คุณเคยรู้หรือไหมว่า หนึ่งในอาหารกระป๋องที่ขึ้นชื่อของประเทศเกาหลี อย่าง ‘สแปม’ (SPAM ย่อมาจาก Spiced Ham) หรือ แฮมกระป๋อง ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเกาหลี แถมยังเป็นอาหารที่มีน้ำตาแห่งความเศร้าแฝงอยู่ในความอร่อยอีกด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1937 ในช่วงที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องต่อสู่กับพิษเศรษฐกิจตกต่ำ ‘เจย์ แคเธอร์วูด ฮอร์เมล’ (Jay Catherwood Hormel) ลูกชายของผู้ก่อตั้ง Hormel Foods Corporation บริษัทอาหารแปรรูปยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เล็งเห็นช่องทางทำเงินมหาศาลจากวิกฤตครั้งนั้น โดยการนำเนื้อหมูตรงส่วนไหล่และขาหลังซึ่งเป็นส่วนที่มีเนื้อน้อยและไม่นิยมนำมาทำอาหาร มาปรุงรสด้วยเครื่องเทศ และขายในราคาที่สบายกระเป๋า

เดิมทีเป้าหมายของการโปรโมท SPAM ที่สร้างขึ้นในช่วงแรกคือกลุ่มแม่บ้านที่ต้องการอาหารที่มีราคาถูก รวดเร็ว และพร้อมรับประทานทันที แต่กลุ่มแม่บ้านบางคนลังเลที่จะกินอาหารที่ไม่ได้ผ่านการแช่แข็งและปรุงสุก

ตรงกันข้ามกับกองทัพสหรัฐฯ เพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางกองทัพขาดแคลนแหล่งโปรตีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ SPAM กลายเป็นอาหารที่มีคุณค่าและเป็นแหล่งโปรตีนหลัก และนอกจากนี้ Hormel ยังส่ง SPAM ให้เหล่ากองทัพที่เดินทางออกไปสู้รบต่างแดนมากกว่า 100 ล้านกระป๋องทีเดียว

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง เศรษฐกิจในหลายประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่นเดียวกับ Hormel พวกเขาจึงจ้างนักร้องเพื่อโปรโมท SPAM และเปิดรายการวิทยุ Music With the Hormel Girls ขึ้น เพื่อรักษายอดขายของ SPAM เอาไว้ จนในปี 1959 Hormel ก็ทำยอดขาย SPAM ทะลุ 1 พันล้านกระป๋องและยังคงทำยอดขายสูงขึ้นเรื่อย ๆ  

ในปี 1970 SPAM ถูกนำมาเข้าฉากในหนังเรื่อง ‘Monty Python’s Flying Circus’ จนทำให้ SPAM กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก จากซีนธรรมดาแค่ซีนเดียวก็สามารถทำให้คนนึกถึงได้ ถือเป็นการตีตลาดได้อย่างดีและประสบผลสำเร็จ

หนังเรื่อง Monty Python’s Flying Circus

จากที่เล่ามาทั้งหมด หลายคนก็คงจะงงว่า เอ๊ะ! SPAM กลายมาเป็นอาหารกระป๋องยอดฮิตของชาวเกาหลีได้ยังไง

จริง ๆ แล้ว SPAM ได้เข้ามาในประเทศเกาหลีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือก็คือ ช่วงสงครามเย็น และสงครามเกาหลีซึ่งเป็นหนึ่งในสงครามตัวแทนจากสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ทำให้ประเทศเกาหลีเกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ แต่ในความมืดนั้นก็มีแสงสว่างอยู่ เพราะทหารสหรัฐฯ ก็ได้เข้าสู้รบในสงครามนั้นด้วย ซึ่งพวกเขาก็พก SPAM ไปเป็นเสบียงเหมือนเดิม และมอบให้กับชาวเกาหลีเพื่อนำมาประกอบอาหาร ทำให้ชาวเกาหลีที่ต้องหาอาหารประทังชีวิตในช่วงสงครามและหลังสงครามมีชีวิตรอดต่อไป

ภายหลังสงครามเกาหลี ชาวเกาหลีเริ่มกลับมาขาดแคลนอาหารอีกครั้ง แต่ด้วยสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องเอาชีวิตรอดต่อไป จึงหาอาหารที่พอหาได้จนเกิดเมนู ‘บูแดจีแก’ (부대찌개) หรือที่แปลว่า สตูว์กองทัพ ซึ่งเป็นซุปเกาหลีที่ปรุงขึ้นจากอาหารเหลือในกองทัพสหรัฐฯ หลังจบสงครามเกาหลี และ SPAM ก็เป็นหนึ่งในอาหารที่สหรัฐฯ เหลือทิ้งไว้

ซีรีส์เรื่อง Let’s Eat season 1

เมื่อ SPAM กลายมาเป็นอาหารช่วยชีวิตของเกาหลี ทำให้ในปี 1987 CJ Cheil Jedang บริษัทอาหารแปรรูปยักษ์ใหญ่ของเกาหลี ได้พลิกวิกฤตนำของไร้ค่าทำให้เป็นของมีค่าของชาวเกาหลี จึงเข้าพบและปรึกษากับ Hormel เพื่อศึกษาวิธีการทำ SPAM ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ของเกาหลีเองและถูกปากชาวเกาหลี เพราะ SPAM ของสหรัฐฯ มีรสชาติที่เค็มจนไตวายเลยทีเดียว

20 ปีหลังเปิดตัว SPAM เกาหลี ในปี 2006 SPAM เกาหลีก็ทำยอดขายทะลุ 100 พันล้านต่อปี และยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนในปี 2016 ทำยอดขายสูงถึง 300,000 ล้านวอน ทำให้ประเทศเกาหลีเป็นประเทศอันดับ 2 ที่มีผู้บริโภค SPAM รองจากสหรัฐฯ

ซีรีส์เรื่อง Reply 1988

SPAM ถือเป็นอาหารกระป๋องที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู หรืออาจเรียกว่าเป็นอาหารที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของชาวเกาหลีก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหน หรือจะดูซีรีส์เรื่องใด ก็จะเห็น SPAM อยู่บ่อยครั้ง อย่าง ‘Let’s Eat’ ซีรีส์สายกินที่จะพาคุณไปดูร้านอาหารต่าง ๆ ทั่วเกาหลี ก็มีร้านบูแดจีแก ที่นำ SPAM มาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นสูตรต้นตำรับดั้งเดิมของชาวเกาหลี หรือจะเป็นช่องของเชฟชื่อดังอย่าง ‘แพคจงวอน’ (Baek Jong-won) ที่นำ SPAM มาทำเป็นเมนูง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำตามได้ หรือใครสายขี้เกียจก็สามารถกินสด ๆ จากกระป๋องเลยก็ยังได้เหมือนคิมจองบง ในเรื่อง ‘Reply 1988’

YouTube ช่อง 백종원의 요리비책 Paik’s Cuisine

SPAM ของขวัญแห่งความเศร้าสู่ความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง จนหลายคนก็ยังสงสัยว่าทำไม SPAM เกาหลีถึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่าขนาดนั้น แต่พอได้ลองชิมก็เข้าใจแล้วว่ามันอร่อยจริง ๆ ตอนนี้ SPAM เกาหลีก็มีหลายรสชาติให้ลองชิมกันแล้วและประเทศไทยก็เริ่มนำเข้า SPAM มาขายให้ทุกคนได้ลองกินแล้วเช่นกัน

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส