วันที่ 2 สิงหาคม 2566 นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค แถลงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่า ในวันนี้ (2 ส.ค. 66) เวลา 09.30 น. คณะเจรจาพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้มีการหารือกับพรรคก้าวไกลเรื่องทิศทางการจัดตั้งรัฐบาล

โดยพรรคเพื่อไทยขอให้พรรคก้าวไกลยอมถอยเรื่องนโยบายแก้ไขมาตรา 112 เนื่องจากเป็นเงื่อนไขสำคัญในการขอเสียงสนับสนุนจาก สว. และ สส. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งพรรคก้าวไกลขอปฏิเสธ ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องสลายขั้ว 8 พรรคการเมืองที่ลงนามใน MOU และเดินหน้าจับขั้วใหม่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเอง โดยไม่มีพรรคก้าวไกล และพรรคอื่น ๆ ที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112

นพ.ชลน่าน ชี้แจงว่า ตามที่ที่ประชุม 8 พรรคร่วมได้ส่งมอบภารกิจแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้แก่พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทยหาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และ สว. ได้นั้น ทางพรรคเพื่อไทยจึงได้เชิญ สว. และ สส. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความเห็น ณ ที่ทำการของพรรค รวมถึงการส่งตัวแทนรับฟังความเห็นจาก สว. ทั้งกลุ่มและรายบุคคล

พรรคเพื่อไทยพบว่า นโยบายแก้ไขมาตรา 112 ยังเป็นเงื่อนไขหลักที่ สว. และ สส. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ จะไม่สนับสนุนให้แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล หรือพรรคร่วมใด ๆ ที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลทุกกรณี

จากสถานการณ์ดังกล่าว พรรคเพื่อไทยได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกล เพื่อขอถอนตัวจากการร่วมมือ และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ พร้อมเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

นพ.ชลน่าน กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคเพื่อไทยขอยืนยันชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม พร้อมยืนยันทำงานการเมืองมิติใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในภารกิจดังนี้

1. ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นต้นเหตุความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล และก่อให้เกิดวิกฤติต่าง ๆ ของประเทศ โดยจะกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เริ่มจากมติ ครม. ในการประชุมครั้งแรกให้มีการทำประชามติ และจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญใหม่

2. นโยบายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมได้นำเสนอต่อประชาชน โดยมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม, กฎหมายสุราก้าวหน้า, การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม, เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ, การผลักดันการกระจายอำนาจทั้งแง่ภารกิจและงบประมาณ, ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เป็นต้น

ที่มา : พรรคเพื่อไทย