วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ซึ่งจะถูกปลดออกจากระบบไฟฟ้าในปี 2565 และปี 2568 โดยมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ พร้อมระบบส่งไฟฟ้า โดยโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดความมั่นคงในการผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือ

ครม. อนุมัติงบประมาณ 47,470 ล้านบาท ให้ กฟผ. ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นางสาวรัชดากล่าวว่า ครม. อนุมัติวงเงินโครงการรวม 47,470 ล้านบาท โดยให้ใช้งบประมาณจากแหล่งรายได้ของ กฟผ. เป็นอันดับแรก หากจำเป็นต้องใช้เงินกู้ กระทรวงการคลังจะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม โดยกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกัน

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 145 ไร่ ซึ่งอยู่ในขอบเขตพื้นที่ของ กฟผ. ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2593  มีระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 48 เดือน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2569 และมีประสิทธิภาพเฉลี่ยตลอดอายุการเดินเครื่อง 25 ปี

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า โครงการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2070 ของรัฐบาล เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่น เครื่องผลิตไอน้ำแรงดันเหนือวิกฤต (Ultra – Supercritical) สามารถผลิตไอน้ำได้ดีขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้มากขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินลดลงและมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตั้งระบบควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าให้อยู่ในค่ามาตรฐาน ได้แก่ ระบบดักจับฝุ่นและขี้เถ้าลอย (TSP) ระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX)

ครม. อนุมัติงบประมาณ 47,470 ล้านบาท ให้ กฟผ. ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
เหมืองแม่เมาะเป็นเหมืองแร่ลิกไนต์ขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิต 16 ล้านตันต่อปี
เพื่อส่งให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าในการลงทุน และให้ผลตอบแทนการลงทุนในอัตราที่เหมาะสมในราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยที่ไม่สูงกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน คือ อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (IRR) 5.876% มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิ (NPV) 119 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 6.99% มูลค่าปัจจุบัน 5,928 ล้านบาท และมีระยะเวลาคืนทุน 16 ปี

ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย