จากการสำรวจของบีบีซี เอิร์ธ (BBC Earth) พบว่าเสื้อยืด 3 ใน 5 ตัวที่ถูกซื้อไปในปัจจุบันจะถูกนำไปทิ้งในถังขยะหลังจากผ่านไปหนึ่งปี สาเหตุเป็นเพราะอุตสาหกรรมแฟชันส่วนใหญ่นั้นเป็นระบบที่เรียกกันว่า Fast Fashion ซึ่งนั่นคือการสร้างผลิตภัณฑ์ใด ๆ ขึ้นมาตามยุคตามสมัย แต่กลับถูกใช้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ก่อนที่จะถูกโยนทิ้งไปในเวลาไม่นาน

โดยมีน้อยกว่า 1% ของวัสดุที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าเท่านั้นที่จะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้เสื้อผ้าหนึ่งชิ้นจึงจะถูกกำจัดทิ้งในหลุมฝังกลบในทุก ๆ วินาที ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการสูญเสียวัสดุประจำปีถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3.1 ล้านล้านบาท รวมทั้งยังส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วงด้วย

ดังนั้น ทางทีมิล (Teemill) บริษัทผู้ผลิตเสื้อยืดรายใหญ่ในสหราชอาณาจักร จึงคิดวิธีในการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการคิดกระบวนการผลิตแบบแฟชันหมุนเวียนขึ้นมา ที่จะสามารถเปลี่ยนเสื้อยืดตัวเก่าให้กลายเป็นเสื้อตัวใหม่อีกครั้ง ทั้งยังสามารถสร้างระบบหมุนเวียนธรรมชาติขึ้นมาใหม่ได้ด้วย

จากข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่จำเป็นจะต้องใช้ผ้าฝ้าย (cotton) ในการผลิต มักส่งผลเสียอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ทางทีมิลจะเริ่มต้นด้วยการปลูกฝ้ายโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เก็บเกี่ยวน้ำจากน้ำฝนและป้องกันแมลงโดยใช้ที่ดักจับแทนการใช้สารเคมี กระบวนการนี้ก่อให้เกิดผลพลอยได้ อย่างเช่น เมล็ดพืชที่ใช้ทำเป็นอย่างอื่นได้ต่ออย่างการใช้ในการทำน้ำมันพืชและเป็นอาหารสำหรับวัว ซึ่งสิ่งนี้จะสร้างคุณค่าพิเศษและคืนสารอาหารสู่ระบบธรรมชาติได้

ซึ่งเสื้อผ้าเก่าที่ใช้จนย้วยแล้ว จะถูกนำกลับมาที่นี่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ที่จะนำเสื้อผ้าเก่าไปปั่นให้กลายเป็นเส้นด้ายและเข้าสู่กระบวนการในการทำเสื้อยืดชิ้นใหม่ ๆ ต่อไป โดยทางทีมิลได้จับมือกับแบรนด์หลายแบรนด์ เพื่อร่วมผลิตเสื้อยืดแบบเรียลไทม์ โดยเลือกพิมพ์ลายได้ตามต้องการเลย แถมสีที่ใช้ในการพิมพ์ลายยังเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ซึ่งทางทีมิลเชื่ออย่างหนักแน่นว่ากระบวนการคิดของพวกเขาจะสามารถช่วยโลกใบนี้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อีกทั้งผู้บริโภคทุกคนยังสามารถมีส่วนร่วมและสร้างอนาคตของแฟชันในรูปแบบใหม่นี้ได้เช่นกัน

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส