จากกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดเรื่องนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN SDGs ส่งผลให้แหล่งเงินทุนที่สามารถนำมาใช้ดำเนินโครงการภายใต้นโยบายดังกล่าว ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

ล่าสุด นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังหารือถึงแนวทางการออกพันธบัตรสีเขียว หรือ Green Bond ร่วมกับ เซอร์โรเบิร์ต สเธแมน (Sir Robert Stheeman) ซีอีโอของ UK Debt Management Office ว่า การหารือครั้งนี้ ได้เรียนรู้รูปแบบโครงการที่ดำเนินงานได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสหราชอาณาจักร ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลไทยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เช่น โครงการสนับสนุนผู้ขับขี่ในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า, โครงการร่วมทุนกับภาคเอกชนในการติดตั้งสถานีชาร์จรถรถยนต์ไฟฟ้า, โครงการร่วมทุนในการผลิตพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน รวมถึงโครงการสนับสนุนการปลูกไม้มีค่าบนที่ดินเพื่อทำการเกษตร เป็นต้น

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย
นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย (ซ้าย) และ เซอร์โรเบิร์ต สเธแมน ซีอีโอของ UK Debt Management Office

ทั้งนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ โดยมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม และจะใช้การเงินสีเขียวหรือ Green Financing เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน โดยระดมทุนผ่านทางการออกพันธบัตรสีเขียว (Green Gilts) และพันธบัตรออมเงินสีเขียวสำหรับรายย่อย (Retail Green Savings Bonds) เพื่อใช้ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายอื่น ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงใช้สำหรับการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Jobs) การพิจารณา การคัดเลือก การตรวจสอบ และการรายงานโครงการสีเขียวที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนด้านการเงินดังกล่าว

ผู้แทนการค้าไทยยังเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบัน รัฐบาลโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะผู้ระดมทุนสำหรับภาครัฐ อยู่ระหว่างการศึกษาการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability–Linked Bond) ซึ่งเป็นพันธบัตรที่มีรูปแบบการกำหนด KPI เพื่อบรรลุเป้าหมายด้าน ESG แทนการระบุโครงการที่ออกภายใต้พันธบัตร เพื่อสนับสนุนให้ตลาด ESG Bond มีการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาพัฒน์ฯ เพื่อคัดเลือกวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตลอดจน KPI ที่เหมาะสมสำหรับการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ของสังคมของไทยต่อไป

สำหรับประเทศไทยตั้งเป้าหมายเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ หรือ Nationally Determined Contribution (NDC) ให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 30% ภายในปี 2573

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส