หากคุณเป็นสายช้อปก็อาจสังเกตเห็นข้อความในจดหมายแจ้งยอดบัตรเครดิตที่ระบุว่า “ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ธนาคารจะปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตจากเดิมอัตราขั้นต่ำ 5% เป็น 8% ของยอดเงินตามใบแจ้งยอดบัญชีฯ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย”

ถ้าจำกันได้ ช่วงก่อนโควิด-19 ธนาคารกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตไว้ที่ 10% แต่จากผลกระทบของโรคระบาดที่บั่นทอนกำลังซื้อ กำลังจ่าย และกำลังในการชำระหนี้คืนของผู้ใช้บัตรเครดิตให้อ่อนแอลง ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงผ่อนผันเกณฑ์ชำระขั้นต่ำลงมาเหลือ 5% ตั้งแต่ปี 2565

เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ธปท. จึงค่อย ๆ ปรับเพิ่มอัตราการจ่ายขั้นต่ำขึ้นมาแบบขั้นบันได เพื่อให้ผู้ใช้บัตรเครดิตมีเวลาปรับตัว โดยจะปรับเพิ่มยอดจ่ายขั้นต่ำขึ้นมาเป็น 8% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และจะกลับไปสู่อัตราปกติที่ 10% ในปี 2568

ดังนั้น นักช้อปที่เคยชิลล์กับยอดจ่ายขั้นต่ำที่ 5% มาเกือบ 2 ปี อาจต้องกลับมาวางแผนการใช้บัตรเครดิตกันใหม่ เพื่อจัดการรายจ่ายที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้าให้สอดคล้องกับรายรับ บทความนี้ beartaiBRIEF มีเคล็ดลับดี ๆ มาฝาก ที่จะช่วยให้สายเปย์บริหารการเงินได้อย่างไม่สะดุดด้วย 3 แนวทาง ดังนี้

1. จัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย : สิ่งนี้คือหลักการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเบื้องต้น แต่มีประสิทธิภาพขั้นสูง ที่จะไม่ทำให้เราหลงลืมวินัยทางการเงิน ไม่เผลอใช้จ่ายเกินตัว ทำให้เราฉุกคิดก่อนจ่ายว่าจำเป็นหรือไม่ และที่สำคัญเมื่อรูดบัตรเครดิต ซึ่งเป็นเงินในอนาคตไปแล้ว เรามีความสามารถในการชำระหนี้เพียงพอหรือไม่  

2. ใช้จ่ายลดลง : เมื่ออัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% หมายความว่า ภาระหนี้ต่อรอบบิลของคุณจะเพิ่มขึ้น หากคุณไม่ต้องการมีหนี้เพิ่มจากดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น คุณก็ต้องรูดบัตรให้น้อยลง ซึ่งอาจหมายรวมถึงทั้งยอดการใช้จ่ายและจำนวนบัตรเครดิตที่ถืออยู่ การลดจำนวนบัตรเครดิตที่มีอยู่ลง อาจเป็นวิธีหักดิบที่ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายโดยอัตโนมัติ

3. เพิ่มรายได้ : หากคุณไม่อยากเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเมื่อกฎเกณฑ์ของทางการเปลี่ยนแปลงไป การเพิ่มรายได้จึงเป็นทางออกเพื่อให้คุณสามารถมีไลฟ์สไตล์ในแบบเดิมได้ต่อไป แต่ที่สำคัญต้องมั่นใจว่าความสามารถในการชำระหนี้ยังคงมีอยู่เหมือนเดินเช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่ควรรู้คือ การผ่อนจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจะยืดระยะเวลาการเป็นหนี้ของคุณให้นานขึ้น และจะทำให้ยอดหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากจากดอกเบี้ยจ่ายที่พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละรอบบิล เพราะการจ่ายขั้นต่ำจะถูกคิดดอกเบี้ย 2 ยอด โดยยอดที่ 1 จะถูกคิดจากยอดรูดบัตรนับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ครบกำหนดชำระ และยอดที่ 2 คือ การคิดดอกเบี้ยจากยอดคงเหลือหลังการจ่ายขั้นต่ำตั้งแต่วันที่เราจ่ายขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดบัญชีในเดือนถัดไป

นอกจากนี้ การจ่ายขั้นต่ำจะไม่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย ซึ่งตามปกติธนาคารจะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยให้ผู้ถือบัตร ตั้งแต่วันแรกที่ใช้จ่ายจนถึงวันที่ครบกำหนดชำระเงิน หากคุณจ่ายเต็มจำนวนจะได้ประโยชน์จากระยะเวลาช่วงนี้ ถือเป็นการใช้เครดิตแทนเงินสด ช่วยเพิ่มสภาพคล่องโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่หากเลือกวิธีจ่ายขั้นต่ำ สิทธิ์ในการใช้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยก็จะหมดลงทันที

การเลือกจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่ออัตราผ่อนจ่ายขั้นต่ำกำลังจะเพิ่มขึ้น คุณอาจต้องเจอกับสถานการณ์ชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่ถ้าคุณวางแผนการใช้จ่ายบัตรเครดิตใหม่เสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่เกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ บัตรรูดปรื๊ดก็จะเป็นประโยชน์ ช่วยให้คุณบริหารสภาพคล่องได้ไหลลื่นมากขึ้น

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส