กระทรวงการคลังมีแผนขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไปยังผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อจัดการปัญหาธุรกิจนอกระบบที่มักรายงานรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง และเพิ่มรายได้เข้ารัฐบาล
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาทำธุรกิจส่วนตัว และเลือกวิธีเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทำให้ไม่เข้าข่ายเก็บ VAT และยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนแบบเหมาจ่ายได้สูง
ภายใต้ข้อเสนอใหม่นี้ กระทรวงการคลังอาจกำหนดให้ธุรกิจที่มีรายได้น้อยกว่า 1.8 ล้านบาท เข้าระบบ VAT แบบพิเศษ โดยเรียกเก็บในอัตราต่ำ เช่น 1% ของรายได้ต่อปี ซึ่งจะคล้ายกับโมเดลภาษีของหลายประเทศในยุโรป หากดำเนินการสำเร็จ คาดว่าจะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 200,000 ล้านบาทต่อปี
ตัวอย่างเช่น รายได้ 1.5 ล้านบาท สามารถหักค่าใช้จ่าย 60% เหลือฐานภาษีเพียง 600,000 บาท ซึ่งจะเสียภาษีเพียงหลักหมื่นบาทเท่านั้นต่อปี
โดยแนวทางใหม่นี้อาจส่งผลให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกหลายแสนล้านบาทต่อปี และช่วยลดภาระการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.4% ของ GDP ให้ลดลงเหลือเพียง 3.5%
นายพิชัยเสริมว่า การเพิ่มรายได้รัฐในทางภาษีถือเป็นทางเลือกที่จำเป็น เพราะการลดรายจ่ายของภาครัฐทำได้ยาก โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการที่มีมากถึงเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งรัฐไม่สามารถปรับลดลงได้ง่ายนัก
ปัจจุบัน การจัดเก็บรายได้จากภาษีของไทยอยู่ที่เพียง 15.5% ของ GDP เท่านั้น ขณะที่ในอดีตเคยทำได้สูงถึง 17% การผลักดันให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ระบบภาษีจึงถือเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว ที่จะช่วยเพิ่มรายได้และลดการพึ่งพาการกู้เงินเพื่อใช้งบขาดดุล
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม SME โดยเฉพาะรายย่อย อาจต้องเผชิญภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นทันทีจากการเสีย VAT แม้ในอัตราต่ำเพียง 1% ซึ่งอาจกระทบกระแสเงินสด และหากยังไม่มีระบบบัญชีที่ดี อาจต้องลงทุนเพิ่มในเรื่องการจ้างนักบัญชีหรือระบบจัดเก็บเอกสาร
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการถูกตรวจสอบย้อนหลัง และทำให้บางรายที่เพิ่งเริ่มต้นรู้สึกว่าระบบภาษีใหม่เป็นภาระจนตัดสินใจไม่ทำธุรกิจต่อ