การเริ่มต้นศักราชใหม่ในแต่ละปี หลายคนมักตั้งเป้าหมายในชีวิตที่เรียกว่า ‘New Year’s Resolution’ และการวางแผนทางการเงิน ก็ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำหรับหลาย ๆ คน ซึ่งแผนการเงินที่มีประสิทธิภาพควรจะครอบคลุมใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การใช้จ่าย การเก็บออม และการลงทุน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารเงินไม่ให้ตึงเครียดจนเกินไป และทำให้เรามีความสุขกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มความมั่นคงทางการเงินและเสริมความมั่งคั่งในอนาคต

ปัจจุบัน การเริ่มต้นศักราชใหม่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว New Year’s Resolution ด้านการเงินของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มดำเนินการแล้วหรือยัง มีใครบ้างที่ล้มเลิกเป้าหมายนี้ไปแล้ว เพราะรู้สึกว่าทำได้ยากเหลือเกินและไม่มีความสุขเลย บทความนี้ beartai จะมาแบ่งปันเคล็ดลับการวางแผนทางการเงิน เพื่อตอบสนองทั้งความสุขและความสำเร็จในการบริหารการเงินส่วนบุคคลตามหลักการ SMART

  • S = Specific หมายถึง การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ มีความเฉพาะเจาะจงว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร
  • M = Measurable หมายถึง การกำหนดเป้าหมายที่สามารถวัดผลเป็นตัวเลขหรือตัวเงินได้ชัดเจน เพื่อให้รู้ถึงความก้าวหน้าว่า ตอนนี้ใกล้ถึงเป้าหมายมากน้อยแค่ไหนแล้ว
  • A = Achievable หมายถึง การกำหนดเป้าหมายที่สามารถทำสำเร็จได้ โดยรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย
  • R = Realistic หมายถึง การกำหนดเป้าหมายที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง
  • T = Time Bound หมายถึง การกำหนดเป้าหมายที่มีกรอบเวลาที่แน่ชัดว่า จะเริ่มเมื่อไรและต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยอาจแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ทั้งนี้ เพื่อให้การวางแผนทางการเงินตามหลักการ SMART เห็นภาพและมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เราอาจเริ่มต้นที่การใช้ Time Bound หรือการใช้กรอบเวลาเป็นตัวกำหนดก่อน เพื่อเป็นแนวทางให้เดินไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น เช่น

  • เป้าหมายระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) จะเก็บเงินผ่านบัญชี e-Saving ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ธรรมดา ให้ได้ 40,000 บาท เพื่อซื้อมือถือใหม่
  • เป้าหมายระยะกลาง (1-3 ปี) ออมเงินและลงทุนผ่านแอปพลิเคชันบริหารเงินด้วยการหักบัญชีเงินเดือน ให้ได้ 300,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ Work and Travel ที่สหรัฐอเมริกา 
  • เป้าหมายระยะยาว (มากกว่า 3 ปี) ลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยวิธีเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar Cost Averaging (DCA) เดือนละ 5,000 บาท เป้าหมายขยายพอร์ตลงทุนให้ถึง 500,000 บาท สำหรับเงินดาวน์คอนโดมิเนียม

นอกจากนี้ ‘ออมก่อนรวยกว่า’ ยังเป็นอีกหนึ่งทฤษฎีในการวางแผนทางการเงินที่จะนำเราไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น และถือเป็นสูตรสำเร็จสำหรับการออมเพื่อวัยเกษียณ ยกตัวอย่าง หากเราต้องการมีเงินก้อนตอนอายุ 60 ปี ประมาณ 1.5 ล้านบาท แล้วเริ่มออมตั้งแต่เริ่มทำงานตอนอายุ 25 ปี โดยเก็บเงินทุกเดือน (สมมติว่าได้รับผลตอบแทน 3% ต่อปี) เราจะเก็บเงินประมาณเดือนละ 2,000 บาท แต่หากเราเพิ่งมาเริ่มต้นออมเงินตอนอายุ 45 ปี เราจะต้องออมเงินถึงเดือนละประมาณ 6,500 บาท ถึงจะได้เงินเก็บในจำนวนใกล้เคียงกันเมื่อเกษียณอายุ

ทั้งนี้ เพื่อให้ New Year’s Resolution ด้านการเงินของแต่ละคนประสบความสำเร็จ เราจึงต้องวางแผนทางการเงินที่ตอบสนองทั้งความสุขและความสำเร็จในการบริหารการเงินส่วนบุคคล ดังนั้น การใช้จ่ายจึงควรทำควบคู่ไปกับการเก็บออมและลงทุน เพื่อช่วยให้เราบริหารรายรับ – รายจ่ายในแต่ละเดือนได้อย่างราบรื่น เป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว และจะช่วยให้เราเป็นอิสระทางการเงินได้เร็วขึ้น ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส