ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา เงินเยนกลับมาอ่อนค่าหนักอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 เงินเยนเทียบเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี อยู่ที่ 24.68 บาทต่อ 100 เยน และในตอนนี้ก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 25 บาทต่อ 100 เยน ทำให้ใครที่อยู่ญี่ปุ่นในตอนนี้ ถ้ากำเงินไป 100 บาท ไปซื้อของในร้าน 100 เยน ก็จะได้ของติดไม้ติดมือกลับมาหลายชิ้นเลยทีเดียว

ทางด้านนักวิเคราะห์เองก็มองว่า ในระยะ 1 เดือนข้างหน้านี้ เงินเยนยังมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากความผันผวนของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลอื่น ๆ เพราะตลาดเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยคาดว่าอาจมีการลดดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เงินเยนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนสูงสุดในภูมิภาคที่ระดับ 8.8% และรองลงมาคือเงินบาท ที่ระดับ 8.1%

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.00 – 5.25% พร้อมกับเปิดเผยการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งบ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.50 – 5.75% ภายในสิ้นปีนี้

ซึ่งมติของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีนิกเกอิของโตเกียว ในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการซื้อขายแบบไร้ทิศทางชัดเจน ขณะเดียวกัน เงินเยนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ยังคงอ่อนค่าลง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มส่งออกปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะดูมีความวุ่น ๆ แต่ถ้าคุณกำลังวางแผนเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงสิ้นปีนี้ ก็ถือเป็นจังหวะเหมาะที่จะแลกเงินเยนเก็บไว้ โดยอาจไปแลกที่เคาน์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคาร หรือถ้าเป็นสายเดินทางตัวยง ก็อาจเลือกแลกเงินกับร้านแลกเงินที่คุณคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นร้านสีส้ม เขียว หรือชมพู เพราะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าธนาคาร

และในช่วงที่เงินเยนอ่อนค่าลงมากนี้ ร้านแลกเงินก็มีปริมาณธุรกรรมแลกบาท – เยน เพิ่มขึ้นถึง 150 – 200 ล้านเยน เทียบกับช่วงเวลาปกติที่มีปริมาณธุรกรรมเพียง 30 – 50 ล้านเยนเท่านั้น โดยจำนวนเงินที่แลกเฉลี่ยต่อรายอยู่ 100,000 เยน หรือประมาณ 25,000 บาท ส่งผลให้ร้านแลกเงินบางร้าน ขอให้ลูกค้าจองคิวแลกเงินเยนมาล่วงหน้า เพื่อป้องกันการเดินทางมาเสียเที่ยว เนื่องจากเงินเยนมีไม่เพียงพอให้แลกนั่นเอง

ด้วยปัญหาดังกล่าว ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจการแลกเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น และอีกช่องทางหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น คือ Travel Card หรือบริการบัตรท่องเที่ยวของธนาคารต่าง ๆ เพราะใช้ง่าย สะดวก ปลอดภัย และสามารถแลกเงินสกุลต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ด้วยตัวคุณเองผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ

ซึ่ง Travel Card ก็เป็นบัตรเดบิตในลักษณะ e-Wallet ที่ผู้ใช้งานต้องเติมเงินเข้าไปก่อน แล้วค่อยแลกเป็นเงินต่างประเทศ ซึ่งมีหลายสกุลให้เลือก และเมื่อเดินทางไปต่างประเทศก็สามารถใช้บัตรรูดจ่ายค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งกดเงินจากตู้ ATM ในต่างประเทศได้ และที่สำคัญ คือ Travel Card มักจะไม่คิดค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อใช้งานในต่างประเทศ จึงแตกต่างกับบัตรเครดิตที่จะคิดค่าธรรมเนียม 2.5% ของวงเงินที่ใช้ 

ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของ Travel Card คือการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากการพกเงินสดติดตัวเป็นจำนวนมาก อาจทำให้คุณตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ

ขณะเดียวกัน การแลกเงินเก็บไว้ใน Travel Card ก็ช่วยทำให้คุณควบคุมการใช้จ่ายได้ ไม่ให้เผลอใจใช้จ่ายไปกับสิ่งน่าตื่นตาตื่นใจในต่างประเทศ ด้วยการจำกัดวงเงินการท่องเที่ยวไว้เท่าจำนวนเงินที่แลกไปตั้งแต่แรก หรือในทางกลับกัน หากเงินสดที่คุณแลกไปไม่พอใช้งาน ก็สามารถแลกเงินใน Travel Card เพิ่มเติม เพื่อใช้รูดจ่ายค่าสินค้าและบริการ หรือจะกดเป็นเงินสดออกมาใช้งานก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางคนที่ใช้ Travel Card เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของบัตร และอาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ ทำให้ธนาคารแต่ละแห่งได้กำหนดวงเงินสูงสุดในการใช้จ่ายผ่านบัตร และการถอนเงินที่ตู้ ATM ในต่างประเทศเอาไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการสมัคร Travel Card ควรศึกษารายละเอียดของบัตรแต่ละธนาคารให้ชัดเจน เพราะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งด้านค่าธรรมเนียม เงื่อนไขการใช้บัตร สกุลเงินต่างประเทศที่สามารถแลกได้ รวมถึงสิทธิประโยชน์และโปรโมชันต่าง ๆ

ที่มา : Exchange Rate History

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส