วันที่ 10 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบาย โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า รัฐบาลได้กำหนดรายละเอียดแนวทางในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต เอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีเงื่อนไขสำคัญ ดังนี้

เกณฑ์ผู้รับสิทธิ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าว โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยกำหนด กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่

  • อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน
  • ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี (เงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท)
  • มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น

เงื่อนไขการใช้จ่าย ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

  1. กลุ่มแรก ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
  2. กลุ่มที่สอง ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอ และขนาดของร้านค้าการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ
  3. การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบแรกจะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้นก่อน (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
  4. ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ easy e-receipt สามาถเข้าร่วมได้ เพราะเป็นคนละโครงการกัน

ประเภทสินค้า

  • สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้
  • ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม 

ได้รับเงินผ่านช่องทางใด

ซูเปอร์แอปฯ ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นเอง และใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ได้ ไม่ใช่แอปเป๋าตังเดิม

เกณฑ์ร้านค้าที่เข้าร่วม

เป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีต่าง ๆ อาทิ

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย

โดยที่ทางร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

แหล่งที่มาจากเงินงบประมาณปี 67-68

แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. งบประมาณปี 2567 การบริหารจัดการ จำนวน 175,000 ล้านบาท
  2. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
  3. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จากโครงการจากหน่วยงานของรัฐ(ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท

ช่วงเวลาของโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และประชาชนจะได้รับดิจิทัลวอลเล็ต เริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567


อย่างไรก็ตาม การป้องกันการทุจริตของโครงการฯ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง