ง กว่าจะกลายมาเป็นนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เป็นบทเรียนที่เราสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตของเราได้ทุกคน

#1: มันไม่ใช่ ‘ความผิดพลาด’ นวัตกรรมไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน

เรารู้ดีว่านวัตกรรมคือส่ิงที่สร้างความแตกต่างและทำให้ Dyson ประสบความสำเร็จ เขามองเห็นปัญหาและพยายามปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในตลาด ซึ่งก็กลายมาเป็นเครื่องดูดฝุ่นของ Dyson เหมือนอย่างทุกวันนี้ สำหรับใครก็ตามที่เคยใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีถุงเก็บจะทราบดีว่าใช้ไปสักพักหนึ่งแล้วมันก็จะไม่ค่อยมีแรงดูดสักเท่าไหร่ ยิ่งใช้ยิ่งแย่ลง เขารู้สึกว่ามันต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้

เขาเห็นโอกาสจากเรื่อง Cyclone Particle Collector ที่ใช้แรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางเพื่อแยกอนุภาคเล็ก ๆ ออกจากอากาศ แม้ว่าจะเป็นไอเดียที่ดีแต่มันก็ทำไม่ได้ง่าย ๆ “ผมเลยเริ่มการพัฒนาเทคโนโลยีไซโคลน… ซึ่งทดลองไป 5,126 อันจนกระทั่งสำเร็จในอันที่ 5,127”

เขาใช้เวลา 5 ปีในการทดลองทั้งหมด ซึ่งค่อย ๆ ปรับมาทีละส่วน ไม่พยายามหาทางลัด แต่เป็นการปรับให้ไปข้างหน้าเรื่อย ๆ “มันไม่ใช่การเป็นคนฉลาดหลักเหลม แต่มันคือเรื่องของเหตุผลและความไม่ย่อท้อ คุณต้องเริ่มจากตอนแรกพื้นฐาน เรื่องง่าย ๆ และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนอย่างหนึ่งแล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง”

เจมส์ เคลียร์ (James Clear) ผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง ‘Atomic Habits’ เรียกสิ่งนี้ว่า “The Power of Tiny Gains” ซึ่งหมายความว่าถ้าเราสามารถทำให้มันดีขึ้นได้เพียงวันละนิดเพียง 1% พอเป็นระยะเวลาที่นานมากพอมันจะกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เลยทีเดียว

เพราะฉะนั้นการพัฒนาอะไรบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน นวัตกรรมเกิดขึ้นจากการพัฒนาทีละ 1% เพียงแต่ตอนสุดท้ายที่ทุกคนเห็นมันจะเป็นการพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่เพียงเท่านั้น

ภาพจาก Wired

#2: ทำให้เสร็จ ไปให้สุด

ตลอดช่วงเวลาที่ทำการทดลอง ตามตัวของเซอร์เจมส์ ไดสัน จะเต็มไปด้วยฝุ่นทุกคืนที่กลับบ้าน เป็นหนี้ท่วมหัวและต้องขายที่ดินของตัวเองด้วย เกือบจะเสียบ้านที่ตัวเองอยู่ แม้ว่าเขาจะเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นกำลังพัฒนาไปข้างหน้าและเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะมีคนซื้อสินค้าของเขา (แม้จะไม่เคยทำการศึกษาเรื่องตลาดเลย) เมื่อเทคโนโลยีพร้อม เขาต้องใช้เวลาอีกกว่า 6 ปีเพื่อจะพยายามขอใบอนุญาต

ทุกโรงงานที่เขาไปติดต่อจะปฏิเสธเขาหมด เพราะทุกคนยังใช้เครื่องดูดฝุ่นที่ใช้ถุงอยู่ในเวลานั้น และแบบเก่าก็ยังขายได้ ไม่มีใครอยากจะเสี่ยงที่จะเปลี่ยน แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ ยังคงพยายามต่อไป จนสุดท้ายก็ต้องสร้างขึ้นมาเองแล้วไปขายกับร้านต่าง ๆ เขาพูดถึงเหตุการณ์นี้ในการสัมภาษณ์กับ ทิม เฟอร์ริส (Tim Ferriss – ผู้ประกอบการและนักธุรกิจยุคใหม่) ว่า

“(ในการวิ่ง) มันมีจุดหนึ่งประมาณ 3/4 ของการแข่งขัน จุดที่ทุกอย่างเริ่มเต็มไปด้วยความเจ็บปวด และยังไม่รู้ว่าจุดจบอยู่ตรงไหน อยากจะล้มเลิกตอนนั้น คุณต้องผ่านกระบวนการเดียวกันกับนวัตกรรม มันดูสุดยอดมากในตอนสุดท้ายเพราะจากจุดที่คุณเริ่มต้นมันแตกต่างจากตอนนั้นมาก แตกต่างจากทุกอย่างที่เคยมีมา มันเป็นเหมือนการกระทำที่สุดยอด แต่มันไม่ใช่ มันเป็นเพียงการทำงานหนักเท่านั้น”

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นคนที่ประสบความสำเร็จ ยืนอยู่บนจุดที่ใคร ๆ ต่างยกย่องเชิดชู เราไม่รู้หรอกว่าที่ผ่านมานั้นเขาต้องทำงานหนักขนาดไหน นักเขียนต้องเขียนงานทุกวัน นักวิ่งต้องวิ่งวันละไม่รู้กี่กิโลเมตรตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น นวัตกรต้องเผชิญหน้ากับความผิดพลาดและการทดลองที่ไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่คิดวันแล้ววันเล่า

สิ่งที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งประสบความสำเร็จได้คือการทำงานหนัก พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายที่ชัดเจน และทำให้สุดทาง โอกาสจะเข้ามาเคาะประตูและเราจะต้องคว้ามันมาไว้กับตัวให้ได้

#3: เชื่อในสัญชาตญาณ

เรื่องบางเรื่องก็เกิดขึ้นโดยเราคาดการณ์ไม่ถึง อย่างลูกค้าคนแรก ๆ ของเครื่องดูดฝุ่นของเขานั้นมากจากกลุ่มลูกค้าทางไปรษณีย์ ซึ่งเขาก็บอกว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจเพราะไม่ใช่กลุ่มลูกค้าที่เขาวางเอาไว้

“ร้านที่ขายของทางไปรษณีย์เป็นลูกค้ากลุ่มแรก ๆ ของเรา พวกเขาไม่ใช่ร้านขายของที่ดูมีรสนิยมสูงนัก ที่จริงแล้วตรงกันข้ามด้วยซ้ำ มันเลยน่าสนใจมาก สิ่งที่ผมค้นพบก็คือว่ายิ่งคุณรวยเท่าไหร่ ยิ่งทำให้คุณสนใจเกี่ยวกับเครื่องดูดฝุ่นน้อยเท่านั้น ยิ่งจน ยิ่งทำให้เครื่องดูดฝุ่นสำคัญกับคุณ”

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยคือความเชื่อว่าสินค้าของเขานั้นเป็นสินค้าที่ดี ใครก็ตามที่ได้ลองใช้จะชอบ มีคำกล่าวหนึ่งของ เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford – ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ Ford) ที่เหมาะกับสถานการณ์นี้ “ถ้าผมถามลูกค้าว่าต้องการอะไร พวกเขาก็คงบอกว่าขอม้าที่เร็วขึ้น”

ลูกค้าบอกปัญหาของเขาได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะบอกทางแก้ที่ดีให้กับเราได้ วิธีของเซอร์เจมส์ ไดสัน อาจจะไม่เหมาะกับทุกคน เพราะมันเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่บทเรียนสำคัญก็คือว่าคุณต้องเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเองด้วย ต้องเชื่อในสิ่งที่ตัวเองขาย ต้องเห็นถึงประโยชน์ของมันที่จะช่วยคนอื่น ๆ ได้ เพราะการจะเริ่มอะไรสักอย่างหนึ่งนั้นต้องอาศัยทั้งความกล้าและศรัทธาในไอเดียเหล่านั้น เซอร์เจมส์ ไดสัน บอกว่า “…คุณจะต้องเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง คุณไม่สามารถจะให้คนอื่นมาช่วยคุณได้ในเรื่องนี้ คุณจะต้องเสี่ยง บางครั้งมันก็จะโอเค บางทีมันก็จะไม่ ชีวิตก็เป็นแบบนั้น”

การเติบโตของบริษัท Dyson นั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ในปี 2010 ทำรายได้ประมาณ 890 ล้านปอนด์ แต่เพียง 9 ปีต่อมาใน 2019 ทำได้ถึง 5,400 ล้านปอนด์เลยทีเดียว แน่นอนว่าเหมือนอย่างที่เรารู้กันว่าก่อนจะมาถึงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีบางโปรเจกต์อย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องสูญเงินไปกว่า 500 ล้านปอนด์ แต่ช่วงที่ผ่านมายอดขายก็ยังเพิ่มขึ้นแม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

เซอร์เจมส์ ไดสัน ยังคงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสินค้าใหม่ ๆ เครื่องดูดฝุ่นรุ่นใหม่ ๆ ก็ทยอยออกมาสู่ท้องตลาด บริษัทของเขาถูกเรียกว่าเป็น Apple of Appliances ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นบทเรียนสามอย่างที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้ก็คือว่าความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นทีละน้อย อย่าล้มเลิกเร็วจนเกินไป และต้องเชื่อในสัญชาตญานของตัวเองด้วย

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส